เกษตรกรไทยไร้จน ด้วยนโยบายที่ดีและเทคโนโลยีที่เท่าทัน

Share on facebook
Share on twitter

“ในจำนวนพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศไทยกว่า 300 ล้านไร่นี้ มีถึง 1 ใน 3 หรือ 108 ล้านไร่เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตร เรียกได้ว่าคนไทยกลุ่มใหญ่นั้นยังยึดเกษตรกรรมเป็นวิถีชีวิตหลัก แต่เราแทบไม่เคยได้เห็นข่าวชาวนาเป็นเศรษฐีกันเลย มีแต่ข่าวความเสียหายที่เกิดจากปัจจัยทางสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำแล้ง น้ำป่าไหลหลาก และโดยเฉพาะปัญหาดินเสียที่กินพื้นที่ไปกว่า 80% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งประเทศ จากการใช้ปุ๋ยเคมี และการทำการเกษตรที่ฝืนธรรมชาติ ทำให้ชาวนาไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาวะยากจนและไม่สามารถขยับขยายที่ทางของตนเองได้อย่างมั่นคง ผมจึงอยากเสนอให้นำเทคโนโลยีการเกษตรที่เขาเรียกว่า Precision Farming หรือ การทำเกษตรอย่างแม่นยำ เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเกษตรกรไทย”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร  | Good Monday EP.9

คำกล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เคยกล่าวไว้ในรายการ Good Monday ตอนที่ 9 เพื่อแนะนำให้ผู้ฟังได้รู้จักกับเทคโนโลยี “Precision Farming” หรือ “การเกษตรแม่นยำ”  ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศ ดิจิทัล ระบบเซนเซอร์จากดาวเทียม เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีระดับนาโนเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรอย่างแม่นยำ และลดต้นทุนที่มองไม่เห็นอย่างการใช้ปริมาณน้ำโดยไม่มีการควบคุมให้น้อยลง นอกจากนี้ การนำข้อมูลและระบบสารสนเทศเข้ามาใช้ ยังช่วยให้เกษตรกรไทยลดการรอฟ้า รอฝนและสามารถวางแผนการเพาะปลูก ติดตาม ประเมินสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์จริงมากขึ้น เกษตรกรไทยจะสามารถรู้ฟ้า รู้ฝน คาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้แม่นยำเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งอาจจะยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ตอัพเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่มีบทบาทในวงการเกษตร คือ Ricult Farmer ที่เน้นให้ข้อมูลด้านสภาพอากาศ และวิเคราะห์สถานการณ์การเพาะปลูกรายแปลงแก่เกษตรกร กับ FarmAI ที่ให้ข้อมูลสภาพอากาศและการประมาณผลผลิตจากแบบจำลองทางเทคโนโลยี และอีกบริษัทหนึ่ง คือ FARMTO ที่เน้นสนับสนุนการเชื่อมโยงผู้บริโภคและเกษตรกรเข้าหากันผ่านแพลตฟอร์มการเยี่ยมชมสถานที่จริง

ในอดีตนั้น เกษตรกรไทยมักยึดติดกับวิธีการทำเกษตรแบบเก่า ได้รับชี้แนะช่วยเหลือของหน่วยงานด้านเกษตรกรของรัฐบาลไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกษตรกรปลูกพืชผลไปตามกระแสความนิยมในตลาด เมื่อพืชผลชนิดใดมีราคาสูง เช่น สับปะรด ก็จะมีเกษตรกรจำนวนมากปลูกตามกัน จนเกิดปัญหาดินในพื้นที่เสียหาย เกิดเป็นวงจรการทำเกษตรตามความเคยชินส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ถึงปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คือ เกษตรกรสวนลำไยที่ประสบปัญหาราคาพืชผลลดต่ำลงเหลือเพียง 3-4 บาทต่อกิโลกรัม จากต้นทุนที่แพง และปริมาณที่ผลิตออกมา แต่ไม่สามารถหาตลาดส่งออกไปขายได้

“เกษตรกรไทยส่วนใหญ่แล้ว ทำการเกษตรแบบวิถีชีวิต มีหน้าที่ต้องทำ ก็ทำไปวันๆ เช่น ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ แต่ว่าวันนี้เราจะให้เขาทำ เป็น Commercial Scale เพื่อให้ขายได้ เราต้องลงไปช่วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพันธุ์ก็ดี วิธีการก็ดี การทำให้ผลผลิตให้มันสูงขึ้น การตลาดก็ดี เราต้องเข้าไปช่วย”

ดร. ทักษิณ ชินวัตร | รายการ CareTalk วันที่ 26 ตุลาคม 2564

ปัจจุบันรายได้ของเกษตรกรไทยจึงยังย่ำอยู่เพียงแค่ 300,000-400,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เพียงเท่านั้น ซึ่งคำนวนออกมาแล้วคิดเป็นเพียงเดือนละประมาณ 30,000 บาทเท่านั้น การจะสนับสนุนเกษตรกรให้พึ่งพาตนเองได้และมีความมั่งคั่งมากขึ้น หน่วยงานรัฐบาลต้องว่องไว และเท่าทันต่อเทคโนโลยี มีโครงการในการนำข้อมูล (Data) มาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถกระจายความรู้ให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ผ่านการสื่อสารที่เป็นรูปธรรม และได้รับการต่อยอดในระดับนโยบายรัฐบาล

กรณีศึกษาจากต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าความรู้ที่ดีและเทคโนโลยีที่ดี สามารถยกระดับเกษตรกรรมได้จริง  คือ กรณีฟาร์มของเกษตรกร ชื่อ Scott Clark ในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีที่ดินจำนวน 10,000 ไร่ ที่นำระบบ GPS เข้ามาใช้คำนวณหาจุดหว่านเมล็ดพืช และจัดสัดส่วนพื้นที่การรดน้ำ เพื่อลดปัญหาซ้ำซ้อนของการหว่านเมล็ดหรือการรดน้ำทีละแปลง ที่อาจต้องเสียต้นทุนที่มองไม่เห็นจากการลงเมล็ดหรือการรดน้ำซ้ำในจุดเดิม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมความแม่นยำให้กับการเพราะปลูก ทำให้ Scott Clark สามารถลดปัญหาการรดน้ำหรือการหว่านเมล็ดลงดินนี้ลงได้ถึง 300 กว่าไร่ ซึ่งคิดเป็นราคาต้นทุนที่ต่ำลงไปกว่า 30%

อีกกรณีหนึ่ง คือ บริษัท ListenField ของ ดร.นุ่น (รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์) ที่ได้สร้างระบบประเมินสภาพดินฟ้าอากาศขึ้นเพื่อช่วยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดินแต่ละแห่งว่ามีสภาพความเหมาะสม สำหรับการปลูกพืชแต่ละชนิดอย่างไร และจะลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศได้อย่างไร โดยระบบจะใช้กลไกจากอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่รวบรวมข้อมูลผ่านระบบเซนเซอร์และฐานข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี เพื่อคำนวนและให้คำแนะนำที่เหมาะสมถึงช่วงเวลาการพรวนดิน เตรียมพื้นที่ปลูก และเก็บเกี่ยวโดยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติให้น้อยที่สุด ปัจจุบันบริษัท ListenField มีลูกค้าทั้งในญี่ปุ่น อินเดีย เวียดนาม และอเมริกา รวมแล้วมากกว่า 10,000 ราย ภายใน 2 ปี

จะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานเกษตรกรรมของต่างประเทศนั้น ถูกคิดและวางแผนขึ้นตั้งแต่ในระดับนโยบายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย อีกกรณีหนึ่งคือ นอร์เวย์ ที่รัฐสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมการเพาะพันธุ์ปลา เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกร

หากสามารถประยุกต์ใช้ และสร้างระบบนิเวศให้ครบวงจรในไทย จะเป็นจุดก้าวกระโดดและยกระดับสินค้าทางการทำเกษตรไทยให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ สามารถประเมินทิศทางและความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลาได้ในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือ การนำเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องชี้ให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าใจด้วยว่าปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว   รวมถึงกำหนดฐานรายได้ขั้นต่ำที่พวกเขาควรจะได้รับเป็นเกณฑ์ไว้ด้วย

“เราต้องสอนเขาด้วย ถ้าเรามีรายได้ให้เขา เขาก็แฮปปี้ การมีวิถีชีวิตเดิมๆ เป็นเพราะว่าเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไร ทำตั้งแต่บรรพบุรุษ วันนี้โลกมันเปลี่ยนไปต้องบอกให้เขารู้ ถ้าเรามีการันตีให้เขา”

ดร. ทักษิณ ชินวัตร | รายการ CareTalk วันที่ 26 ตุลาคม 2564

การใช้เทคโนโลยีเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร เป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่สามารถทำได้โดยการนำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีการเกษตรที่มีอยู่เดิมทั้งหมด มาศึกษาแนวทาง และนำไปพัฒนาเป็นนโยบายเพื่อ จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารการลงทุน จัดสรรค่าใช้จ่าย และบริหารการปลูก ตลอดจนการเก็บเกี่ยวได้อย่างแม่นยำ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าทางการเกษตรของตัวเอง ส่งผลก่อให้เกิดรายได้ และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ เหมือนที่เกิดขึ้นในสังคมการเกษตรในหลากหลายประเทศ เช่น กรณีของญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ที่เกษตรกรสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสุขสบาย โดยมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ลดลง