SME กับ Judo Strategy

Share on facebook
Share on twitter

       ก่อนหน้าวิกฤติการเงิน 2538-2540 หรือที่เราเรียกกันว่า “ยุคฟองสบู่แตก” นั้นประเทศไทยเคยให้ความสำคัญอย่างมากกับเครดิตและรายได้ของกิจการขนาดใหญ่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ช่วงเวลานั้นใครที่เรียนจบมหาวิทยาลัยและมีโอกาสได้ทำงานกับบริษัทใหญ่ก็จะถือว่าเป็นคนเก่ง แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยทรุดตัวอย่างรุนแรงด้วยหลายปัจจัยมีผลทำให้บริษัทใหญ่ทั้งหลายพากันลอยแพพนักงาน เกิดการสะดุดเพราะรายได้ที่น้อยลงสวนกับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นแต่รายจ่ายก็ยังไม่หยุดเสียทีและตามมาด้วยการปิดกิจการกันเป็นจำนวนมาก 

หนึ่งในนโยบายสำคัญของพรรคไทยรักไทยนั้นก็คือการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่มีอยู่ทั่วประเทศให้ได้เข้าถึงข้อมูล , โอกาสทางธุรกิจและเงินทุน ซึ่งเดิมทีนั้นพวกเขาไม่เคยได้รับความสนใจหรือไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างที่ควรจะเป็น 

“หัวใจหนึ่งของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจขณะนี้คือต้องรีบฟื้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า SMEs และทำให้เขามีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงพร้อมย้ำเสมอว่ารัฐบาลควรหันมาสนใจ อย่ามัวแต่ใช้เวลาแก้ปัญหาสถาบันการเงินอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ด้านเดียว โดยปล่อยให้กิจการขนาดย่อมพากันตายตามไปหมด”… ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในหัวข้อ “เศรษฐกิจประเทศไทยในสถานการณ์โลกใหม่” ต่อที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2544

และทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล ดร.ทักษิณ ก็ขับเคลื่อนนโยบาย SMEs อย่างต่อเนื่อง โดยมีหมุดหมายที่สำคัญคือการประกาศใช้ พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในปี 2543 พร้อมกับจัดตั้ง  “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” หรือ สสว. เปิดทำการในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2544 หรือ 11 เดือน หลัง ดร.ทักษิณ ก้าวเป็นนายกรัฐมนตรี

จากข้อมูลเมื่อปี 2544 นั้นมีสถิติชี้ว่าประเทศไทยมีผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 1.08 ล้านราย และหลังการมีการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลในหลากหลายรูปแบบรวมถึงหลังการก่อตั้ง สสว.เพียง 3 ปี ทำให้ประเทศไทยมี SMEs เพิ่มขึ้นมากเป็นเท่าตัวอยู่ที่ 2.16 ล้านราย

ดร.ทักษิณมักจะให้แรงบันดาลใจคนตัวเล็ก ให้ลุกขึ้นมากล้าทำธุรกิจอยู่เสมอ เหมือนที่ตัวเขาเองกล้าลุกขึ้นมาทำธุรกิจขนาดย่อมด้วยตัวเอง  “ ถามว่าคนตัวเล็กจะแข่งกับคนตัวใหญ่ได้อย่างไร มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Judo Strategy ว่าด้วยนักยูโดเขาไม่ผลีผลามจับคู่แข่ง แต่จะเดินไปโยกดู วิเคราะห์ดูท่าท่วงทำนองของคู่แข่ง ขั้นตอนที่สองเขาจะไม่ Head on ไม่ปะทะ ไม่ชนเหมือนซูโม่ ขั้นตอนที่สามของนักยูโดคือ ต้องมองว่าคู่แข่งมีอะไรแข็ง ต้องเอาความแข็งของคู่แข่งทิ่มแทงตัวของเขาเอง ฉะนั้นอย่าคิดว่าท่านตัวเล็ก SMEs ทั้งหลายจะไม่มีโอกาสแข่งขัน สำคัญที่สุดคือยุทธศาสตร์ ท่านต้องคิดอย่างมียุทธศาสตร์ คิดอย่างมีกลยุทธ์ไม่เช่นนั้นท่านแข่งขันกับเขาไม่ได้” แล้วคนตัวเล็กจะล้มคนตัวใหญ่ได้อย่างไรด้วยกลยุทธ์ยูโด ?

หนังสือ Judo Strategy ผลงานเขียนของ David B. Yoffie และ Mary Kwak ที่ดร.ทักษิณแนะนำนั้นมีใจความสำคัญที่เหมาะกับแนวคิดธุรกิจ SMEs คือ  ธุรกิจเล็กๆ จำนวนมากสามารถโค่นคู่แข่งขันที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ด้วยกลยุทธ์ของยูโด 

หลักการคือธุรกิจเล็กต้องศึกษาคู่ต่อสู้ที่ใหญ่กว่าอย่างละเอียด ต้องเคลื่อนตัวตลอดเวลา เพื่อให้คู่แข่งขันเสียการทรงตัว จุดแข็งของธุรกิจเล็กคือต้องเคลื่อนตัวให้เร็วกว่า ปรับตัวได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ในขณะที่จุดอ่อนขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มักจะเคลื่อนไหวช้ากว่า เป็นจุดอ่อนที่ทิ่มแทงตัวเอง 

ธุรกิจเล็กจึงต้องอาศัยความได้เปรียบของความว่องไวนี้เอาชนะความเชื่องช้าของธุรกิจใหญ่ให้ได้ เปรียบได้เหมือนการต่อสู้แบบยูโด ที่คนตัวเล็กจะต้องไม่สู้แบบเดินเข้าปะทะแลกหมัดต่อหมัด แต่จะอาศัยความว่องไวช่วงชิงจังหวะเข้าโจมตีคู่ต่อสู้ การใช้ศิลปะการต่อสู้แบบยูโดเพื่อชัยชนะ จะต้องใช้ทั้งพลังปัญญาและใช้ทักษะมากกว่าใช้กำลัง สิ่งสำคัญคือต้องเคลื่อนที่ตลอดเวลาไม่ยอมตกเป็นเป้านิ่ง เหมือนกับที่ทุกวันนี้วงการ Startup นิยมพูดกันว่า “ปลาเล็กกินปลาใหญ่ – ปลาไวกินปลาช้า”

Judo Strategy จึงมุ่งเน้นไปที่การใช้กำลังที่น้อยกว่าแต่ศึกษามากกว่าจนทำให้โจมตีได้ถูกจุดและเคลื่อนไหวเร็วจนได้ทำให้ได้ผลมากกว่า ซึ่งในสมัยแรกของรัฐบาลดร.ทักษิณถือว่ากลยุทธ์นี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนตัวเล็กอย่างธุรกิจ SME ที่จะกลายมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศไทย

Share on facebook
Share on twitter