ย้อนประวัติศาสตร์ปลดหนี้ IMF

Share on facebook
Share on twitter

วิกฤตเศรษฐกิจปี พ.ศ.2540 หรือที่ขนานนามกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” นั้นส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะงักงัน ธุรกิจใหญ่ น้อย ต้องยุติการดำเนินการ กิจการหลายอย่างต้องปิดตัวลง ประชาชนต้องตกงาน เกิดภาวะคนว่างงานเป็นจำนวนมาก ประชาชนคนไทยที่ประสบภัยเศรษฐกิจครั้งนั้นต่างจดจำเหตุการณ์ต่างๆ และรับรู้ถึงความยากลำบากในการก้าวข้ามความเจ็บปวดในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

ผลพวงของวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ประเทศไทยอยู่ใกล้สภาวะล้มละลาย รัฐบาลในขณะนั้นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ กว่า 17,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่ง สถานะลูกหนี้ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น  ส่งผลให้เกียรติภูมิของประเทศลดลง ในการเจรจาต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ดังนั้น เมื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ภารกิจแรก ที่เร่งดำเนินการคือ การที่จะต้อง “ล้างหนี้” ด้วยการแยกหนี้ดีออกจากหนี้เสีย เพื่อให้ระบบการเงินเคลื่อนต่อไปได้ และด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ด้วยหลักการ “ลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาส” มุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจจากระดับพื้นฐาน สู่โครงสร้างระบบเศรษฐกิจระดับสูง ในที่สุดก็สามารถชำระหนี้ ไอเอ็มเอฟ ได้ในปี พ.ศ.2546 ก่อนครบกำหนดชำระถึง 2 ปี ทำให้ประเทศไทยพ้นจากภาวะใกล้ล้มละลาย นำศักดิ์ศรีกลับคืนสู่คนไทยและประเทศไทยจนสำเร็จ

โดยวันประวัติศาสตร์ที่ประเทศไทยชำระหนี้งวดสุดท้ายให้ ไอเอ็มเอฟ ดังกล่าวนั้นเป็นการชำระก่อนครบกำหนดชำระถึง 2 ปี ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 31กรกฎาคม พ.ศ.2546 โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นได้แถลงต่อประชาชนคนไทย ชี้แจงรายละเอียดทุกขึ้นตอน พร้อมประกาศยืนยันว่า ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจและภูมิใจในความเป็นคนไทย เพราะวันนี้เราไม่มีพันธะใดๆ พร้อมกับประกาศว่า ในก้าวต่อไป จะเป็นสิ่งที่จะต้องทำประเทศให้เข้มแข็ง ท่ามกลางกระแสตอบรับจากทุกฝ่ายอย่างล้นหลาม

หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับเช้าตรู่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2546 พาดหัวข่าวเอาไว้ว่า “ทักษิณ ลั่น เป็นไท พ้นอกไอเอ็มเอฟ” บันทึกเนื้อหาบรรยากาศในวันนั้นเอาไว้อย่างละเอียด โดยระบุว่า “เวลา 20.30น. วันที่ 31 ก.ค.ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ แถลงผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการปลดหนี้ประเทศไทยจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟว่า วันนี้เป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยชำระหนี้ไอเอ็มเอฟก้อนสุดท้าย 60,000 กว่าล้านบาท หลังจากเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2540 ประเทศไทยต้องลดค่าเงินบาท ประเทศขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ เงินไหนออกจนต้องโปรแกรมไอเอ็มเอฟ โดยไอเอ็มเอฟอนุมัติปล่อยเงินกู้ 12,296 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.1 แสนล้านบาท รัฐบาลที่แล้วใช้หนี้ไป 1 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลนี้มาใช้หนี้ทั้งหมดทั้ง 5 แสนล้านบาท”

ในวันนั้น ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง แต่เป็นความสับสนที่ไม่ได้ติดตามสถานการณ์และข้อมูลอย่างใช้ชิด ซึ่งครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ไทยจะเข้าร่วมโครงการไอเอ็มเอฟ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะเข้ามาแก้ปัญหาในทุกๆ ด้านเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่นใจ เพื่อให้เกิดความเชื่อว่าเศรษฐกิจของเราจะดีขึ้นจริง ความเจ็บปวดที่ผ่านมาเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นต้องใช้ความเจ็บปวดเป็นบทเรียนของคนทั้งประเทศ

“ทำไมรัฐบาลถึงกล้าที่จะใช้หนี้ก่อนเวลา 2 ปี เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่าย ยังเป็นการหมดพันธกรณีและหมดภาระดอกเบี้ยลงได้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ จึงขออธิบายที่เป็นตัวเลขที่แสดงความมาที่รัฐบาลทำได้ คือตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามามีการขยายตัวเรื่องเศรษฐกิจทุกๆ ด้าน เช่นภาคการเกษตร ในปี 2544 มีการขยายตัวพียงร้อยละ 3.4 ขณะที่ 2545 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21.7 และปี 2546 ขยายตัวถึงร้อยละ 28.5  ภาคอุตสาหกรรมในปี 2545 ขยายตัวร้อยละ 55.9 และปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 66.6 เป็นการแสดงถึงความต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ส่วนการออก ปี 2544 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากเนื่องจากสถานการณ์ 11 ก.ย.2544 ที่สหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจหดตัวลง เหลือเพียงร้อยละ 1.7 และปี 2545 ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาก็โตได้ ร้อยละ 5.7  ส่วนปี 2546 เพียงแค่ครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยก็โตได้ถึงร้อยละ 5.9 ส่วนผล

ประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปี 2543 มีกำไร 4.5 หมื่นล้านบาท ปี 2544 กำไร 1 แสนล้านบาท ปี 2545 กำไร 1.7แสนล้านบาท และปี 2546 คาดว่าจะกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 แสนล้านบาท”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวอีกว่า รายได้ต่อครัวเรือนมีการขยับต่อเนื่อง เพียง 9 เดือนแรกปีนี้ ใกล้เคียงกับปี 2543 ทั้งปี ซึ่งถือว่าดีขึ้น ส่วนการขาดดุล ขณะนี้กำลังจะสิ้นสุดลง ดูได้จากปี 2543 ขาดดุล 1.2 แสนล้านบาท ปี 2544 ขาดดุล 1.1 แสนล้านบาท ปี 2545 ขาดดุล 1.2 แสนล้านบาท ส่วนปี 2546 ทั้งปีรัฐบาลตั้งเป้าวางนโยบายจะขาดดุลเพิ่มอีก1.7แสนล้านบาท แต่รัฐบาลนี้ทำให้ตัวเลขขาดดุลเปลี่ยนเป็นเกินดุล 1.4 หมื่นล้าน มีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะดีต่อเนื่อง จากหนี้สาธารณะ ปี 2545 หนี้สาธารณะของไทยสูงถึงร้อยละ 57 ของจีดีพี และจากต้นปีถึงปัจจุบัน มีหนี้สาธารณะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 49.7 ของจีดีพี ส่วนทุนสำรองของประเทศ หากจะเทียบกับเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ปัจจุบันเงินสำรองมีถึง 38  พันล้านเหรียญสหรัฐ มีหนี้ 58 พันล้านเหรียญสหรัฐ รวมกับเงินที่ฝากในต่างประเทศถือว่าใกล้เคียงกัน จึงยืนยันได้ว่าสถานการณ์ของไทยเข้มแข็งมาก วันนี้อยากบอกให้ประชาชนไทยภูมิใจว่าจากนี้ไปเราจะไม่มีพันธกรณีใดๆ จะทำให้ไทยเข้มแข็ง

“สำหรับความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ อยู่ที่การปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นนโยบายที่เรียกว่า Dual Track Policy โดยนโยบายที่ 1 คืออาศัยการเติบโตเศรษฐกิจในประเทศ จากอดีตที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออก ท่องเที่ยวอย่างเดียว ไม่พอ รัฐบาลจึงหันมาส่งเสริมเศรษฐกิจระดับรากหญ้า และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จครั้งนี้จะสำเร็จไม่ได้ถ้าพี่น้องประขาชนและนักธุรกิจไม่มีกำลังใจต่อสู้และความสำเร็จครั้งนี้จะเป็นจริงไปไม่ได้ด้วยถ้าข้าราชการและรัฐวิสาหกิจไม่ทุ่มเท 2 ปีที่ผ่านมา”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า การใช้หนี้ไอเอ็มเอฟวันนี้ จะทำให้ประเทศหมดพันธกรณีหลายอย่าง เลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประเทศ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธะไอเอ็มเอฟทุกอย่าง

“ในอดีตการเติบโตทางเศรษฐกิจมักจะเติบโตโดยการขาดดุลการค้า และมีหนี้เพิ่ม แต่คราวนี้จะเติบโตโดยดุลการค้าเป็นบวก และหนี้ลด เนื่องจากนโยบาย Dual Track Policy เป็นการส่งเสริมให้พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้มีดุลการค้าเป็นบวก รัฐบาลนี้จะต้องท่องคาถาเอาไว้ 3 ข้อ คือ ลดรายจ่ายให้ประชาชน เพิ่มรายได้ให้ประชาชนและขยายโอกาสให้กับประชาชน”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวย้ำในช่วงท้าย พร้อมกับประกาศเชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความป็นหนึ่ง ในวาระประวัติศาสตร์

ซึ่งบรรยากาศในวันประวัติศาสตร์และเสียงตอบรับจากทุกฝ่ายในวันนั้น คนไทยจำนวนมากยังคงจดจำได้เป็นอย่างดี

Share on facebook
Share on twitter