e-Learning สังคมแห่งการเรียนรู้

Share on facebook
Share on twitter

       ดร.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรี มองว่า โลกใบนี้เป็นโลกที่ไร้พรมแดน คนรุ่นใหม่จะต้องมีความรู้ 3 อย่าง คือ ความรู้ในอินเทอร์เน็ต,ภาษาอังกฤษ และวัฒนธรรมนานาชาติ  ซึ่งเขาเคยพูดไว้ในปี 2545 

17 ปีหลังจากนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรู้ 3 อย่างที่เขาเคยพูดไว้ จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน นับตั้งแต่ที่ชินวัตร คอมพิวเตอร์  สามารถประมูลโครงการดาวเทียมไทยคมได้ในปี 2533 เป็นต้นมา พลวัตรของประเทศไทยหลายด้านได้เปลี่ยนไป เพราะดาวเทียมชื่อนี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทยไปโดยสิ้นเชิง และเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นเมื่อเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก 

หนึ่งในโครงการที่เปลี่ยนชีวิตคนไทยคือ โครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม  ดาวเทียมไทยคมทำให้คนไทยที่อยู่ห่างไกล ได้เข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่าเทียมกับผู้คนในเมือง ด้วยต้นทุนที่แทบจะเป็น 0 บาท  นักเรียน นักศึกษาไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง เพื่อเข้าถึงเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทันสมัย โครงการ e-Learning เป็นการเรียนรู้แบบออนไลน์ผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต  เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองตามความสามารถและความสนใจ โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ (Anywhere-Anytime Learning)  เนื้อหาบทเรียนประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอและมัลติมีเดียอื่นๆ จะถูกส่งไปยังผู้เรียนผ่าน Web Browser โดยผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้  เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ โดยใช้ e-mail, webboard, chat 

“หากความรู้เป็นกุญแจไปสู่การพัฒนาและการบรรลุเป้าหมายของเรา เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็คือหัวใจของการพัฒนาความรู้นั้น” 

เขาเชื่อว่า ถ้าคนไทยมีความเข้าใจขั้นพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จะสามารถค้นพบสิ่งใหม่ๆ ได้  และโครงการ e- Learning ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลนั้น แตกต่างจากในอดีต ประชาชนศึกษาแขนงวิชาของใครของมันแล้วใช้สิ่งที่ศึกษาไปตลอดชีวิตที่เหลือ  แต่ปัจจุบัน การศึกษาในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นเพียงบทเริ่มต้น 

ในช่วงที่ ดร.ทักษิณ เป็นนายกฯ  เขาได้พยายามผลักดันให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต เขาสนับสนุนการศึกษาและส่งเสริมความเท่าเทียมทางการศึกษาผ่านการมอบนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษาไปยังกระทรวงศึกษาธิการ  จนประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม 4th ASEAN Telecommunications and IT Minister Meeting (Telmin) ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ปี 2547

“สังคมแห่งฐานความรู้ หมายถึง พลังความคิด เป็นการมองไปข้างหน้าถึงยุคที่คุณค่าของคนอยู่ที่ศักยภาพทางสติปัญญา  มากกว่าวัตถุที่ครอบครอง ผู้คนให้คุณค่ากับการเรียนรู้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ไม่จำกัดเฉพาะในโรงเรียน  เป็นการเรียนรู้ตลอดทั้งชีวิต”

ในยุคปัจจุบัน ความสำเร็จไม่ได้ขึ้นกับว่าเรารู้อะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถหาข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับงานเบื้องหน้าได้เร็วแค่ไหนต่างหาก ดร.ทักษิณ ได้สร้างพื้นฐานการใช้งานด้านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสังคมแห่งความรู้ไว้อย่างเป็นระบบแล้ว  โครงการ e-Learning มีผู้สานต่อ นำโครงการบรรจุไว้ในสถาบันการศึกษาทั้งในระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย  เป็นหนึ่งในวิธีการที่เขาสร้างความเท่าเทียมด้านการศึกษาให้กับประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Share on facebook
Share on twitter