“ผู้นำ” ในนิยามของ ดร.ทักษิณ

Share on facebook
Share on twitter

ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ดร.ทักษิณ ทำงานเชิงรุกตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งสำคัญนี้ 

ทุกครั้งที่เขาได้หารือข้อราชการกับทีมงาน ซึ่งประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง  ข้าราชการทั่วประเทศ  ดร.ทักษิณ มักจะขอให้ทุกคนที่ทำงานร่วมกัน  “คิดนอกกรอบ” และควรเปิดมุมมองการทำงานของทุกคนให้กว้างขึ้น  หลายมิติมากขึ้น  ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ไม่มีเรื่องใดที่ผิดหรือถูก  ตราบใดที่ข้อคิดเห็นนั้นมีประโยชน์

แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรี  หน้าที่หลักคือการบริหารประเทศ  มีที่นั่งทำงานหลักอยู่ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  แต่สถานที่ทำงานส่วนใหญ่ของเขากลับไม่ใช่ที่นั่น

เวลาส่วนมากของเขาถูกทุ่มเทไปกับการลงพื้นที่ทำงานร่วมกับข้าราชการทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  เขาไปร่วมประชุม หารือ บรรยายพิเศษให้กับ “ทีม”  

ทีมของ ดร.ทักษิณ  คือ ข้าราชการทุกภาคส่วน เรื่อยไปจนถึงการบรรยายในสถานศึกษา  ไม่ใช่การบรรยายให้เหล่าครูอาจารย์ฟังเท่านั้น  แต่คือการเข้าไปถึงห้องเรียนเพื่อบรรยายพิเศษให้กับนักเรียนในหลายระดับชั้น

เดือนพฤศจิกายน ปี 2545    ดร.ทักษิณ บรรยายพิเศษให้กับนักเรียนโรงเรียนผู้นำและสมาชิกสภาอุตสาหกรรม ที่สถาบันฝึกอบรมผู้นำ มูลนิธิพลตรีจำลอง ศรีเมือง ต.พุประดู่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี  แม้คนในห้องจะเป็นเยาวชนและผู้นำชุมชนเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่เขาบรรยายนั้น เสมือนการเตรียมความคิดของทุกคนให้พร้อม เพื่อให้เกิดภาวะผู้นำที่ต้องอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไป เช่น การนอนในมุ้ง  บ้านมุงจาก หรือกระต๊อบ  ท่ามกลางป่าเขา ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ  นอกจากห้องน้ำ และที่นอนฟูกธรรมดา ความหมายที่แฝงในนั้นคือ ผู้นำจะต้องอดทนต่อทุกสภาพแวดล้อมได้

เขาได้เล่าถึงคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ไม่ใช่ผู้นำที่มีพลังทำงานเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องใช้หลักธรรมผนวกผสมเข้ากับความคิดเพื่อความก้าวหน้า  เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่หมุนไปทุกวันด้วย

“การเป็นผู้นำต้องไม่ยึดติด อย่าเกิดกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ  มีสติ ปัญญา เมื่อทำผิดก็ไม่พลาดมาก  ที่สำคัญต้องปล่อยวาง มีความสร้างสรรค์ และคิดนอกกรอบ”

เขาเห็นด้วยกับทฤษฎีของ ดร.เดอร์โบโน่  ที่ระบุไว้ว่า หากไม่มีใครกล้าคิดนอกกรอบ จะทำให้เราจมอยู่กับเรื่องเดิม ๆ ดังนั้นในการบริหารงาน  ดร.ทักษิณ จะนำทีม Operation Research เข้ามาช่วยดูเนื้อหาและต้นตอของสิ่งที่อยากจะแก้ไขหรือขับเคลื่อน  เนื่องจากทีมนี้ประกอบไปด้วยคนหลากหลายทางวิชาการ ที่สามารถแชร์ความคิดเห็นหลาย ๆ ด้าน  เป็นการมองต่างมุมของผู้เชี่ยวชาญหลายคน  เมื่อหันหน้าเข้าหากันแล้ว จะได้ตรงกลางที่เป็นการมองทั้งระบบได้อย่างลงตัวและรอบด้าน

“ความสามารถของผู้นำ คือความสามารถในการปลดปล่อยพลังสมองของคนในองค์กร ยิ่งปลดปล่อยพลังสมองได้มากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผู้นำที่สำเร็จ  เพราะสมองของผู้นำคนเดียว ไม่เพียงพอกับการแก้ปัญหา ต้องใช้สมองของคนทั้งองค์กร”    

อีกเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดถึงการปลูกฝังแนวคิดของความเป็นผู้นำในแบบของ ดร.ทักษิณ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของทีมเป็นหลัก และการมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้ถูกนำมาใช้ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  และก่อตั้งแนวคิด “ผู้ว่า CEO” ขึ้น

ผู้ว่าราชการจังหวัด คือชื่อจริง ส่วนผู้ว่า CEO คือชื่อเล่นที่ ดร.ทักษิณ ตั้งขึ้น เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ทำหน้าที่ในบริบทที่ต่างไปจากเดิม  สิ่งที่สำคัญของแนวคิดนี้  คือการบริหารงานที่ไม่กระจุกอยู่ที่คน ๆ เดียวเสมอไป  ต้องปรับกระบวนการทำงานใหม่อีกครั้ง  โดยผู้ว่า CEO จะต้องไม่รอรับคำสั่งจากส่วนกลางแล้วจึงค่อยทำงาน   และให้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็น ‘ประธานคณะผู้บริหารของจังหวัด’  มีหน้าที่บริหาร วางแผน คอยติดตามงาน และคอยให้กำลังใจทีมงานอย่างแข็งขัน

“การบริหารงานแบบผู้ว่าฯ CEO ต้องการเห็นเจ้าภาพที่มองทุกตารางนิ้วในการกำกับดูแลของตัวเอง  เป็นภารกิจหน้าที่ที่ต้องดูแลจัดการแก้ไข ป่าไม้ถูกทำลาย  บอกว่าไม่รู้เรื่องเพราะอยู่ไกล  คำตอบอย่างนั้นไม่ใช่คำตอบของโลกยุคใหม่”

ความสำคัญของผู้นำในทุกระดับ จะต้องเป็นคนที่มีความรอบรู้ในทุกด้าน เนื่องจากโลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกของการหลั่งไหลของข่าวสาร  ทุกคนมีความรู้เทียบเท่ากันหมด ดังนั้นหากผู้นำในโลกยุคนี้กล่าวขึ้นว่า “ไม่รู้” อาจจะทำให้องค์กรมีความสั่นไหว

“การเป็นผู้นำต้องเข้าใจและตามทันคำว่า Globalization คือยุคที่มี Free flow มีการไหลอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร  เพราะฉะนั้นอะไรเกิดขึ้นที่ประเทศไทยเดี๋ยวนี้  รู้ไปทั่วโลก เรื่องใหญ่ ๆ รู้ไปทั่วโลก อะไรเกิดขึ้นทั่วโลกมุมไหนของโลก  เราก็รู้ในไม่กี่นาที  ไม่กี่ชั่วโมง  ถ้าผู้นำไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้   เสร็จ”

ดร.ทักษิณ อธิบายความหมายของ Globalization ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

Free flow Information 

Free flow of Goods 

Free flow of People

Free flow of Capital

เกือบ 20 ปีแล้วที่ ดร.ทักษิณ พูดถึง Globalization  ที่จะเกิดขึ้นในโลก  มาถึงวันนี้  สิ่งที่เขาพูดกลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมโลกอย่างขาดไม่ได้  

“ความเป็นผู้นำนอกจากมีคุณสมบัติใฝ่หาความรู้ เท่ากันการเปลี่ยนแปลงและมีวิสัยทัศน์แล้ว ยังต้องเชี่ยวชาญในการบริหารให้คนที่เราเลือกเข้ามาหรือผู้ตาม ปฏิบัติไปสู่จุดที่ผู้นำคาดหวังด้วย”

ทั้งหมดคือนิยามของคำว่า “ผู้นำ” ในแบบของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร

Share on facebook
Share on twitter