ภาวะวิกฤตต้มยำกุ้ง

Share on facebook
Share on twitter

       วิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชีย เมื่อปี 2540 ถูกขนานนามว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง”  เพราะเริ่มต้นที่ประเทศไทย รัฐบาลในขณะนั้นต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เศรษฐกิจประเทศชะงักงัน ส่งผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่โดยเฉพาะคนที่มีหนี้สินเป็นเงินสกุลต่างประเทศมีหนี้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในชั่วข้ามคืน หมดความสามารถในการชำระหนี้ ความเดือดร้อนลุกลามแผ่ขยายไปทั่ว กิจการหลายแห่งปิดตัวลง เกิดภาวะคนตกงานมหาศาล วิกฤตครั้งนั้นสร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนคนไทยทุกระดับอย่างแสนสาหัส

บทบาทของ ดร.ทักษิณ ในเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้น เป็นช่วงเวลาที่เขาไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีแล้ว  เขากลับมาทำธุรกิจไปพร้อมกับการเดินสายพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้กับคนในแวดวงการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ เพื่อระดมความคิด ระดมสมองจากคนในแวดวงต่างๆ ไว้เป็นความรู้ไว้ใช้ในอนาคต  สิ่งที่เขาทำไป มีเป้าหมายเดียวคือต้องการแก้ไขปัญหาประเทศ เขาดึงเอาศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ ดึงนักลงทุนต่างประเทศที่มีชื่อเสียงระดับโลก เดินเข้าไปพบผู้นำรัฐบาลในขณะนั้น เพื่อชักชวนให้มาลงทุนในประเทศไทย หวังที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ  เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดึงเงินกลับเข้ามาในประเทศ 

“หากนักลงทุนต่างชาติที่ผมได้พูดคุยกันไว้เข้ามาลงทุนในเมืองไทย น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ เพราะคนที่ร่วมทุนล้วนมีชื่อเสียงติดอันดับโลก” 

 นอกจากนี้เขายังลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับนักเคลื่อนไหวทางสังคมในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งในจังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย จัดตั้งเป็นกองทุนสนับสนุนเกษตรกรพื้นที่ 3 จังหวัด ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ  ขณะที่ตัวเขาได้ใช้ศักยภาพทางธุรกิจ ในการหาช่องทางจัดจำหน่าย ช่วยเหลือให้ความรู้ด้านการจัดการที่ดี เพื่อช่วยลดต้นทุนให้ต่ำกว่าพืชผักด้วยกัน ทำให้ขายได้ในราคาดีกว่า ทั้งหมดสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในช่วงวิกฤตได้  

เขามองภาพในระดับ Global Market และ Local Market ในเวลาเดียวกัน  ไม่มีตลาดไหนสำคัญไปกว่าใคร ทั้งสองตลาดต้องทำงานสอดรับกันไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและการลงทุนในต่างประเทศกลับเข้ามาในไทยให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

เขายังได้การวางพื้นฐานด้านการศึกษาและสังคมหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนให้อาจารย์มหาวิทยาลัย ทำการวิจัยใหม่แบบ “Rethink”  ใหม่ทั้งหมด โดยตั้งสมมติฐานว่า 

1.ประเทศไทยไม่มีต้นไม้เลยสักต้น แล้วเราจะทำอย่างไร 

2.ให้ดูว่าพื้นที่ใดควรปลูกพืชอะไร อันไหนเข้าทางก็ส่งเสริม และ ในระดับชาวบ้านทั่วไป ก็ได้ส่งเสริมให้ใช้เครือข่ายของไทยคม เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เรียนรู้การฝึกฝนอาชีพเสริม 

 ขณะเดียวกัน  เขาได้ขอให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งทำวิจัยที่เรียกว่า Policy Manual เป็นการวิจัยงานที่จะต้องทำของกระทรวงต่างๆ ว่าแต่ละจะก้าวเดินไปอย่างไร โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมและการศึกษา เพื่อเป็นแม่บทในการบริหารงานของนักการเมือง ดร.ทักษิณ มองว่า สังคมของไทยต้องเป็นสังคมที่สมดุลไม่ใช่สังคมที่ต้องเลือก  แต่จะเชื่อมโยงกันให้ได้ระหว่างสังคมเกษตรกับสังคมข่าวสาร สังคมชนบทกับสังคมเมือง และสังคมเกษตรกับเทคโนโลยี การบริหารประเทศต้องใช้ศิลปะในการเชื่อมโยงให้เกิดความสมดุลทั้งสองด้าน และจะต้องสร้างสังคมความรู้   

“เมืองไทยเคยโชติช่วงชัชวาล แต่วันนี้ ไฟกำลังมอดและมีขี้เถ้าคลุม แต่ยังมีไฟปะทุอยู่ เราต้องทำให้ไฟปะทุอยู่ลุกขึ้นมาอีกครั้ง การแก้ไขปัญหาจะต้องเร็ว หากช้าอด” 

ทุกสิ่งที่เขาทำเกิดขึ้นก่อนที่เขาจะได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย นอกจากความพยายามในการใช้ศักยภาพที่มีทั้งหมดเพื่อหาหนทางช่วยเหลือแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ ในทุกระดับ ทุกวิถีทาง ด้วยวิธีการต่างๆ แล้ว  สื่อมวลชนในขณะนั้น (ประชาชาติธุรกิจ) ตีความการทำงานเขาเหมือนการ “กู้ชาตินอกทำเนียบ”  

คำนี้มาจากการที่ ดร.ทักษิณ ได้เคยวิเคราะห์ปัญหาที่ซ่อนตัวอยู่จนทำให้ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในปี 2540 ส่วนหนึ่งมาจาก “ผู้นำ” ที่เป็นผู้นำพาประชาชนฝ่าฟันปัญหาครั้งนั้น  หลายๆ สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนั้น หนึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือ ความมี Leadership ที่คนไทยมีและไม่เหมือนกับต่างประเทศ  

“Leadership เป็นเรื่องสำคัญ ทุกอย่างต้องอยู่บนเรื่องของความจริงเป็นหลัก และต้องแก้ไข ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ ปัญหาทุกอย่างมนุษย์เป็นคนทำทั้งนั้น มนุษย์ก็ต้องแก้ได้ ถ้าเราคิดว่าเราจะยึดการเมืองเป็นอาชีพ ตรงนี้ เป็นอาชีพของเรา มันไม่ใช่ลีดเดอร์ชิป ตรงนี้เป็นที่เสียสละให้  ต้องมาแก้ปัญหาให้บ้านเมือง ทุกคนที่อยู่ก็ต้องการผู้นำที่ดีคนหนึ่ง” 

ในเวลาต่อมาเขาได้ตัดสินใจก่อตั้งพรรคไทยรักไทย พร้อมกับอาสาเป็น “ผู้นำ” ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยนำเสนอนโยบายที่ตอบสนองความต้องการประชาชนและมุ่งแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ.2544 โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น

Share on facebook
Share on twitter