ก้าวสำคัญ ต้องทัน “โลก” “นาโน” เทคโนโลยีแห่งอนาคต

Share on facebook
Share on twitter

     นาโนเทคโนโลยีคือนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างขนาดเล็ก ที่มีคุณสมบัติพิเศษและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก ซึ่งในปัจจุบันนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคม ทั้งในภาคการศึกษา การแพทย์ และภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

     มีการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาในเชิงพาณิชย์ และถูกใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้ง เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ของใช้ เครื่องสำอาง หรือแม้แต่สมุนไพรต่างๆ ของไทย มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างแพร่หลาย

     สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2546 อนุมัติให้มีการจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญในการกำหนดแนวทาง มาตรการ และแผนการดำเนินการด้านนาโนเทคโนโลยี จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงแผนพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและนักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีอย่างจริงจัง

     เรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตรให้ความสนใจและให้ความสำคัญมาตลอด ดร.ทักษิณ ชินวัตร แนะนำให้คณะรัฐมนตรี อ่านหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงวิวัฒนาการด้านต่างๆ หรือแนะนำข้อมูลความก้าวหน้าทางวิชาการให้กับรัฐมนตรีเสมอ 

     รวมถึงในการจัดรายการ “นายกฯทักษิณ คุยกับประชาชน” ที่มีขึ้นเป็นประจำทุกสัปดาห์ ก็มักจะมีการแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ หรือให้ข้อมูลกับประชาชนถึงการพัฒนาวิทยาการด้านต่างๆ ตลอด ซึ่งเรื่องความก้าวหน้าของ “นาโนเทคโนโลยี” ที่เป็นกระแสสำคัญของโลก ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เคยนำมาพูดถึงประโยชน์ให้พี่น้องประชาชนฟังด้วย 

     ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้เล่าถึงความก้าวหน้าของ “นาโนเทคโนโลยี” ว่านาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีย่อส่วน เป็นเทคโนโลยีที่ไปจัดโครงสร้างของอะตอมสารแต่ละอย่างเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ ซึ่งในอนาคต อาจจะมีวัสดุบางอย่างที่แข็งกว่าเหล็กถึง 100 เท่า แต่มีน้ำหนักน้อยกว่าเหล็กถึง 6 เท่า และในอนาคตจะมีการสร้างอะไหล่ชิ้นส่วนของมนุษย์ เรียกว่า Bio Compatible Replacement คือมีการเปลี่ยนอะไหล่มนุษย์ด้วยเทคโนโลยีและสามารถชะลอความแก่ชราได้ โดยสิ่งที่เรียกว่า Artificial Red blood Cells 

     “ปกติมนุษย์นี่จะแก่เพราะว่าเซลล์หลุดการเจริญพันธุ์ หยุดการแตกตัว เขาก็เลยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงเทียมด้วยเทคโนโลยีนี้ ก็เทคโนโลยีจะมาแรง มาเร็ว ซึ่งผมได้อ่านหนังสือเรื่อง The next big thing is really small เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และระยะหลังนี้ หนังสือที่ออกมาพูดกันถึงเรื่องนาโนเทคโนโลยีทั้งนั้น เราต้องให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นเราจะตกรถ” 

     แม้นาโนเทคโนโลยีจะถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้แล้วในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคกันอย่างจริงจังทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนนาโนเทคโนโลยีแล้ว ในประเทศไทยต้องยอมรับว่าเรื่องนาโนเทคโนโลยียังไม่เป็นที่แพร่หลาย  เท่าใดนัก 

     ขณะนั้นเอง คณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้เห็นชอบในกรอบนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ของประเทศ ตั้งแต่ปี 2547-2554  เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายระดับชาติ 6 ด้าน คือ 

     1. มุ่งสร้างเศรษฐกิจชีวภาพสมัยใหม่   

     2. การสนับสนุนการเป็นครัวของโลก   

     3. ประชาชนมีสุขภาพดีและเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งเอเชีย   

     4. รักษาสิ่งแวดล้อมและผลิตพลังงานสะอาด   

     5. สนับสนุนระบบเศรษฐกิจพอเพียง   

     6. สร้างกำลังคนด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่มีคุณภาพพร้อมกับกำหนดคณะทำงาน แนวทางและเป้าหมายอย่างชัดเจน

     นอกจากนี้ดร.ทักษิณ ชินวัตร ยังได้นำเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการพัฒนาของนาโนเทคโนโลยีแนะนำให้ คณะรัฐมนตรีในการประชุม ครม. ได้รับฟังอีกด้วย โดยดร.ทักษิณได้หยิบยกเนื้อหาในหนังสือ The Next Big Thing is Really Small ที่ระบุว่าสิ่งที่ใหญ่ที่สุดต่อไปคือสิ่งที่เล็กที่สุด และกำชับให้รัฐมนตรีทุกคนให้ความสำคัญในเรื่องนาโนเทคโนโลยี โดยเฉพาะกับการส่งเสริมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อดึงศักยภาพออกมาจากท้องถิ่น ให้มีส่วนร่วมในการนำสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศ มาใช้ภายในประเทศและส่งออกไปนอกประเทศ  

     ”เพราะเราเป็นประเทศหนึ่งที่มีเกษตรกรรม มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีเทคโนโลยีชีวภาพอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ถ้าเอา 2 เทคโนโลยีนี้มารวมกัน ก็จะเกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชาติในอนาคต ไม่เช่นนั้นเราจะเป็นชาติที่ทำงานหนัก แต่ได้เงินน้อยอยู่เรื่อย เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีไปด้วย”

Share on facebook
Share on twitter