สร้าง Vision สร้างมูลค่าเพิ่ม

Share on facebook
Share on twitter

       ในภาคธุรกิจ Vision หรือวิสัยทัศน์ เป็นคำที่คุ้นชินเสมอ เพื่อกำหนดเป้าหมายปลายทางของธุรกิจว่าจะนำพาให้การประกอบการเป็นไปในทิศทางใด โดยพนักงานในบริษัททุกคนจะต้องรับรู้วิสัยทัศน์นี้

ในช่วงที่ผ่านมามีหลากหลายองค์กร รวมถึงหน่วยงานราชการที่ได้สร้างวิสัยทัศน์ เพื่อเป็นเป้าหมายในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเช่นกัน แม้ผลตอบรับจะไม่ใช่ตัวเงินเช่นภาคธุรกิจ แต่วัดได้ด้วยความพึงพอใจของผู้รับบริการ ดร.ทักษิณ มีวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจมาตั้งแต่ต้น ซึ่งวิสัยทัศน์นี้นำพาเข้าไปสู่ความสำเร็จในธุรกิจที่คาดหวังไว้ แม้บางครั้งจะมีอุปสรรคบ้าง แต่นั่นคือธรรมชาติ เขาสามารถรับมือกับมันได้เสมอ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เขาไม่รอที่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เช่นเดียวกับเส้นทางการเมือง การนำพาพรรคไทยรักไทยไปสู่เป้าหมายอย่างมีวิสัยทัศน์ นำมาซึ่งความสำเร็จในการเลือกตั้ง และความนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น จนสามารถสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองมากมาย เขาให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์เป็นอย่างมาก และพยายามแนะนำ ให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้กับคนรอบข้างเสมอ เป้าหมายของเขาคือการสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือทำให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งเขาเชื่อว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่คนกลุ่มนี้ต้องได้รับความรู้ ความคิดหรือแม้แต่กระบวนการคิดผ่านวิสัยทัศน์ 

“โลกปัจจุบัน กำลังก้าวไปสู่สังคมฐานความรู้ ที่สมองมนุษย์จะกลายเป็นสิ่งมีค่า สังคมไทยจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ทั้ง 63 ล้านคน ให้เป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มี “วิชั่น” ไม่ใช่ “วิสั้น” มีวิสัยทัศน์ห่วงคนในยุคต่อๆ ไป อย่าคิดว่าดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เราต้องก้าวไปสู่สิ่งที่ดี ไม่ใช่รอจนถึงที่สุดแล้วต้องจำยอมเปลี่ยนแบบไร้ท่า”

เขาได้ชี้ให้ทุกคนเห็นว่าในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไปสู่สังคมฐานความรู้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ในสังคมไทย เปลี่ยนก่อนที่จะถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนย่อมดีกว่าเสมอ ความรู้ จำเป็นสำหรับสังคมยุคนี้ ทั้งในด้านเศรษฐศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีการผลิต  ส่วนประเทศไทย มีความเข้มแข็งทางการเกษตร เขาจึงมองว่าต้องพัฒนาภาคการเกษตรด้วยเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกษตรกรไทยและสินค้าเกษตรไทยกลายมาเป็นสินค้าสู่ตลาดโลกได้  

ช่วงเวลาที่เขาได้พูดถึงวิชั่น  คือช่วงปลายปี 2546 เป็นช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก  ตอนนั้นเทคโนโลยีได้ก้าวเข้ามาในประเทศไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้ถูกนำมาเชื่อมโยง หรือต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและการศึกษามากนัก  เขามองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องนำเทคโนโลยีเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และขยายผลจนเป็นความรู้ตามสัญชาติญาณได้ เมื่อถึงเวลานั้นจะทำให้ประเทศมีองค์ความรู้ที่ขยับขึ้นไปอีกขั้น ไม่ใช่ประเทศที่ผลิตเพียง Raw Material อีกต่อไป 

นอกจากนี้จากการที่ไทยเปิดเสรีทางการค้า ทำให้มีนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้นพื้นฐานสำคัญของเด็กรุ่นใหม่ ต้องมีความรู้ด้านภาษา ซึ่งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรเปิดสอนสองภาษามากขึ้น รวมทั้งต้องสร้างเด็กให้มีทักษะการใช้อินเทอร์เน็ต และเรียนรู้วัฒนธรรมไทย พร้อมไปกับการเข้าใจวัฒนธรรมของต่างชาติ 

นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอน ควรเพิ่มจากความชอบของเด็ก จากนั้นความรู้และผลการเรียนที่ดีจะเป็นสิ่งที่ติดตามมา  ทั้งหมดคือสิ่งที่เขาเคยให้วิสัยทัศน์กับประเทศไทยไว้ตั้งแต่ปี 2546 

 “ถ้าท่านตั้งบริษัทขึ้นมาสักบริษัท ถ้าเอาคนแย่ๆ ไปเป็นผู้บริหาร รับรองว่าบริษัทท่านมีโอกาสล้มละลายสูง แต่บังเอิญประเทศมันล้มละลายไม่ได้ ฉะนั้นผู้บริหารสำคัญที่สุด การบริหารต้องมีวิชั่น ต้องห่วงว่า Next Generation จะเป็นอย่างไร”

เขามีความเป็นห่วงคนรุ่นหลังที่กำลังเติบโตและจะกลายมาเป็นคนรุ่นปัจจุบันที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศ  ดังนั้น ภาครัฐหรือมีส่วนสำคัญในการพัฒนา การบริหารประเทศจะต้องมองไปข้างหน้า มองเทรนด์ของโลกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด  สิ่งเดียวที่จะทำให้คนไทยเท่าทันกับการเปลี่ยนของโลก คือ ทุกคนต้องเข้าสู่สังคมฐานความรู้ และผลิตสิ่งใหม่จากสมองของเราเอง  ซึ่งเมื่อนำมาตีมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วจะพบว่า ราคาของสิ่งที่มาจากความคิด จากมันสมอง มูลค่าและคุณค่าจะดีกว่าสิ่งที่ผลิตด้วยมือ  เพราะฉะนั้นมนุษย์จะเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด

สำหรับรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ผลักดันใช้สิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด หากผู้บริหารเข้าใจทฤษฎี S-Curve ทุกครั้งที่การเริ่มต้นของตัว S บริเวณส่วนกลางของตัว S มักจะยาวกว่าส่วนหัวและหางของตัวเอสเสมอ เขาเปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อลากตัวเอส จะลากจากล่างขึ้นบน ก่อนเอสจะหัวตกต้องลากตัวไปให้ยาวก่อนหัวตก เพราะเราต้องรอเอสตัวใหม่มาคล้อง ก่อนจะได้เอสตัวใหม่ เอสเก่าต้องลากให้ยาวที่สุด หมายความว่าควรใช้ประโยชน์กับสิ่งที่มีอยู่ให้มากที่สุด ให้ได้ประโยชน์ที่สุดและรีบหาเอสตัวใหม่เข้ามาคล้องแทน 

“เราจะทำอะไรตามลำพัง ไม่สนโลกไม่ได้ เราต้องเปลี่ยน เราจะต้องเตรียมตัว และมาดูตัวเราว่ามีจุดแข็งอะไรบ้าง รู้เขาและต้องรู้เรา” 

ดร.ทักษิณ ไม่ยอมให้ประเทศไทยล้าหลังไปกว่าเดิมที่ และพยายามฉุดดึงให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน  บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอดีตทิ้งห่างแบบไม่เห็นฝุ่นกับประเทศใกล้เคียง เป็นเพราะเขาได้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด  และหากต้องการให้ประเทศพัฒนาแบบไม่หยุดยั้งต้องพัฒนาการคนรุ่นใหม่ ทำสิ่งที่มีอยู่ให้เข้มแข็งและนำสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ พัฒนาเป็น Generation 

ทั้งหมดคือการเตรียมตัวให้ประเทศไทยเข้าสู่ Knowledge-based Society หรือสังคมที่มีสมองดี สังคมแห่งการเรียนรู้

Share on facebook
Share on twitter