Thaicom ดาวเทียมเพื่ออนาคตของคนไทย

Share on facebook
Share on twitter

       บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ จำกัด  ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 เป็นไปตามความชื่อชอบของ ดร.ทักษิณที่ผูกพันกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาตั้งแต่เป็นเด็ก  จากการปลูกฝังความชอบโดยไม่รู้ตัวของคุณพ่อเลิศ ที่นำของเล่นใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้เห็นที่ไหน มาให้ลูก ๆ ได้ลองเล่นเสมอ  

ทุกก้าวของ ดร.ทักษิณ เต็มไปด้วยการคิดใหม่  และการก้าวไปข้างหน้า มองเห็นแค่คำว่า “อนาคต”   ทำให้ประเทศไทยกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศเล็ก ๆ ที่ก้าวนำหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้  

Thaicom  ดาวเทียมเพื่อการสื่อสารดวงแรกของประเทศไทย ทะยานขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 17 ธันวาคม 2536  จากเฟรนช์กายอานา ประเทศฝรั่งเศส เป็นโครงการที่บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคมในปี พ.ศ. 2534  

 “ผมคิดล่วงหน้า” กว่าจะได้มาถึงจุดที่ประเทศไทยมีดาวเทียมได้  ไม่ใช่เพียงประโยคสั้นๆ คำเดียว แต่เกิดจากการขออนุมัติจากภรรยา คุณหญิงพจมาน  เพราะต้องใช้เงิน 8,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต 

ย้อนกลับไปในปี 2528  กระทรวงคมนาคมเปิดสัมปทานดาวเทียมดวงแรกของประเทศไทย  ถึง 2 ครั้ง มีเอกชนเสนอเข้าร่วมประมูล 3 ราย และ 5 ราย ในครั้งแรกข้อเสนอของเอกชนไม่ตรงเงื่อนไข จึงยกเลิกไป  และเปิดการประมูลใหม่อีกรอบ แต่เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม โครงการนี้จึงถูกยกเลิกไป และถูกฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในปี 2533  มูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท มีผู้เสนอเข้าร่วมการประมูล 5 ราย ครั้งนี้ ชินวัตร คอมพิวเตอร์ ร่วมประมูลกับอีก 4 บริษัท ทั้ง ไทยแสท, โมดูลาร์ ,แอซตรา คอมแส็ท และวาเคไทย   

กลุ่มชินวัตร  เสนอผลประโยชน์ให้รัฐ 15.33% ตลอดอายุสัมปทาน  และประกันผลกำไรขั้นต่ำไว้ 1,350 ล้านบาท เป็นผลประโยชน์สูงสุดให้รัฐ 

ดาวเทียมไทยคม 1A  ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536

ดาวเทียมไทยคม 2    ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2537

ดาวเทียมไทยคม 3   ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2540

ช่วงที่การส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้ 2 ดวง   การใช้ประโยชน์ของดาวเทียมเริ่มต้นที่การศึกษา ครอบคลุม 3 ประเภท คือการศึกษาทางไกลตามหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน,การศึกษาในระบบโรงเรียน เน้นวิชาที่ยากและขาดแคลนผู้สอน และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นข้อมูลข่าวสารและการศึกษาที่ส่งเสริมการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน   

การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ในวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2538 โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม Distance learning foundation (DLF) มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ควบคุมดูแล  และยังมีโครงการสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม , สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม หรือ Distance learning Television (DLTV) ในปี 2539 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9    ทรงครองสิริราชสมบัติครบรอบ 50 ปี   

รายการที่สร้างความฮือฮา และยังเป็นรายการยอดนิยมของนักเรียนและนักศึกษาสมัยนั้นจากการใช้ประโยชน์ของดาวเทียมไทยคมคือ รายการภาคภาษาอังกฤษ ทางช่อง 81-95 (UBC) เป็นการเรียนภาษาอังกฤษผ่านหน้าจอทีวีครั้งแรกของประเทศไทย  ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 

บ้านไหนติดตั้งดาวเทียมระบบ KU Band รับชมได้ฟรี  และรับชมผ่านระบบ CATV ระบบโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลซีในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  รับชมรายการได้ 7 ช่องและต้องเสียค่าบริการรายเดือนกับบริษัทเคเบิลทีวีที่ให้บริการ  การเรียนภาษาอังกฤษผ่านหน้าจอทีวีในช่วงนั้น เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นของเด็กต่างจังหวัดที่สุด  เพราะให้ความรู้สึกเหมือนได้เข้าคลาสติวอย่างที่เด็ก ๆ ในเมืองหลวงทำกัน พวกเขารู้สึกได้ถึงช่องว่างแห่งความแตกต่างที่ลดลง  

ในช่วงชีวิตวัยเด็ก  ช่วงที่เรียน ป.1 ที่โรงเรียนประชาบาลที่สันกำแพง จนจบ ป.3 พ่อ-แม่ของเขามีความคิดอยากให้เรียนภาษาอังกฤษแต่เล็ก  เพื่อให้ทัดเทียมเด็กในเมือง เขาถูฏย้ายไปเรียนต่อชั้น ม.5 ที่มงฟอร์ตซึ่งเป็นโรงเรียนคาทอลิก แต่กลับถูกให้เรียนซ้ำชั้น ป.3 เนื่องจากมงฟอร์ดเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ ป.1 บราเดอร์กลัวเขาเรียนไม่ทันเพื่อน  แต่ความหวังดีครั้งนั้น สร้างความอายให้เขามาจนโต เหมือนถูกลงโทษ เพราะเขาเป็นคนเรียนดีมาตลอด เพียงแค่ความไม่เท่าเทียมกันในระบบการศึกษา

“เมื่อผมมีโครงการดาวเทียมไทยคม  ผมจึงคิดที่จะใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา  ถมช่องว่างระหว่างเด็กในเมืองกับชนบท และผมก็เลือกโรงเรียนประชาบาลสันกำแพงที่ผมไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษ  เป็นศูนย์ของเชียงใหม่”

เราอาจได้ยินคำว่า “ผู้มาก่อนการณ์”  แต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน   เราอาจจะได้เห็นการมาก่อนกาลของ ดร.ทักษิณ  ทุกอย่างเป็นไปเพื่ออนาคตของประเทศ จนกลายมาเป็นปัจจุบันของคนไทยในวันนี้ 

Share on facebook
Share on twitter