หัวลำโพง มูลค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีมูลค่าเกินกว่าจะรื้อถอน

Share on facebook
Share on twitter

“หัวลำโพงนี่ ผมเก็บไว้แน่นอน เพราะหาไม่ได้อีกแล้ว จะสร้างใหม่อย่างงี้ก็สร้างไม่ได้ แล้วมันเป็นสิ่งที่เราสร้างให้มันมีคุณค่าได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เอามันเป็นที่จัดแฟชั่นของคนไทย มันศูนย์ Soft Power ได้ ศูนย์ Creative Economy ได้สบาย"

ดร.ทักษิณ ชินวัตร | Care Talk : วันที่ 23 พ.ย. 2564

การพัฒนาเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 20 อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องจักร โรงงาน และตึกระฟ้า แต่สำหรับศตวรรษที่ 21 ที่การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมถึงจุดอิ่มตัวแล้ว สิ่งที่จะก้าวเข้ามาแทนที่จึงเป็นการสร้างผลผลิตจากความสร้างสรรค์ (Creative economy) ด้วยการนำประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า ภาษา และวิถีชีวิตมาใช้เป็นเครื่องมือเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า เพื่อสร้างเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) หรืออำนาจโน้มนำรูปแบบใหม่ให้แก่ประเทศ  

เมืองใดก็ตามที่สามารถดึงเรื่องเล่าและพลวัตทางประวัติศาสตร์ของตนเองมาใช้เป็นจุดขายให้แก่นักท่องเที่ยวร่วมกับระบบโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่ได้ ก็จะช่วยให้เมืองแห่งนั้นมีมิติและชีวิตได้มากกว่าแค่การเป็นศูนย์รวมของตึกระฟ้า กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร คือ ตัวอย่างที่ดีของคำจำกัดความดังกล่าว 

ปัจจุบันลอนดอนไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางทางการเงิน (Financial hub) ที่สำคัญของโลกแต่ยังเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมระดับแนวหน้าของยุโรป (Creative hub) ทั้งพิพิธภัณฑ์เททโมเดิร์น (TATE Modern) อดีตโรงผลิตไฟฟ้าเก่าที่ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย  โรงละครโอเปรา (Royal Opera House) ที่โคเวนต์การ์เดน หรือแม้แต่สถานีรถไฟคิงส์ครอสส์ (King’s Cross) สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์แฮร์รี่พอตเตอร์ (Harry Potter)

ครีเอทีฟฮับ (Creative hub) ไม่จำเป็นจะต้องเป็นมหาวิทยาลัย ห้องสมุด หรือองค์กรรัฐบาล แต่เป็นพื้นที่สำหรับให้ทุกคนสามารถมารวมตัวเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ และแนวคิด นวัตกรรมรูปแบบใหม่ สำหรับการขับเคลื่อนปัญหาสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจัยข้อนี้ คือ ความสำเร็จของลอนดอน ที่ช่วยสร้างรายได้จากความสร้างสรรค์มากถึงปีละกว่า 2,000,000,000,000 บาท และมีอัตราส่วนของประชากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมศิลปะ เพิ่มขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 20

แตกต่างจากกรุงเทพ ในปี 2021 ที่มีอัตราการขยายตัวของพื้นที่ใช้สอยแนวตั้งความสูงเกินกว่า 23 เมตร เช่น คอนโด สำนักงานเช่า หรืออาคารเอนกประสงค์ ในอัตราเฉลี่ยถึง 59 แห่งต่อปี รวมกว่า 1,700 แห่ง ในห้วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ แต่กลับมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างอาคารโบราณ และพิพิธภัณฑ์ เพียงไม่เกิน 195 แห่ง และมีแนวโน้มจะลดลงในอนาคต จากแผนการสั่งปรับปรุงสถานีรถไฟหัวลำโพงภายในเดือนพฤศจิกายน 2021 นี้

แม้ว่าสถานีรถไฟหัวลำโพงจะยังไม่ได้รับสถานะพิพิธภัณฑ์ แต่ด้วยประวัติศาสตร์และคุณค่าของสถานีดังกล่าวที่เคยเป็นทั้งศูนย์กลางการขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟที่ใหญ่ที่สุด ออกแบบเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมเรอเนสซอง คล้ายสถานีรถไฟเมืองแฟรงค์เฟิร์ต เยอรมนี บันไดและเสาอาคารถูกสร้างด้วยหินอ่อน มีเพดานไม้สักสลักลายนูนหายาก อีกทั้งยังเป็นประตูเมืองเก่าที่ใช้ขับเคลื่อนคนในพื้นที่วัฒนธรรมเก่าแก่ เช่น เยาวราช พระราชวัง เกาะรัตนโกสินทร์ เข้ากับพื้นที่เมืองใหม่ เช่น สีลม บางซื่อ สาทร ผ่านสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) เหมือนจุดเชื่อมโยงของวิถีชีวิต การเดินทาง การค้าขายและความหลากหลายในเมืองกรุงเทพที่มาบรรจบกัน

คุณค่าทางประวัติศาสตร์ และความเป็นมาเหล่านี้ มีมูลค่าเกินกว่าที่จะให้รัฐเข้ามารื้อถอน แล้วปล่อยให้โอกาสในการพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของกรุงเทพนี้ถูกทำลายลงไป หากกรุงเทพต้องการวางรากฐานให้ตนเองเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ที่สามารถสร้างระบบนิเวศความสร้างสรรค์ (Creative ecosystem) พร้อมไปกับเมืองที่ทันสมัยไว้สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวเทียบชั้นกับลอนดอน การพัฒนาในมิติประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมจะต้องได้รับการขับเคลื่อน และความสนใจให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับสถานที่ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต ศิลปะและชุมชนดั้งเดิม อย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง

“ตรงนี้เอาคืนมาให้เป็นสมบัติของประชาชน จะได้ใช้เป็นศูนย์ Soft Power เป็นศูนย์ส่งเสริมความรู้ของประชาชน ศูนย์มั่วสุมของคนรุ่นใหม่อย่างสร้างสรรค์ น่าจะใช้ให้เป็นประโยชน์”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร | Care Talk : วันที่ 23 พ.ย. 2564

บทความโดย กองบรรณาธิการ Thaksin Official