ย้อนรอยนาทีสุดท้ายก่อนรัฐประหาร 2549

Share on facebook
Share on twitter

19 กันยายน 2549 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญวันหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย

ความไม่พอใจในการบริหารราชการของรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นขึ้นในปี 2548 หลังการชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย 377 จาก 500 เสียง และได้คะแนนจากประชาชนรวม 18.99 ล้านเสียง ทำให้กลุ่มชนชั้นนำเดิมของประเทศไทย รู้สึกหวาดระแวงและโกรธเกรี้ยว จนทนไม่ได้ต้องร่วมกันวางแผนล้มนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทสไทย

            สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อเครือผู้จัดการ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีความขัดแย้งกับ ดร.ทักษิณ ในประเด็นขอพื้นที่สื่อของกรมประชาสัมพันธ์ และเงินกู้กรุงไทย ได้เริ่มโจมตีการทำงานของ ดร.ทักษิณอย่างรุนแรง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่นาน เคยชื่นชมว่า ดร.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดของประเทศไทย จนถึงฟางเส้นสุดท้ายคือการถอดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ออกจากช่อง 9 อสมท. ในวันที่ 15 กันยายน 2548 หลังจากการอ่านจดหมายโจมตีเรื่อง “ลูกแกะหลงทาง”

สังคมสื่อและนักวิชาการในเวลานั้นรวมกันตั้งข้อกล่าวหา ดร.ทักษิณ ว่า ทำลายระบบการตรวจสอบ ครอบงำวุฒิสภา เป็นเผด็จการรัฐสภา จนถึงขั้นขนานนามว่า “ระบอบทักษิณ” มีการออกหนังสือ สื่อ บทความ เพื่อสร้างภาพให้ ดร.ทักษิณดูเลวร้ายในทุกด้าน

การประท้วงที่เริ่มต้นขึ้น ณ สวนลุมพินี ในชื่อ “เมืองไทยรายสัปดาห์ สัญจร” ได้ขยายตัวบานปลายขึ้น ด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง เช่น การทำบุญในวัดพระแก้ว ปฏิญญาฟินแลนด์ การขายหุ้นเทมาเส็กที่ถูกเปรียบว่าเป็นการขายชาติ และที่สำคัญที่สุด คือการกล่าวหาว่า ดร.ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย พยายามที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน ล้วนถูกพิสูจน์ว่าเป็นเท็จทั้งสิ้น

การกดดันของประชาชนในกรุงเทพมหานครจากกระแสของสื่อ การประท้วงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ดร.ทักษิณ ตัดสินใจยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชนเป็นคนตัดสินอีกครั้ง โดยไม่ได้คิดจะสั่งการปราบปรามหรือใช้ความรุนแรงกับประชาชน

การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ที่พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลายทั่วประเทศอีกครั้ง ได้คะแนนเสียงถึง 16.2 ล้านเสียง ยืนยันความนิยมและชื่นชมของประชาชน ต่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่สร้างความมั่งคั่ง อยู่ดีกินดี มีเกียรติศักดิ์ศรี ให้แก่คนไทย

แต่การปลุกระดมและการสร้างสถานการณ์ความไม่พอใจของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีที่มาจากกลุ่มชนชั้นนำเดิมที่หวาดกลัวการเสียอำนาจ ก็ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้วยข้อหา “หันคูหาเลือกตั้งออกด้านนอก” ซึ่งขัดต่อหลักกฎหมายและเหตุผล รวมถึงการปฏิบัติสากล จนคณะกรรมการการเลือกตั้งถูกพิพากษาจำคุกอย่างอยุติธรรม

ดร.ทักษิณ พยายามประนีประนอมและยินยอมอย่างถึงที่สุด ด้วยการประกาศพักงาน เว้นวรรคทางการเมือง และไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก็ได้กลับมาร่วมประสานงานเพื่อจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระพระชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 อย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ โดยมีพระราชอาคันตุกะจากพระราชวงศ์ต่างชาติตอบรับคำกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ มาร่วมงานถึง 26 พระองค์

แต่งานใหญ่ที่สร้างความปิติยินดีของประชาชนก็ไม่ทำให้กลุ่มชนชั้นนำละความพยายามที่จะกำจัด ดร.ทักษิณ โดยมีการวางแผนลอบสังหารหลายครั้ง โดยเฉพาะเหตุ “คาร์บอมบ์” ในวันที่ 24 สิงหาคม 2549 ซึ่ง ดร.ทักษิณมาทราบภายหลังว่า “ถ้าฆ่าไม่ตายก็จะปฏิวัติ”

จึงมีความพยายามโน้มน้าวให้ ดร.ทักษิณ เดินทางไปพักผ่อนยังต่างประเทศ และประสบความสำเร็จในการชักจูงให้เดินทางไปประชุม ASEM ที่ฟินแลนด์ ประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM) ที่คิวบา และเข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และในวันที่ 19 กันยายน ก็เป็นวันก่อเหตุเปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ประเทศไทยไปโดยสิ้นเชิง

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ทีวี ถึงเรื่องราวในนาทีสุดท้ายก่อนรัฐประหารไว้ดังนี้

            “ผมก็ถูกเตือนอยู่เหมือนกันว่า นายทหารรุ่น พล.อ.สนธิ ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์วงสุวรรณ ที่ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานั้น พวกเขาเป็นรุ่นเดียวกันหมด แม่ทัพทุกเหล่า รวมถึงปลัดกระทรวง เป็นรุ่นเดียวกันหมด ปกติเขาจะไม่ตั้งกันอย่างนี้ เพราะนั่นเท่ากับการเปิดโอกาสให้พวกเขาแพ็คกัน เพื่อรัฐประหารได้ แต่เราก็เชื่อว่าเรามีประชาชนเป็นฐาน

แน่นอนสถานการณ์นั้นมันมีความตื่นเต้น แต่ชีวิตผมผ่านอะไรมาเยอะ แต่ในนาทีนั้นผมเชื่อว่าเขาไม่กล้าเอาผมถึงชีวิต แน่นอนการถูกยึดอำนาจไปแล้ว มันรู้สึกเสียดายประโยชน์ของประชาชน ตอนนั้นผมคิดว่าผมคุมสติอยู่ และไม่ใช่ครั้งแรกของผม ผมอยู่ในสถานการณ์ 6 ตุลา 2519 เห็นเพื่อนตาย พูดตรงๆคือผมเดนตายแล้ว นั่นหมายความว่าผมควรจะไปตั้งแต่ 6 ตุลาแล้ว แต่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น ชีวิตที่ผมมีอยู่นี้ ก็จะพยายามทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด และผมได้ทำประโยชน์ฐานะรัฐบาลจนถึงที่สุด ผมก็คิดว่ายังมีศักดิ์ศรีอยู่ ถ้าถามว่ากลัวตายหรือเปล่า ผมก็คิดว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด”

ขณะเดียวกันใคนที่อยู่ข้างตัวดร. ทักษิณในวันนั้น อย่าง นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้บอกเล่าเหตุการณ์ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่าไม่น่าเชื่อว่าจะมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น

“คืนวันที่ 19 กันยายน ก็คือเช้าวันที่ 19 กันยายนที่นิวยอร์ก ตอนช่วงเช้าผมถูกปลุกขึ้นมา ตอนนั้นก็จะมีการทานอาหารเช้าร่วมกัน แล้วก็มีคนหนึ่งบอกมาว่า มีข่าวเรื่องรัฐประหารเกิดขึ้น ทุกคนก็ฟังอย่างเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง คือไม่มีใครเชื่อว่ามันจะเกิด ก็มีการไปตรวจสอบกันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น ผ่านไปเป็นชั่วโมง   ถึงได้กลับมาพบกันและพูดกันอีกครั้งนึงว่า สงสัยเกิดรัฐประหารขึ้นจริงๆแล้ว

ตอนนั้นก็เริ่มคิดกันว่าจะทำอย่างไรต่อไปนะครับ ทางอดีตนายกรัฐมนตรีเองก็ประสานเรื่องเกี่ยวกับการที่จะเดินทางเข้าประเทศ แต่ก็ไม่ได้รับโอกาสที่จะกลับเข้าประเทศ”

นอกจากนี้ คุณสมลักษณ์ ส่งสัมพันธ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร บอกเล่าสถานการณ์ ขณะเกิดรัฐประหารยึดอำนาจ ผ่านสำนักข่าวบีบีซีไทย ว่าเกิดอะไรขึ้นไว้ว่า

“ในการเดินทางเยือนต่างประเทศ ปรกติขณะที่อยู่บนเครื่องบิน นายกฯ ก็มักเดินมาคุยกับสื่อมวลชนที่ติดตามคณะเสมอ ในครั้งนี้ท่านก็เดินมาหาและเปิดใจกับสื่อว่า “จะเลิกเล่นการเมือง” อยากใช้ชีวิตปกติ ธรรมดา มีแผนจะสอนหนังสือและทำการกุศล ท่านบอกว่า “อยากจะกลับไปประเทศไทยอีกในอนาคตเพราะเป็นบ้านเกิด และอยากใช้ชีวิตที่ประเทศไทย”

ก่อนที่เครื่องบินจะถึงลอนดอน ท่านได้กล่าว “ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานอย่างแข็งขันให้ท่านตลอด 6 ปีที่ผ่านมา และขอให้ทำหน้าที่ต่อไปไม่ว่าใครจะมาบริหารประเทศ ” นับเป็นคำพูดที่น่านับถือและประทับใจอย่างมาก

บรรยากาศเป็นไปด้วยความเศร้า ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ และสื่อมวลชน รวมทั้งพนักงานต้อนรับของการบินไทยเข้าไปอำลาและขอถ่ายภาพกับท่าน ทุกคนมีความรู้สึกสงสารและเห็นใจท่านในตอนนั้น และรู้สึกชื่นชมที่ท่านใจแข็ง เก็บความเศร้าไว้ได้

อดีตนายกฯ ทักษิณแวะลงที่ลอนดอนโดยมีนายพันศักดิ์ ประธานที่ปรึกษา และผู้ติดตามใกล้ชิดร่วมลงไปส่งท่าน ขณะนั้นก็เห็นสื่อต่างประเทศพากันมาทำข่าวนายกฯ ทักษิณที่ลานบินด้วย จากนั้นคณะที่เหลือก็เดินทางกลับประเทศไทย

การจากกันคราวนั้น เป็นเพียงการจากไทยชั่วคราว แต่อีกไม่นาน ตัวท่านก็ได้กลับมาไทย แล้วก็ต้องจากไปอีกครั้ง แต่ชื่อของท่านยังวนเวียนอยู่ในการเมืองไทยจนปัจจุบัน”

คุณสมลักษณ์ ส่งสัมพันธ์ ยังเล่าถึงการเตรียมตัว และลำดับเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ สามารถอ่านบทความตัวเต็ม ได้ทาง https://www.bbc.com/thai/58552609

เวลา 15 ปีที่ผ่านมา นับจากวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นเครื่องพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า รัฐประหารล้มรัฐบาลไทยรักไทย เป็นความล้มเหลวอย่างถึงที่สุด คณะเผด็จการทหารชนชั้นนำไม่ได้ทำให้ประเทศไทยโปร่งใส สุจริต หรือมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามที่อ้าง มีเพียงการปกปิดความผิด อ้างคำว่ารักชาติรักสถาบันเป็นเกราะกำบัง เข้าปราบปรามกดขี่ประชาชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เพื่อกอบโกยเอาผลประโยชน์เข้าสู่ตน ครั้งแล้วครั้งเล่า

ประชาชนคนไทยมองไม่เห็นอนาคต ลูกหลานเยาวชนไม่สามารถแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นในภายหน้า ออกมาเรียกร้อง ส่งเสียงประท้วง ด้วยความสิ้นหวัง และด้วยใจบริสุทธิ์จริง

หากชนชั้นนำของประเทศไทยยังมืดบอด เห็นผลประโยชน์ของตนดีกว่าอนาคตของประเทศชาติ ไม่รับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน วงจรของการรัฐประหารก็ยังจะคงอยู่ต่อไป และอนาคตของประเทศไทยก็ยิ่งมืดมน

ความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรับฟังเสียงของประชาชน ของเยาวชนผู้เป็นอนาคต แล้วปรับตัวแก้ไขให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติเท่านั้น