นักการเมืองกล้าแตกต่าง ลงพื้นที่คลุกคลีประชาชน

Share on facebook
Share on twitter

       ช่วงก่อนปี 2540  ดร.ทักษิณ เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่นักข่าวสายเศรษฐกิจในตอนนั้นสนใจในตัวเขามาก เพราะเขาเป็นหนุ่มชาวเหนือ จบนอก รับราชการตำรวจ มาจับธุรกิจ จนทำให้บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ ประสบความสำเร็จ  ก่อนที่จะมีการก่อตั้งพรรค  ได้มีการก่อตั้งกองโฆษกของพรรคขึ้นมาก่อน  เพื่อระดมคนที่มีความรู้ความสามารถด้านการสื่อสาร  ทำหน้าที่ในการเตรียมข้อมูลและภาพนำไปให้สื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลาง และภูมิภาค  ในการเขียนข่าวและออกข่าว ซึ่งในช่วงนั้น สื่อที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือสื่อสิ่งพิมพ์ รองลงมาเป็นสื่อวิทยุและทีวี

เมื่อจดทะเบียนพรรคไทยรักไทยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 ก่อตั้งพรรคไทยรักไทยอย่างเป็นทางการ ต้องมีการจัดกิจกรรมพรรค,ประชาสัมพันธ์, เผยแพร่สร้างความเข้าใจในตัวนโยบายพรรค และทำให้ ดร.ทักษิณ  เป็นที่รับรู้ต่อประชาชนผ่านสื่อมวลชน คำบอกเล่าของหนึ่งในอดีตทีมงานกองโฆษก “ประทีป คงสิบ” เล่าว่า  ท่าทีของสื่อจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่มีต่อ ดร.ทักษิณ เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก   ทั้งที่พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ เพราะตัวนโยบายที่ดี ถูกคิดมาอย่างรอบคอบ แก้ปัญหาของคนในยุคนั้น และการทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนที่เป็นคนนำส่งสารไปถึงประชาชนยังทำได้ดีในเวลาเดียวกัน เมื่อ นโยบายถูกคิดมาจากทีมยุทธศาสตร์ของพรรคมาแล้ว บทบาทต่อไปที่ต้องทำให้นโยบายนั้นมาจากประชาชน ด้วยการฟังเสียงประชาชน คือการลงพื้นที่

“ช่วงทำนโยบาย  ทีมยุทธศาสตร์ กองโฆษกพรรคจะลงพื้นที่ไปด้วย   อย่างนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกร จะมีการเปิดวงเสวนาเล็ก ๆ กับชาวบ้านบนศาลาวัด  คุยกันเสร็จก็ลงไปคุยกันต่อที่กระท่อมปลายนา เดินตามคันนา ไปคุยกับชาวบ้าน ได้ข้อมูล ได้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง”

การลงพื้นที่ของพรรคไทยรักไทย  เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งเป็นการลงพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนก่อนการเลือกตั้งถึง 3 ปี   ซึ่ง 3 ปีนี้ทำให้ไทยรักไทย มีฐานข้อมูลปัญหาของชาวบ้านทั่วประเทศ และมีการจัดเป็นฐานข้อมูลที่เป็นระบบ

 “ผมชอบเดินตลาดสดตอนเช้าตรู่  ทุกครั้งที่ลงพื้นที่พบปะประชาชนแต่ละจังหวัด  ผมจะไปบอกทีมงานให้จัดตารางไปตลาด ไปทักทายประชาชน  ไปพูดคุยว่าเขามีปัญหาอะไร ขายดีไหม อยากให้มีนโยบายอะไรที่จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น”  

 2-3 ปี แรก ทีมงานของพรรคไทยรักไทย จะเก็บข้อมูลจากทุกพื้นที่  นำมาตกผลึกกับแกนนโยบายของพรรคที่ทีมยุทธศาสตร์พรรคฯได้จัดทำไว้   เป็นที่มาของนโยบายที่โดนใจประชาชนในช่วงนั้น อย่าง นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค  มาจากเรื่องเล็ก ๆ และความช่างสังเกตของ ดร.ทักษิณ ที่ได้จากการลงพื้นที่ จ.พะเยา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอเล็ก ๆ เมื่อก่อนการรักษาพยาบาล  ประชาชนจะใช้บัตรอนาถา แต่การลงพื้นที่วันนั้น เขาได้พบกับคิวคนไข้ที่รอพบหมอแต่เช้า เอารองเท้าเรียงกันเป็นแถวยาว ซึ่งปัญหาที่ตอกย้ำว่า การรักษาพยาบาลเป็นภาระค่าใช้จ่ายยามยากจน  

“บางคนต้องขายวัวขายควายมาหาหมอ  ตอนนั้นเป็นอย่างนั้น ยังต้องมาเข้าคิวยาว  ผมอยากจะแก้ปัญหาตรงนี้”  

การลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาพร้อมกับการสังเกตุเรื่องเล็กๆน้อยๆ ของเขา นำมาซึ่งนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาประชาชน สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2544 ด้วยคะแนนเสียงการตอบรับอย่างท่วมท้นของคนไทยทั้งประเทศ

Share on facebook
Share on twitter