Next Normal ความปกติใหม่ของโลกใบเดิม

Share on facebook
Share on twitter

“การที่จะไปหวังว่าโควิดจะหายไปจากโลก ไม่มีแล้ว ไม่มีหาย ยังอยู่ แต่อยู่แบบมียาป้องกัน เหมือนไข้หวัด แต่ถ้าเรายังกลัวอยู่ ยังวาดความกลัว ไม่กลับเข้าไปนิวนอร์มอล “ไพรซ์ ทู เพย์” สิ่งที่เสียหายเลยก็คือเศรษฐกิจ แล้วที่สำคัญคือฐานะของครอบครัว จะมีครอบครัวคนยากจนเยอะขึ้น เพราะคนยังตกงานมาก ทำมาหากินก็ลำบาก กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีน้อยเกินไป กว่าจะบูม กว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา ประเทศไทยอาศัยเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเยอะ ถึงแม้ว่าเราจะเปิดตัวได้เร็ว แต่กว่าจะตื่นตัวไปสู่นอร์มอลยังไม่ดีพอ เราต้องเร่งทั้งวัคซีน เร่งทั้งยา และเร่งสร้างบรรยากาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกติสักที”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร  |  CARE TALK 9 พฤศจิกายน 2564

คำกล่าวนี้คือข้อย้ำเตือนของอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวเอาไว้ผ่านเวทีคลับเฮาส์ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ชี้ให้เห็นว่า สภาวะปกติใหม่หรือนิวนอร์มัล (New Normal) กำลังจะมาถึง และทุก ๆ ฝ่ายที่ยังมีความหวาดกลัวในผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ต้องรีบเตรียมพร้อมในการรับมือ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่แรงงานหายออกไปจากระบบเกินร้อยละ 20 ในปีเดียว จากการล็อกดาวน์ และการนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้ามาใช้ ณ ขณะนี้ ทั่วโลกต่างทำใจยอมรับว่า ไวรัสโควิด 19 จะไม่มีวันหายไป และทางเลือกสุดท้ายที่ทุกคนมีคือการหาวิธีอยู่ร่วมกับมัน 

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการปรับตัวภายใต้ความเชื่อที่ว่า โควิด 19 จะไม่ให้ไปจากโลกใบนี้ จึงเริ่มปรับตัวเข้าสู่สภาวะนิวนอร์มอล เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับไวรัสตัวนี้ให้ได้ ควบคู่ไปกับการประคับประคองเศรษฐกิจ ไปจนถึงยกระดับเศรษฐกิจท่ามกลางไวรัสที่ยังไม่หมดไป ตัวอย่างเช่น กรณีของอินเดียที่แม้จะยังฉีดวัคซีนให้ประชากรไม่เกินร้อยละ 40 แต่ตัดสินใจเปิดประเทศเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ควบคู่กับการจัดการด้านสาธารณสุข ทางด้านประเทศสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุงได้ออกมายอมรับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมาแล้วว่าต้องเปิดประเทศ และยอมรับให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคท้องถิ่นไป เพื่อให้ธุรกิจและการค้าสามารถกลับมาเปิดทำการต่อได้  สอดคล้องกับประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ใช้วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ของตนเองเป็นจุดขายและเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเพื่อฉีดวัคซีนได้

ภูมิทัศน์ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทุกประเทศจะต้องเผชิญ คือ สภาวะความปกติใหม่ หรือสภาวะความเคยชินบางประการที่เกิดขึ้นในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด อาทิ การเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากตลอดเวลา ไปจนถึงวิถีการทำงานที่เปลี่ยนไป เช่น การทำงานโดยไม่เข้าสำนักงานหรือเวิร์กฟรอมโฮม การปรับเปลี่ยนระบบการสื่อสารภายในองค์กร ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการ ทั้งหมดนี้ได้พิสูจน์แล้วว่านอกจากจะสามารถลดความเสี่ยงด้านการติดเชื้อในสถานที่ทำงานแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางของพนักงาน ลูกจ้าง รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินการบริหารงานของบริษัทเองด้วย ทำให้ลักษณะงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติใหม่ขั้นตอนหนึ่ง

การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ (Technology Adoption) ในแต่ละบริษัทของต่างประเทศ มีให้เห็นเป็นตัวอย่างของสภาวะปกติใหม่ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การปรับตัวของบริษัทแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) แอร์บีเอ็นบี (Airbnb) และนาซ่า (NASA) หรือแม้แต่ทีมหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อลิซาเบ็ธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) และแอนดรู หยาง (Andrew Yang) ล้วนพยายามปรับรูปแบบการสื่อสารและจัดการภายในองค์กรใหม่ ด้วยการนำโปรแกรม Slack แพลตฟอร์มสำหรับสร้างห้องประชุมออนไลน์ และฐานข้อมูลบริษัท เข้ามาใช้จัดสรรระบบการสื่อสารในแต่ละแผนกงาน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้การทำงานทางไกลสามารถบูรณาการเข้าหากันได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางมาเจอกัน หรือใช้โปรแกรมและเครื่องมือที่ซ้ำซ้อนหลายชิ้นแบบในอดีต

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การปรับตัวของนิตยสารคินโฟล์ก (Kinfolk) บริษัทคอร์สเซรา (Coursera) และมายฟิตเนสพาล (myFitnesspal) ที่นำโปรแกรม แบมบูเฮชอาร์ (BambooHR) เข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดระบบฐานข้อมูลทรัพยากรบุคคล ทั้งเงินเดือน และแผนการพัฒนาบุคลากรเพื่อลดความถี่ในการเข้าสำนักงาน และการจัดประชุมที่ไม่จำเป็น แต่สามารถเพิ่มความคล่องตัว และอำนวยความสะดวกในการวางแผนของฝ่ายบุคคลได้มากขึ้น

“วันนี้นิวนอร์มอล หรือเน็กซ์นอร์มอล เป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกครอบครัว ไม่ต้องรอรัฐอย่างเดียว ทุกธุรกิจ เตรียมตัวกลับไปสู่จุดเดิมได้แล้ว และต้องไล่ตามเทคโนโลยี เพื่อที่จะปรับธุรกิจของตัวเอง ให้ทำมาหากินได้ดีกว่าเดิม”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร  |  CARE TALK 9 พฤศจิกายน 2564

การเข้าสู่สภาวะปกติในประเทศไทย กลับมีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สามารถรับมือกับสภาวะปกติใหม่ด้วยการผลักดันแพลตฟอร์มรับส่งอาหารโรบินฮู้ด (Robinhood) ขึ้นมาเพื่อรับส่วนแบ่งตลาดรับส่งอาหาร จากบริษัท แกร็บ (Grab) และไลน์แมน (Lineman) ส่วนในกลุ่มธุรกิจโรงแรมเองก็พยายามปรับตัวด้วยการผลักดันแพ็กเกจการท่องเที่ยวแบบสเตย์เคชัน (Staycation) เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกลุ่มวัยทำงานที่ต้องการเปลี่ยนสถานที่ค้างแรม ส่วนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ก็ปรับตัวด้วยการผลักดันแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายออนไลน์ของตัวเอง เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าเดิม และประคองรายได้ของธุรกิจในเครือไว้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของช่วงเวลาปกติ

ผู้ที่สามารถปรับตัวได้ล้วนแต่เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ส่วนธุรกิจรายย่อย และภาคประชาชนต้องปรับตัวและสร้างนวัตกรรมเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกันและกัน  เห็นได้จากการสร้างกลุ่มเฟซบุ๊คเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากัน เช่น มาร์เก็ตเพลสที่อาศัยความเป็นศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันของแต่ละมหาวิทยาลัยในการสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อีกกรณีหนึ่งคือการปรับตัวจากการค้าขายในตลาดนัดและห้างสรรพสินค้ามาสู่การขายผ่านช่องทางออนไลน์ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อาทิ ช็อปปี้ (Shopee) และลาซาด้า (Lazada) ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสถิติการขนส่งเอกชนอย่างบริษัทเคอร์รี่ (Kerry) แฟลช (Flash) หรือนินจา (Ninja) ที่ปรับตัวขึ้นกว่าร้อยละ 10

เมื่อพิจารณาการเข้าสู่นิวนอร์มอลอย่างมีประสิทธิภาพของต่างประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่า ความแข็งแรงของภาคเอกชน ที่ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐบาล ในการร่วมกันก้าวเข้าสู่นิวนอร์มอลไปพร้อมกัน ทั้งเชิงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข จะช่วยวางรากฐานนโยบายเพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนสามารถปรับตัวเข้าสู่สภาวะดังกล่าวได้ในระยะยาว ประเทศไทยสามารถศึกษาจากกรณีศึกษาเหล่านี้เพื่อสร้างการปรับตัวก้าวเข้าสู่สภาวะนิวนอร์มอลในไทย เพราะโจทย์ข้อสำคัญของโลกในวันนี้ คือ เราต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถอยู่กับไวรัสโควิด 19 ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ลดความเสียหายในชิงเศรษฐกิจ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยระบบสาธารณสุขให้กับคนในประเทศ

บทความโดย : กองบรรณาธิการ Thaksin Official Website