การเรียนรู้สร้างชีวิต การศึกษาสร้างความสำเร็จ

Share on facebook
Share on twitter

       การศึกษา” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับ เด็กและเยาวชน เพราะประชากรที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนเหล่านี้จะก้าวขึ้นมารับภาระในการเป็นกำลัง แรงงานและมันสมองสำหรับขับเคลื่อนประเทศชาติในอนาคต

“พีระมิด ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการเริ่มต้นจากส่วนบน เพราะฉะนั้นการซ่อมแซมพีระมิด ก็ไม่สามารถที่จะทำจากบนลงล่างได้” 

การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมเพื่อให้สามารถฝ่าฟันทุกอุปสรรคต่างๆ ได้โดยง่าย ต้องวางรากฐานที่แข็งแกร่งไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม และถ้าต้องการให้อนาคตของประเทศชาติมีความเป็นเลิศในทุกด้าน ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มตั้งแต่รากฐานเรื่อง “การศึกษา” ของเยาวชน หลังการเลือกตั้ง ในปี 2544 ซึ่งพรรคไทยรักไทย ได้รับชัยชนะในเลือกตั้ง และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล  นโยบายและโครงการต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาได้ถูกให้ความสำคัญ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการศึกษาอย่างมากมาย

วันที่ 28 มีนาคม 2544  ดร.ทักษิณ ชินวัตรได้กล่าวระหว่างร่วมประชุมเรื่องการปฏิรูปการศึกษาวาระแห่งชาติ ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) ว่า “ถึงแม้จะไม่ใช่นักการศึกษา แต่ก็ชอบการศึกษา และคิดว่าการศึกษาทำให้เรามีความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา ชีวิตที่ประสบความสำเร็จมาจากการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาทำให้มีสติแก้ไขปัญหาได้ และรู้จักสำรวจตัวเองทำให้ไม่พลาด การที่ประกาศไทยเป็นนิติรัฐ คือ ทำทุกเรื่องโดยอิงกฎหมาย นำกฎหมายเป็นตัวนำทาง อยากให้มองกฎหมายเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกให้เราทำทุกอย่างด้วยความถูกต้อง แต่ไม่ใช่ให้นักกฎหมายมากำหนดการศึกษา นักการศึกษาต้องทำเรื่องการศึกษา ที่ผ่านมาเราเรียนหนังสือแบบตีความตามกฎหมาย ต้องการได้ปริญญาไม่ได้นำความรู้เพื่อสร้างชีวิต ดังนั้นอยากให้มีความคิดที่หลุดออกจากกรอบเดิมๆ ไม่ใช่นำคติหรือกรอบเดิมเป็นตัวตั้ง”   

ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า “ผมเป็นคนชอบใช้จินตนาการในการพูด และมองว่าปัญหาในขณะนี้มี 2-3 ส่วน คือ การที่เด็กไปโรงเรียน ไม่ใช่ไปเพราะอยากเรียนรู้ แต่ไปเพราะอยากพบเพื่อน จึงทำให้เกิดความเครียด ทำให้นำไปสู่ปัญหายาเสพติด เนื่องจากการศึกษามีปัญหาเป็นการคิดแบบตั้งรับมานาน ทำให้การผลักดันการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องยาก ซึ่งจะต้องปรับในเชิงรุก ไม่เช่นนั้น เราจะจมอยู่กับระบบและสภาพเดิมๆ อยากให้ปรับโดยให้เด็กนักเรียนเป็นองค์รวม และครูต้องทำตัวเป็นผู้ถ่ายทอดที่ดี”   

คำกล่าวนี้ชี้ให้เห็นว่า การศึกษาไม่ใช่เพียงการเรียนในห้องเรียนหรือการเรียนแต่เฉพาะในตำราเท่านั้น แต่จะต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อสร้างชีวิต และจะต้องเป็นการเรียนรู้ชีวิตเพื่อให้สามารถนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาสังคมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติดในหมู่เยาวชนที่เป็นปัญหาอย่างหนักมายาวนาน  

ดังนั้นในช่วงที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงเกิดการปรับเปลี่ยนทิศทางในด้านของแนวนโยบายด้านการศึกษาครั้งใหญ่ที่น่าสนใจ พร้อมๆ ไปกับการแก้ไขปัญหาสังคมด้านต่างๆ สำหรับเยาวชนอย่างชัดเจน ทั้งนโยบายการพัฒนาครูรูปแบบใหม่ที่เรียนรู้ควบคู่ไปกับเด็กนักเรียน และการยกเลิกระบบท่องจำ และลดการกวดวิชา เพื่อให้เด็กได้มีเวลาสำหรับการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์อื่นๆ และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือการสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้ทำงานนอกเวลาเรียน รวมถึงในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เกิดการหารายได้แบ่งเบาภาระครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ ได้ความภาคภูมิใจ เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากการทำงาน ซึ่งเป็นความพยายามเสริมสร้างวัฒนธรรมการดูแลลูกให้กับพ่อแม่ และปรับเปลี่ยนแนวคิดการใช้ชีวิตเด็กนักเรียนเองครั้งสำคัญ

หลังเริ่มโครงการเพียงไม่กี่วัน ในปี 2547 ก็ได้รับการตอบรับจากทั้งนักเรียนนักศึกษา ประชาชน และภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง โดยมีนักเรียนนักศึกษาลงทะเบียนร่วมโครงการทำงานช่วงปิดเทอม ผ่านกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานมากกว่า 254,000 คน โดยภาคเอกชนและกระทรวงแรงงานก็ได้ร่วมมือกันจัดหาตำแหน่งงานว่างเพิ่มเติมอีกนับหมื่นตำแหน่ง ทั้งหมดล้วนเป็นแนวทางที่การสนับสนุนและเสริมสร้างเยาวชนตามแนวทางการเรียนรู้เพื่อสร้างชีวิตเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจน พร้อมกับนโยบายเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชน ด้วยโครงการสำคัญอื่นๆ เช่น  1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษาที่เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี แต่ฐานะยากจนได้มีโอกาสไปศึกษาต่อและเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตในต่างประเทศ ซึ่งริเริ่มและผลักดันจนเป็นผลสำเร็จครั้งแรกในปี 2547 และยังดำเนินการมาจนถึงทุกวันนี้ 

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เล่าเอาไว้ถึงประโยชน์ของการส่งเสริมให้เยาวชนได้ เรียนรู้ชีวิต โดยชี้ให้เห็นว่ามีความสำคัญพอๆ กับที่ทุกคนจำเป็นจะต้องมีความรู้ ซึ่งตัวเขาเองก็สนับสนุนบุตรธิดาให้เรียนรู้ชีวิตและเข้าใจสังคมไปพร้อมกับการศึกษาหาความรู้ด้วย  

“ผมคิดว่าคงไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าเรื่องของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมไทย เรื่องการรู้จักชีวิต เข้าใจสังคมเป็นเรื่องสำคัญ ความรู้นั่นเป็นเรื่องที่จำเป็นของชีวิตปัจจุบันอยู่แล้ว ผมอยากให้เขาเข้าใจชีวิต เข้าใจเพื่อนมนุษย์ เข้าใจสังคม”

Share on facebook
Share on twitter