หวยบนดิน…นำเงินผิดกฎหมายกลับคืนสู่สังคมอย่างถูกต้อง

Share on facebook
Share on twitter

เศรษฐกิจนอกระบบเป็นภาคเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศไทย นักวิชาการบางคนประเมินว่าเรามีมูลค่าของเศรษฐกิจนอกระบบอยู่ที่ 8-13% ของจีดีพี หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาทเป็นอย่างน้อย ซึ่งแปลว่าภาคเศรษฐกิจนี้มีบทบาทสำคัญ แต่ภาครัฐกลับไม่ได้ประโยชน์ในแง่ภาษีแม้แต่นิดเดียว

“หวย” เป็นหนึ่งในกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่ที่สุดในสังคมไทย เมื่อเทียบกับสลากกินแบ่งของรัฐบาลที่นำรายได้ส่งเข้ารัฐปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท กรมสรรพสามิตประเมินว่ามูลค่าหวยใต้ดินอาจสูงถึง 5 แสนล้าน จนมีศักยภาพจะเป็นแหล่งรายได้ของรัฐสูงกว่าสลากกินแบ่งหลายเท่าตัว*

หวยใต้ดินผิดกฎหมาย การที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถขายหวยจนสร้างเม็ดเงินปีละหลายแสนล้านบาทจึงสะท้อนการปล่อยปละละเลยของรัฐบาล กับอิทธิพลขบวนการหวยเถื่อน ผลก็คือรัฐเสียรายได้ที่ควรได้ ส่วนประชาชนก็เสียโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากเงินก้อนนี้ในรูปงบประมาณ

ดร.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่แก้ปัญหาหวยเถื่อนด้วยวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง นำหวยใต้ดินขึ้นมาเป็นหวยบนดิน ดึงเงินนอกระบบจากเจ้ามือไปสู่ผู้มีรายได้น้อยซึ่งก็คือลูกค้าส่วนใหญ่ของหวยใต้ดิน สกัดไม่ให้เงินอยู่ในกระเป๋าเจ้ามือหวยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศเลย

ดร.ทักษิณ กล่าวไว้ในรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชน วันที่ 8 พ.ค. 2547 ว่า

“ผมมอบให้รองนายกฯ ไปทำเรื่องการให้ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย ผู้ปกครองยากจนและมีรายได้ไม่แน่นอน ใช้เงินกองสลากจากการขายเลขท้าย 2-3 ตัว เอาเงินตรงนี้ไปอุดหนุนช่วยเหลือคนยากจนเพราะเป็นเงินคนจน แต่วิธีดีที่สุดครับ อย่าเล่นการพนัน อย่าซื้อหวยดีที่สุดครับพี่น้อง”

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเริ่มออกรางวัลตามแนวคิดนี้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2546 จนมีรายได้ในปีนั้น 36,692 ล้านบาท ต่อมาปี 2547 มีรายได้รวม 76,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 108% และปี 2548 รายได้รวม 82,718 ล้านบาท ส่วนปี 2549 มีรายได้รวม 92,764 ล้านบาท หรือยอดขายทั้งหมดเพิ่มกว่า 1 เท่าตัว**  (ข้อมูลจาก https://goo.gl/VRNDSc)

รายได้จากหวยบนดินถูกรัฐนำไปใช้ในโครงการที่ประชาชนได้ประโยชน์มากมาย เช่นหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน, ทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี,  แก้ปัญหาเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์,  ทุนการศึกษาแก่ลูกผู้มีรายได้น้อย ระยะที่ 1, ทุนการศึกษาบุตรธิดาอาสาสมัครสาธารณสุข ฯลฯ

”หวยบนดิน” เป็นนโยบายที่ประชาชนได้ประโยชน์ แต่เจ้ามือไม่พอใจ นโยบายนี้จึงยุติลงเมื่อคณะรัฐประหารปี 2549 ตั้งคณะกรรมการ คตส.ผลักดันให้ ป.ป.ช.ฟ้องดร.ทักษิณ, คณะรัฐมนตรี รวมทั้งสำนักงานสลากกินแบ่งจนศาลตัดสินว่าผู้ผิดคือรัฐมนตรีบางคน แต่จำหน่ายคดี ดร.ทักษิณออกไป

ความพยายามใช้คดี “หวยบนดิน” เอาผิด ดร.ทักษิณ เกิดขึ้นโดยกระบวนการที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ กล่าวคือป.ป.ช.ยุคหลังรัฐประหาร คสช.มีมติรื้อฟื้อคดีในเดือนตุลาคม พ.ศ.2560 จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติของ คสช.ก็ลงมติแก้กฎหมายให้ศาลพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2561 จนศาลมีคำตัดสินลงโทษดร.ทักษิณในเดือนมิถุนายนของปีถัดมา

ความต้องการกำจัด ดร.ทักษิณ นำไปสู่การโจมตีนโยบายจำนวนมากซึ่งประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ดร.ทักษิณ จึงไม่ได้ทำนโยบายที่ผิด แต่ความผิดคือมายาคติว่านโยบายใดที่ทำโดยดร.ทักษิณ ต้องถูกล้มล้างลงไป หลังจากนั้นรัฐบาลอื่นจะทำเหมือนกันหรือไม่ก็ถือว่าไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด

ในปัจจุบันนี้นโยบายเศรษฐกิจแบบดร.ทักษิณ ซึ่งเคยถูกกล่าวหาว่าเป็น “ประชานิยม” กลับถูกลอกเลียนแบบโดยรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจด้วยการโจมตีนโยบายนี้มากที่สุด ส่วนนโยบาย “หวนบนดิน” ยังไม่ได้รับการรื้อฟื้นจนประเทศเสียโอกาสที่จะดึงจากเจ้ามือหวยมาทำประโยชน์ให้ประชาชน

ด้วยความต้องการล้มล้างความนิยมที่ประชาชนมีต่อ ดร.ทักษิณ ไม่มีใครพูดถึงวิธีแก้ปัญหาเงินนอกระบบที่รัฐสูญเสียรายได้ปีละหลายหมื่นล้านให้กับเจ้ามือหวยใต้ดินอีกต่อไป

*https://www.naewna.com/business/421882

** ข้อมูลจาก https://goo.gl/VRNDSc

Share on facebook
Share on twitter