2547 : เสริมแกร่ง ICT ทักษิณโมเดลก่อนถึงยุคเศรษฐกิจ 4.0

Share on facebook
Share on twitter

ผู้กำหนดนโยบายในช่วงไม่กี่ปีมานี้ชอบพูดเรื่องเศรษฐกิจ 4.0 หรือการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็ว แต่คำพูดของผู้มีอำนาจไม่ได้แปลว่าจะนำไปสู่นโยบายที่ทำให้ประเทศเปลี่ยนไป และถ้าถือว่าประเทศไทยตื่นกระแส 4.0 ตั้งแต่ปี 2557 ประเทศนี้ในปี 2563 ก็แทบไม่มีความคืบหน้าด้านนี้เลย

ตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่ผลักดันนโยบายดิจิทัลจนระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไทยมีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ 4.0  ช้าจนการอัพเกรดเศรษฐกิจอาจเป็นอีกนโยบายที่ล้มเหลวเหมือนนโยบายอื่นๆ จนส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศโดยตรง

ล่าสุด ขณะที่ประเทศไทยยังคกค้างอยู่ที่ชานชาลาของรถด่วนแห่งยุคสมัย 4.0 จีนวันนี้เริ่มก้าวสู่ขบวนรถแห่งเศรษฐกิจ 5.0 สู่โลกอนาคตเรียบร้อยแล้ว ความไม่เข้าใจว่าไทยล้าหลังจนต้องเร่งวิ่งกวดประเทศอื่นเพื่อลดช่องว่างให้หดแคบจึงทำให้ประเทศอยู่ในวังวนของความล้าหลังตลอดกาล

ถ้าเศรษฐกิจ 4.0 คือถนนสู่อนาคตของโลกปัจจุบัน การพัฒนาให้เท่าทันคลื่นลูกที่สามคือวิสัยทัศน์ของการสร้างประเทศสู่อนาคตช่วงสองทศวรรษที่แล้ว แต่ขณะที่ประเทศไทยวันนี้ไกลจากอนาคตอันเรืองรองหลายปีแสง ประเทศไทยในทศวรรษ 2540 กลับถูกมองว่ามีศักยภาพเป็นถึงผู้นำเอเชีย

ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์คือหนึ่งในตัวแปรที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง และถ้ายอมรับว่าประเทศไทยวันนี้ขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์เมื่อเทียบกับผู้นำประเทศอื่น ดร.ทักษิณ คือหนึ่งในผู้นำประเทศไทยไม่กี่รายที่สังคมไทยและโลกยกย่องว่าเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ ไม่ว่าจะเทียบกับผู้นำในอดีตหรือปัจจุบัน

ดร.ทักษิณ โด่งดังจากการทำธุรกิจโทรคมนาคมและการสื่อสารในยุคที่คนไทยต้องรอครึ่งปีเพื่อขอให้หน่วยงานรัฐติดตั้งโทรศัพท์บ้าน  พูดแบบชาวบ้านคือ ดร.ทักษิณ ทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมในเวลานักธุรกิจจำนวนมากยังไม่สามารถคิดได้ว่า “คลื่น” หรือ “อากาศ” คือเงิน

นักธุรกิจใหญ่ของประเทศไทยในทศวรรษ 2540 มักทำธนาคาร, ก่อสร้าง และค้าปลีก ส่วนนักธุรกิจที่เห็นว่าอากาศมี “มูลค่า” กลับไม่มีเลย สรกล อดุลยานนท์ หรือ “หนุ่มเมืองจันท์” จึงประเมินความสำเร็จของ ดร.ทักษิณ ในหนังสือ “ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ไว้อย่างน่าสนใจ

ในมุมมองของสรกล ดร.ทักษิณ ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพราะมี “วิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้า  ประเมินสถานการณ์ได้ถูกต้อง” , มีความสามารถ “กำหนดกลยุทธ์ได้ตรงกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” ,  มีการตัดสินใจที่รวดเร็ว และบริหารความสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างดี

ในงาน “ทิศทาง ICT 2547” ที่จัดโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2546 กระทรวงได้เชิญ ดร.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ICT for the Future” ทิศทางไอซีที 2547  ซึ่งแสดงวิสัยทัศน์ของดร.ทักษิณ เป็นอย่างดี

ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวปาฐกถาวันนั้นโดยแนะนำให้อ่านหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกคือ It’s Alive : The Coming Convergence of Information , Biology and Business ของ คริสโตเฟอร์ ไมเยอร์ และเล่มที่สองคือ  Re-imagine โดยให้เหตุผลว่า It’s a Alive พูดถึงเรื่องที่ทุกองค์กรต้องปรับตัว

“หนังสือเล่มนี้พูดถึงพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ เป็นการผสมผสานระหว่างไอซีที , ไบโอเทค และนาโนเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้คือคลื่นลูกใหม่ ส่วน Re-imagine พูดถึงความเปลี่ยนแปลงในโลกที่จะเกิดอย่างรวดเร็ว ตัวขับเคลื่อนมีหลายชนิด และไอซีทีเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดความรู้ใหม่” 

ในมุมมองของ ดร.ทักษิณ ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมข้อมูลข่าวสาร ภาครัฐต้องทำให้คนระดับรากหญ้าเข้าถึงเรื่องนี้ เพราะไอซีทีเป็นเทคโนโลยีที่นำไปสู่การเข้าถึงวิทยาการอื่น เราจึงต้องทำให้ไอซีทีขยายจากเศรษฐกิจระดับบนสู่ชนบททันที 

“บิลล์ เกตส์ บอกว่าถ้าจะไปเร็วเนี่ยจะต้องมี Digital Nervous System อย่างดี จะต้องสร้าง Knowledge Worker ส่วนระบบราชการไทยไม่มี Knowledge Worker เพราะไม่มีข้อมูล ระบบเส้นประสาทดิจิตอลไม่มี ไม่ได้วางไว้ เพราะฉะนั้นปีหน้าจะเป็นปีที่สิ่งเหล่านี้จะถูกผลักดันหมด”

“รัฐบาลต้องทำหลายส่วน ส่วนแรกคือ e–Government ต้องสร้าง e-Service และ e-Payment ทุกกรมต้องมีเว็บไซต์ตัวเอง ส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคต้องมีอินเตอร์เน็ตเชื่อมกัน ผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงคอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ตมากที่สุด สร้าง e-Commerce  ปรับปรุงเน็ตเวิร์กและการใช้งาน”

ดร.ทักษิณกล่าวต่อไปว่าไอซีทีคือการลงทุน และรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ ก็พร้อมจะลงทุนด้านนี้เพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้บรอดแบนด์หรืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงราคาถูก ผลักดันให้เกิดราคาที่ประชาชนรับได้ สร้างสินค้าและบริการต่างๆ ต่อยอดจากอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารขึ้นมา

“เราต้องทำให้จังหวัดภูเก็ต , เชียงใหม่ และขอนแก่น เป็นไอทีซิตี้เพื่อสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ รัฐบาลจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเต็มที่ อีกอันหนึ่งที่น่าจะไปได้ดี ก็คือเรื่องของแอนิเมชั่น เพราะเรามีทักษะเรื่องนี้  Host Production  มาทำที่เราได้ อีกเรื่องที่จะทำคือ Smart Card เราจะเป็นประเทศต้นๆ ที่จะเปลี่ยนระบบ ID Card บัตรประจำตัวประชาชน เป็น Smart Card  

Share on facebook
Share on twitter