บัญญัติ 4 ประการ นำพาธุรกิจทักษิณเติบโต

Share on facebook
Share on twitter

ช่วงที่ ดร.ทักษิณ ยังดำรงสถานะเป็นนายตำรวจหนุ่ม พร้อมด้วยกิจการร้านผ้าไหมที่ไว้ใช้เลี้ยงครอบครัวและสืบทอดเจตนารมย์ของบ้านเกิด ในนาม “ท.ชินวัตรไหมไทย”  แต่เปิดกิจการได้เพียงเดือนเดียวก็ต้องปิดตัวลง  เพราะรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ในขณะที่ลูกๆ ของเขาเติบโตขึ้นทุกวัน

หลักการทำธุรกิจของเขาที่ใช้มาโดยตลอดเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญคือการไม่ปล่อยให้ผลการขาดทุนของธุรกิจเนิ่นนานจนอาจจะกลืนกินเงินเก็บ  เวลา  และโอกาสใหม่ ๆที่จะเข้ามา    เขาตัดสินใจเริ่มต้นใหม่  ด้วยชีวิตจะต้องเดินหน้า  เขามองเห็นโอกาสในธุรกิจบันเทิง  คือธุรกิจซื้อ-ขายภาพยนตร์  พัฒนาตัวเองจนก้าวเข้าสู่ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์  เมื่อธุรกิจถึงจุดอิ่มตัวจึงก้าวเข้าสู่โอกาสใหม่อย่างการเป็นผู้ประกบการอสังหาริมทรัพย์  เริ่มต้นด้วยการเป็นเจ้าของอพาร์ทเมนต์เล็ก ๆ  จนขยายเข้าสู่ธุรกิจคอมพิวเตอร์และระบบการสื่อสาร   นำพาบริษัทขนาดเล็กๆ ที่มีเขาเป็นผู้ก่อตั้งเพียงคนเดียว   เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้  ทุกอย่างมาจากแนวคิดด้านธุรกิจที่หลากหลาย ที่นำพาเขาสู่ความสำเร็จ

ข้อคิดในการทำธุรกิจของเขากว่าจะมาถึงเส้นชัยในหลายสนามแข่งได้มีหลายด้าน แต่ละด้าน  มักจะมาจากประสบการณ์ที่ดี  และมรสุมธุรกิจในรูปแบบที่แตกต่างกัน  แต่หลักการที่ทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตและแข็งแรงได้  มาจากการนำเอาประสบการณ์ที่ได้พบเจอนักธรุกิจจากทั่วทุกมุมโลกมาปรับใช้  สำคัญที่สุดคือไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในโลกธุรกิจ

“ต้องอย่าไปคิดว่าเราต้องเป็นศัตรูคนนั้นคนนี้ สู้เราเป็นเพื่อนดีที่สุด อันนี้ก็อยากให้สังคมไทยคิดอย่างนี้”

หลักคิดนี้ ดร.ทักษิณ ใช้ทั้งในยามที่ประเทศประสบกับภาวะเศรษฐกิจ  รวมไปถึงช่วงที่ธุรกิจของเขากำลังเติบโต ต้องพบเจอกับคู่แข่งหน้าใหม่จำนวนมาก  เขามองว่าเป็นเรื่องปกติ  หากสนามของการแข่งขันไร้ซึ่งคู่แข่ง  ชัยชนะจะไม่มีความหมาย

นอกจากแนวคิดหลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูในการทำธุรกิจแล้ว  เขายังมีบัญญัติ 4 ประการที่ใช้เตือนใจในการธุรกิจด้วยตัวเอง  และถ่ายทอดไปยังลูก ๆ ของเขาทั้ง 3 คน  รวมไปถึงคนไทยทั้งประเทศ  ให้สามารถก้าวข้ามความล้มเหลวและเปิดประตูไปสู่ความสำเร็จ เป็นองค์ประกอบของผู้ประกอบการ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ  นั่นก็คือ กล้าล้มเหลว อดทน ขวนขวายหาความรู้  และมีวิสัยทัศน์

“ผมกล้าล้มเหลว เพราะมันไม่มีจุด คือเด็กเวลาหัดเดินใหม่ๆ มันจะต้องมีล้ม ถ้าเด็กกลัวล้มไม่กล้าเดินก็จะเดินไม่ได้ ถ้าเดินแล้วต้องยอมรับว่าล้ม ล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาแล้วเดินต่อ”

นอกจากความกล้าที่จะล้มเหลวแล้ว  ความอดทนที่เขาพูดถึงนั้น เขานิยามมันไว้ว่าต้อง “อดทนมาก” ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  โดยเมื่ออยู่ในช่วงเริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัว เริ่มที่จะเป็นผู้ประกอบการที่จะต้องเก็บเล็กผสมน้อย  ณ ตอนนั้นเขาเป็นคนอึดที่สามารถทำงานเกิน 14 ชั่วโมงต่อวันได้  แม้ไม่แนะนำให้คนรุ่นหลังทำแบบนั้น  แต่เขาต้องการเตือนให้รู้ว่า การเป็นผู้ประกอบการไม่ได้สบายดังภาพฉายปลายทางที่ทุกคนเห็น 

“เป็นผู้ประกอบการ เหนื่อยกว่าเป็นลูกจ้างก็จริง  แต่ว่าถ้าสำเร็จ  มันก็ดีกว่าเยอะ แต่เวลาไม่สำเร็จก็ลำบากพอสมควร”

ในมุมของการขวนขวายหาความรู้ ดร.ทักษิณ ได้ชื่อว่าเป็นคนที่ชื่นชอบการอ่านมากที่สุด  อ่านหนังสือทุกประเภท ชื่นชอบการศึกษาข้อมูล  ซึ่งเกิดจากการที่อ่านหนังสือ ทั้งหนังสือธุรกิจ แมกกาซีนต่างประเทศ หรือ How to ต่าง ๆ  ทุกครั้งมีเดินทางหรือมีเวลาว่างเพียงเล็กน้อย  เขาชอบที่จะหยิบหนังสือใกล้ตัวมาอ่านเสมอ  เมื่อขึ้นเครื่องบินก็จะอ่านหนังสือธุรกิจ เมื่ออยู่บ้านจะอ่านหนังสือพิมพ์  เมื่ออ่านแล้วเขาจะจำและเชื่อมโยงเรื่องราว  หรือแม้แต่การเดินชมงานนิทรรศการต่างๆ เขาก็มักจะเดินสำรวจเสมอ และพูดคุยกับเจ้าของสินค้าหรือผู้ที่เข้าร่วมงาน  เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนหลากหลายอาชีพ  ทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ และมองหาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจที่น่าจะเป็นไปได้ 

“ถ้าเราไม่มีข้อมูล  แต่ใช้ความรู้สึกในการทำธุรกิจ โอกาสผิดพลาดมันสูง มันเหมือนการลองผิดลองถูก เหมือนเราเข้าไปดูเค้าเล่น Roulette ไปถึงก็เอาตังค์ไปวางตรงไหน ก็โดนกินตลอด เพราะมันไม่มีข้อมูล”

เมื่อได้ข้อมูลมากพอ  เขาแนะนำให้ต่อยอดเป็นความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)  ที่เกิดจากการขวนขวายข้อมูลให้มากพอ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น

“ผู้ชนะคือผู้คิดเกมส์ใหม่  ถ้าไปเล่นเกมส์ของคนอื่น  เราต้องยอมรับว่าเราอย่างเก่งก็แค่รอด เพราะฉะนั้นเราต้องคิดให้ได้  ต้องมีไอเดียใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่ลำบากกว่านี้ การจะ turn around ธุรกิจต้องมีไอเดีย ผมจะใช้คำว่าไอเดียตลอดเวลา การจะมีไอเดียได้นั้นต้องอ่าน ต้องฟัง ต้องดู ให้มากที่สุด ถ้าเราไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่ดู ไม่มีทาง”

ในด้านของการมีวิสัยทัศน์  เป็นอาวุธสำคัญที่ทำให้ ดร.ทักษิณ ประสบความสำเร็จ  ที่เห็นได้ชัดคือธุรกิจการการสื่อสารไร้สาย หรือ Wireless ที่เขาพูดไว้ตั้งแต่ปี 2537 ทั้งที่ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต  ในตอนนั้นเขาบอกว่า  ‘การสื่อสารแบบไร้สายจะครองโลก’

‘โน๊ตบุ๊คเกิดแล้ว  แต่ยังใหญ่มากเลย  ผมบอกว่ามันจะเป็นทุกอย่างเลย จะหิ้วไปไหนก็ได้  เสร็จแล้วมันสามารถที่จะดูหนังฮอลลีวูดบนดอยปุยก็ได้ เพราะว่าทุกอย่างเป็น wireless หมดเลย  เป็นสิ่งที่ผมทำนายไว้  โดยที่ผมรู้จากการอ่านและการพูดคุยกับคน  และเดาว่าสิ่งที่เกิดมันจะเกิดขึ้นจริง ๆ ผมคิดว่าปี 2547 เกิดแน่นอน’

และในตอนนี้ ณ  ปี 2563 ประชากร 4,300 ล้านคนทั่วโลก หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั่วโลก  7,800  ล้านคน  เข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตแล้ว   

ศิลปะของการบริหารความเสี่ยง เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่า การจะเป็นนักบริหารที่จะประสบความสำเร็จ อยู่ที่ความสามารถในการตั้งรับด้วย หากเปรียบกับนักมวย  คือการตั้งการ์ดสลับกับออกหมัดฮุก หมัดชกต่อเนื่องโดยไม่รอให้คู่ต่อสู้เสียท่าก่อน 

ทุกครั้งที่ความเสี่ยงก้าวเข้ามาเคาะประตู   ก่อนจะเปิดประตูรับ เขาจะคิดอย่างรอบคอบเสมอ  ด้วยมองว่าหากบางอย่างคุ้มค่าที่จะเสี่ยง  เขาก็พร้อมเปิดรับมัน   แต่หากมองแล้วเสี่ยงที่จะเสียหายหรือสูญเสียบางอย่างจนเกินตัว  เขาจะทำได้เพียงยืนมอง  วิธีการของเขาเหล่านี้เมื่อรวมเข้ากับบัญญัติ 4 ประการ  ผลลัพท์ที่ได้ส่วนใหญ่มักจะสำเร็จ   แต่หากมีบางอย่างที่พลาดพลั้งไป  เขาก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ 

ผลลัพธ์ที่นำเอาความรู้มาให้เขา  เพื่อที่ครั้งหน้า จะไม่พลาดพลั้งอีก 

Share on facebook
Share on twitter