มูลนิธิไทยคม คนไทยช่วยชาติได้โดยไม่ต้องเป็นรัฐบาล

Share on facebook
Share on twitter

ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2508

ดร.ทักษิณ เป็นหนึ่งในอดีตนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอันดับต้น คำพูดแรกๆ ที่ ดร.ทักษิณพูดหลังดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารในปี 2544 คือคำประกาศว่า “การพัฒนาด้านการศึกษาเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของประเทศ เพราะการศึกษาเป็นที่มาของทุนทางปัญญา(**1)

 

สำหรับ ดร.ทักษิณ การพัฒนาการศึกษาคือภารกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้นเสมอ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๒ สมัย คือโอกาสที่ทำให้ ดร.ทักษิณผลักดันนโยบายและโครงการการศึกษาจำนวนมาก  และต่อให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความมุ่งมั่นของ ดร.ทักษิณ เรื่องนี้ก็ไม่ได้ลดน้อยลง

 

ในฐานะนักธุรกิจไทยที่ถูกยกย่องว่ามีวิสัยทัศน์เทียบเท่าผู้นำระดับโลก  ดร.ทักษิณ ก่อตั้งมูลนิธิไทยคมใน พ.ศ.2536 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคนและระบบการศึกษาสู่การเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ ส่วนเป้าหมายของมูลนิธิได้แก่การสนับสนุนเด็กและเยาวชนในชนบทอย่างชัดเจน

 

มูลนิธิไทยคมทำงานสร้างโอกาสให้เด็กๆ รวมทั้งมอบทุนการศึกษาและพัฒนากีฬาเหมือนมูลนิธิอื่นทั่วไป  แต่งานที่ทำให้มูลนิธิไทยคมเป็นที่รู้จักที่สุดคือการร่วมมือกับมูลนิธิศึกษาพัฒน์ทำโครงการเรียนทางไกล (Distance Learning) และส่งเสริมการศึกษาแบบ Constructionism โดยวิจัยร่วมกับ MIT Media Lab ของมหาวิทยาลัยMassachusetts Institute of Technology จากสหรัฐอเมริกา

 

ปรัชญาการศึกษาของ ดร.ทักษิณ ที่แสดงออกผ่านมูลนิธิไทยคมคือการสร้าง “ระบบ” ที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (**2) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่สังคมไทยเผชิญวิกฤติการณ์การเงิน พ.ศ.2540 จนบริษัทห้างร้านต่างๆ ปิดตัวและประชาชนตกงานแบบไม่ทันตั้งตัว

 

ในช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนยากลำบากเพราะประเทศแทบล้มละลาย  ดร.ทักษิณ  ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจประสานงานกับนักธุรกิจต่างชาติ นักลงทุนและบุคคลระดับแกนนำรัฐบาลประเทศต่างๆ เชิญชวนให้พบปะนักธุรกิจไทยและรัฐบาลไทยเพื่อเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย **3) 

 

วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ดร.ทักษิณ ปรับบทบาทของมูลนิธิไทยคมเป็นองค์เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองโดยมอบทุนการศึกษาแก่บุตรหลานประชาชน

 

มูลนิธิไทยคมทำโครงการไทยคมเพื่อการศึกษาของเด็กไทยในเดือนเมษายน พ.ศ.2541 หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ดร.ทักษิณ ในฐานะประธานโครงการฯ ได้จัดสรรทุนการศึกษากว่า 30 ล้านบาท ให้นักเรียนัธยมศึกษาทั่วประเทศโดยแบ่งเป็นทุนการศึกษาละ 1,500 บาท จำนวน  20,000 ทุน(**4)

 

ดร.ทักษิณระบุว่าโครงการนี้มีแรงบันดาลใจจากความทุกข์ของประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ที่วิกฤตเศรฐกิจทำให้ว่างงานและประสบปัญหาค่าใช้จ่ายการศึกษาของบุตรหลาน จนเด็กๆ ส่วนหนึ่งอาจต้องพักการเรียน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งรัดบรรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าขั้นต้น (**5)

 

ดร.ทักษิณ อธิบายความสำคัญของการศึกษาและการยื่นมือเข้าช่วยเยาวชนคนไทยในครั้งนั้นเอาไว้ว่า “ในยามที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ถ้าวันนี้การศึกษา การพัฒนาคนเรามีปัญหา วันนั้นเราจะไม่สามารถลุกขึ้นยืนแข่งขันกับใครได้” 

 

ด้วยคำพูดนี้ ดร.ทักษิณ ไม่เพียงแต่มองเห็นแค่ปัญหาที่ก่อตัวขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังมองลึกลงไปเห็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ ต้องประสบปัญหาด้านการศึกษา ในขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ

 

สำหรับ ดร.ทักษิณ การกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ และการจัดสรรความช่วยเหลือประชาชนโดยตรงคือมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพื้นฐาน สำหรับรองรับการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกันบนความร่วมมือร่วมใจระหว่างประชาชน

 

ดร.ทักษิณ ระบุว่า

“ถ้าต้องการช่วยชาติ คนไทยทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนช่วยได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นรัฐบาล เป็นใครก็ได้ ถ้าทุกคนร่วมแรง ร่วมใจ คนละไม้คนละมือ บ้านเราก็จะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คิด”  (**3) 

 

 

 

 

 

อ้างอิง

**1มอบนโยบายด้านการศึกษาในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ในวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ.2544

**1 – หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 10 เมษายน 2551 หน้าที่ 2

**2 – หนังสือ “ทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน” ; พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2558 ;  หน้า 84 และ 86

**3 – หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 5 มิถุนายน 2541 หน้าที่ 15

**4 – หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 23 เมษายน 2541 หน้าที่ 10

**5 – หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ 27 เมษายน 2541 หน้าที่ 15

 

 

Share on facebook
Share on twitter