“บทบาทหน้าที่ผู้แทนของพ่อที่ผมคุ้นชินจะเป็นการ”รับใช้”ชาวบ้านสารพัดมากกว่า ตั้งแต่งานบุญจนถึงงานบ้าน งานราษฎร์ยันงานหลวง ใครเดือดร้อนหรือมีเหตุในชุมชน….ก็ต้องมาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือต่างๆ จากพ่อเสมอ คงเพราะความที่ชาวบ้านไม่รู้จะพึ่งใครนั่นเอง พอมีผู้แทนฯ จึงรู้สึกว่าน่าจะช่วยตนได้ สมัยก่อนเลยไม่มีเรื่องซื้อเสียง เนื่องจากเป็นผู้แทนฯไม่ค่อยมีผลประโยชน์ มีแต่ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์”
(จากหนังสือ ทักษิณ ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน)
มีความพยายามอย่างมากมายที่จะผลักไสอาชีพ”นักการเมือง”ให้กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาประชาชน แต่สุดท้ายแล้วในระบอบประชาธิปไตยเราก็มีความจำเป็นจะต้องมี”นักการเมือง”เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาบริหารประเทศ นักการเมืองไม่ดีจริงหรือ? บ่อยครั้งเรามักจะเห็นคนที่พยายามกล่าวร้ายหลายๆ คนวกกลับเข้ามาเป็นนักการเมืองเสียเอง บางคนก็ประกาศกลางที่สาธารณะว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ บ้างก็สาบานต่อหน้าผ้าเหลืองว่าจะไม่ยุ่งการเมืองอีก แต่สุดท้ายก็ไม่อาจต้านทานความเย้ายวนใจนั้นได้ ว่ากันว่าอาชีพนักการเมืองเป็นอาชีพมีเสน่ห์ ใครหลงเข้ามาแล้วส่วนใหญ่จะถอนตัวออกไปยากเหลือเกิน
หนึ่งในนักการเมืองเจ้าเสน่ห์คนหนึ่งของเมืองไทยคงต้องยกให้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขณะเป็นนักการเมืองเต็มตัวก็ต้องเรียกว่ามีแต่ความร้อนแรง เพราะสร้างผลงานโดดเด่นมากมายแตกต่างจากนักการเมืองเดิมอย่างมาก แม้ต่อมาจะถูกพิษการเมืองเล่นงานอย่างแสนสาหัสจนต้องลี้ภัยไปเป็นผู้เฝ้าดูการเมืองอยู่ห่างๆ นอกประเทศ ดร.ทักษิณก็ยังชอบกล่าวว่าสักวันหนึ่งถ้ามีโอกาสอยากกลับมาเป็นนักการเมืองรับใช้ประเทศชาติอีก
ทำไม ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงอยากทำงานการเมืองนัก?
มีเหตุผล.. มีแรงจูงใจจากอะไร..ถึงทำให้หลงใหลงานการเมือง?
การเมืองคือการเพิ่มหน้าที่ไม่ใช่การเพิ่มอำนาจ
หากได้อ่านประวัติชีวิตดร.ทักษิณตั้งแต่วัยเด็กจะพบว่าเขามี เลิศ ชินวัตร ผู้เป็นพ่อคือแรงบันดาลใจชีวิตในทุกๆ ด้าน นอกจากนิสัยชอบคิดใหม่ ทำใหม่ หมั่นหาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในอาชีพการงานจนชีวิตประสบความสำเร็จแล้ว ในช่วงท้ายชีวิต “เลิศ” ยังได้ก้าวสู่ถนนการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายอันสุจริตเพียงหนึ่งเดียวคืออยากรับใช้ประชาชน อยากใช้ความรู้ความสามารถช่วยพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้ดียิ่งขึ้น การมองการเมืองจากชีวิตพ่อถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ดร.ทักษิณมีความฝันที่อยากทำงานการเมืองแบบพ่อ
“อันที่จริง ถ้าจะย้อนทบทวนว่าผมรู้จักสิ่งที่เรียกกันว่า “การเมือง”ตั้งแต่เมื่อไร จำได้ว่าน่าจะตั้งแต่เรียนชั้นประถมสี่ จากการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านที่สันกำแพง บ้านเกิดของผม การเมืองยุคนั้นเป็นการเมืองที่ประหลาด คือ คนสมัครกลัวว่าจะได้รับเลือกมากกว่าแพ้ เนื่องจากตำแหน่งทางการเมืองมักมาพร้อมๆ กับหน้าที่ “รับใช้”ชาวบ้าน ใครได้ไปก็เหมือนแบกภาระไว้”
นี่คือการเมืองแบบชาวบ้านขนานแท้ที่ ด.ช.ทักษิณได้เรียนรู้ การเมืองคือการเพิ่มหน้าที่ไม่ใช่การเพิ่มอำนาจ ญาติของเขาที่ถูกเสนอชื่อให้รับหน้าที่การเมือง จึงต้องเร่งไปหาสมัครพรรคพวกจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ให้มาช่วยลงคะแนนให้ตัวเขาไปรับตำแหน่ง แต่ตรงกันข้ามไปขอแรงมาช่วยให้ไปเลือกฝ่ายตรงข้ามให้ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งก็ทำเช่นเดียวกัน ไปกว้านหาผู้คนมาเลือกญาติของด.ช.ทักษิณ เช่นกัน ช่างเป็นการเลือกตั้งแบบน่าลุ้นระทึกมากๆ ต่างฝ่ายต่างอยากให้อีกคนหนึ่งได้ ผลสุดท้ายคือถ้าฝั่งไหนหาคนมาเลือกอีกฝั่งได้มากกว่า ชาวบ้านเรียกว่าเขาชนะเลือกตั้ง และการเลือกตั้งครั้งนั้นผู้แพ้คือญาติของด.ช.ทักษิณ ได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะเกณฑ์คนมาสู้อีกฝั่งหนึ่งไม่ได้
มองการเมืองผ่านชีวิตพ่อ
เมื่อทักษิณเข้าสู่วัยรุ่นเป็นนักเรียนเตรียมทหาร เลิศ ชินวัตร ก็ก้าวสู่ถนนการเมือง ได้เป็นผู้แทนจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2510
“ผู้แทนในยุคพ่อเน้นช่วยเหลือประชาชนเป็นหลัก ถึงขนาดเปลืองตัวเสียสตางค์ ควักเนื้อจนเงินทองร่อยหรอเดือดร้อนครอบครัว การเมืองในสายตาผมในวัยนั้นจึงมีลักษณะเสียสละส่วนตัวเพื่อส่วนรวมมากกว่า”
บทบาทของผู้แทนในยุคนั้นคือการเสียสละตัวเอง เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มกำลังความสามารถเท่าที่จะทำได้ หนุ่มนักเรียนนายร้อยตำรวจในวัย 20 ปี ได้เห็นภาพการทำงานการเมืองของพ่อ ซึ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจ
“บทบาทหน้าที่ผู้แทนของพ่อที่ผมคุ้นชินจะเป็นการ”รับใช้”ชาวบ้านสารพัดมากกว่า ตั้งแต่งานบุญจนถึงงานบ้าน งานราษฎร์ยันงานหลวง ใครเดือดร้อนหรือมีเหตุในชุมชน ไม่ว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย วัดพัง พายุพัดหลังคาโบสถ์ ฯลฯ ก็ต้องมาร้องทุกข์ขอความช่วยเหลือต่างๆ จากพ่อเสมอ คงเพราะความที่ชาวบ้านไม่รู้จะพึ่งใครนั่นเอง พอมีผู้แทนฯ จึงรู้สึกว่าน่าจะช่วยตนได้ สมัยก่อนเลยไม่มีเรื่องซื้อเสียง เนื่องจากเป็นผู้แทนฯไม่ค่อยมีผลประโยชน์ มีแต่ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์”
แต่อีกมุมมองหนึ่งของแม่ ก็ให้แง่คิดการมองการเมืองที่แตกต่างออกไป แม่ไม่ได้มองเห็นแต่ภาพสดสวยเพียงด้านเดียวของการเมือง แต่ได้มองภาพมุมกว้างการทำงานการเมืองของพ่ออย่างที่คนทั่วไปอาจไม่เห็น
“จำไว้นะลูก ถ้าฐานะยังไม่ดีจริงๆ อย่าเล่นการเมือง เล่นการเมืองต้องเสียสละมาก ดูอย่างพ่อสิ ต้องเสียทั้งเงิน ทั้งเวลา แล้วยังเดือดร้อนครอบครัวอีก”
คำเตือนของแม่ในครั้งนั้น เขาไม่คิดเลยว่าจะเป็นคำเตือนที่เป็น “จริง”สำหรับตัวเขาเองด้วยในวันข้างหน้า ในวันนั้นแม่ได้เล่าให้เขาฟังว่า พ่อทำงานการเมืองมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องควักเนื้อตัวเองเท่านั้น ด้วยนิสัยใจกว้างที่มีอยู่เป็นทุนเดิมและเป็นคนรักเพื่อนพ้อง รายจ่ายของพ่อจึงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ อาการเงินไหลออกของพ่อหนักหนามาก แม้แต่เงินเดือน ส.ส. ก็ไม่เคยเหลือตกถึงมือแม่เลย เพราะมีเพื่อนมายืมเงินบ้าง ต้องเลี้ยงเพื่อนบ้าง บางครั้งเงินเดือนของพ่อหมดตั้งแต่เงินเดือนออกวันแรกเลยทีเดียว หนำซ้ำบางทีเงินไม่พอ ต้องกลับมาเอาที่บ้านอีก แม่ต้องเป็นฝ่ายคอยเก็บเงินไว้ไม่เช่นนั้นเงินจะไม่เหลือพอส่งลูกๆ เรียน
ดร.ทักษิณ ได้เรียนรู้“เหรียญสองด้านของการทำงานการเมือง”จากทั้งพ่อและแม่ตั้งแต่วัยเด็ก
การรับใช้ประชาชนและการได้สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติคือความภูมิใจสูงสุดของคนๆ หนึ่งที่เกิดในประเทศไทย
ในวันที่ชีวิตพร้อมทุกด้าน กายพร้อม ใจพร้อม เงินพร้อม และเตรียมการณ์รับมือเหรียญสองด้านไว้อย่างดีพร้อม
ดร.ทักษิณ ชินวัตร จึงตัดสินใจลงเล่นการเมือง…
เหรียญสองด้านในชีวิตประสบความสำเร็จควบคู่กันไปอย่างลงตัว..