Freedom of Speech จุดกำเนิดความคิดสร้างสรรค์

Share on facebook
Share on twitter

จุดเด่นของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร  เป็นทั้งนักคิดเร็วและลงมือทำ  แม้หลายครั้งจะมีเสียงสะท้อนจากเพื่อนร่วมงานถึงลักษณะการทำงานที่รวดเร็วเช่นนี้   แต่เสียงส่วนใหญ่ล้วนชื่นชม  เพราะสิ่งที่เขาคิดและทำนั้นล้วนเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ทั้งสิ้น 

หลายคนมองว่าเขาเป็นคนทะเยอทะยาน  ซึ่งในโลกของการทำธุรกิจหรือการบริหารงานเองนั้น ความทะเยอทะยานคือคุณสมบัติของการก้าวไปสู่จุดหมาย หากแต่ต้องทะเยอทะยานในระดับที่มีความเป็นไปได้และไม่กระทบกับใคร  ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาพร่ำสอนลูก ๆ ของเขาในการทำธุรกิจหรือแม้แต่ลูกน้องในบริษัทเอง 

นอกจากการส่งเสริมให้คนที่ทำงานด้วยทำงานด้วยความคิดตริตรองจากข้อมูล (Data) หลายด้าน  หรือแม้กระทั่งการทะเยอทะยานเพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายที่หวังไว้   ดร.ทักษิณ ยังสนับสนุนให้ทุกคนรอบตัวเขา กล้าคิด กล้าพูด และกล้าลงมือทำ  เพราะมันหมายถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่  ถ้าเปรียบเทียบก็คงจะเหมือนการ Crowdsourcing  ในยุคนี้   ซึ่งเป็นแนวคิดแบบรวบรวมสิ่งที่กระจายอยู่ทุกที่ให้มารวมเป็นจุดเดียว  ก่อนที่จะกลั่นกรองผ่านระบบต่าง ๆ แล้วนำไปใช้ประโยชน์  ซึ่ง Crowdsourcing ณ ที่นี้คือการรวบรวมความคิดเห็นหลาย ๆ ด้านมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่นั่นเอง

ดร.ทักษิณ เคยกล่าววไว้ว่า  แม้ Freedom of Speech  หรือ เสรีภาพในการพูด  เป็นสิทธิการเมืองในการสื่อสารความคิดผ่านการพูด  มีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกันกับเสรีภาพในการแสดงออก หรือ freedom of Expression ซึ่งคำว่า เสรีภาพในการแสดงออก อาจจะรวมไปถึงการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ในทุกช่องทาง  และยังรวมถึงสิทธิในการค้นคว้า  เข้าถึงหรือได้รับข้อมูล ความรู้สึกนึกคิด ความเห็นที่มีการสื่อสารและเผยแพร่  

สิทธิในเสรีภาพการพูดได้รับการยอมรับเป็นสิทธิมนุษยชนภายใต้ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และได้รับการยอมรับในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 แห่งกติกาฯ บัญญัติว่า

“ทุกคนจักมีสิทธิออกความเห็นโดยไม่ถูกแทรกแซง” และ “ทุกคนจักมีสิทธิในเสรีภาพการพูด สิทธินี้จักรวมไปถึงเสรีภาพในการแสวงหา ได้รับและส่งต่อข้อสนเทศและความคิดในทุกรูปแบบ โดยไม่คำนึงถึงขอบเขต ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียนหรือการพิมพ์ ในรูปของศิลปะ หรือผ่านสื่ออื่นใดที่เป็นทางเลือกของเขา”

แต่สำหรับ ดร.ทักษิณ  เขามองว่า Freedom of Speech   ไม่ได้จำกัดเฉพาะการพูดหรือแสดงออกในเรื่องของการเมืองเท่านั้น  Freedom of Speech  ยังเป็นวิธีการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์  เพราะยิ่งกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าให้ความเห็นอะไรต่าง ๆ มักจะมีไอเดีย มีความคิดจำนวนมาก  โดยในเบื้องต้นผู้รับฟังอาจยังไม่จำเป็นต้องเชื่อ  บางอย่างอาจนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อสังคม  ต่อเศรษฐกิจได้   เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจของความสำเร็จในเศรษฐกิจสมัยใหม่ 

“นักเรียนทั้งห้องมาถึงนั่งฟังครูก็สอนคนเดียว  50 คนไม่พูดสักคน  เราได้อะไรจากห้องนี้ไหม  อย่างนั้นอยู่บ้านเปิดตำราดีกว่า   มันไม่ได้อะไร  แต่ถ้าช่วยกันคิด  ช่วยกันมองมุมต่าง ๆ มันก็ได้เกิดไอเดียใหม่  อันนี้คือสิ่งเราต้องการ สังคมต้องการ”  

ดังนั้นในบรรยากาศที่ ดร.ทักษิณ เข้าไปเป็นครูพิเศษที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เมื่อปี 2546 ในโครงการสอนอย่างไรให้ถึงฝัน ซึ่งเป็นกิจกรรมในโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนในฝัน  ซึ่งเขาได้ตั้งโจทย์คณิตศาสตร์ วิชาที่เขาชื่นชอบ ทันทีที่ตั้งโจทย์แล้ว เขาได้ใช้เวลาในการสอน ผนวกเข้ากับการกระตุ้นให้นักเรียนตั้งคำถามในการซื้อขายผ้าไหม  ซึ่งทำให้บรรยากาศในการเรียนในวันนั้นเป็นไปด้วยความสนุกสนาน

Freedom of Speech ของ ดร.ทักษิณ  คือการส่งเสริมให้ทุกคนกล้าพูด กล้าแสดงออกและลงมือทำ  ดังนั้นในการจัดกิจกรรม สอนอย่างไรให้ไปถึงฝัน ในวันนั้น  เขาได้กล่าวกับครูที่ร่วมประชุมอยู่และรับชมการถ่ายทอดสดในวันนั้นว่า  ครูจะต้องกล้าที่จะเรียนรู้ไปกับเด็ก ค้นคว้าหาความรู้ร่วมกับเด็ก พลังความรู้ของครูและนักเรียนสำคัญกว่าสมองเดียว  ครูต้องไม่อายเด็ก  อย่าอายที่จะบอกว่าเรื่องนี้ครูไม่รู้ 

สิทธิเสรีภาพในการพูดหรือแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สมองทำงาน  เมื่อใดที่สมองยังคงมีความรู้สึก  ได้คิด ได้พูด และได้ทำในสิ่งที่อยากทำแล้ว นั่นหมายความว่าเรายังเป็น“มนุษย์”อยู่

Share on facebook
Share on twitter