9 คมความคิดจาก ดร.ทักษิณ ชินวัตร

Share on facebook
Share on twitter

ดร.ทักษิณ เป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีที่ถือเป็นนักสู้ตั้งแต่เด็กจนโต  เมื่อยังอยู่ในวัยเด็ก เขาช่วยพ่อและแม่ทำงานทุกอย่าง งานบางอย่างเกินวัยที่จะทำได้  แต่เขาก็ทำ เมื่อเข้าสู่วัยเรียนก็ต้องฝ่าฟันตั้งแต่ 3 ขวบจากการเรียนอย่างเข้มงวด จนเติบโตเข้าสู่โรงเรียนเตรียมทหาร  ไปจนถึงการสอบชิงทุน ก.พ.เรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก  

ทุกอย่างที่ได้มา  ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เขาทำหลากหลายกิจการ  ประสบความสำเร็จหลายครั้ง และมีหลายครั้งที่ไม่สำเร็จ  แต่ยังลุกขึ้นสู้ จากเส้นทางสายราชการ มาสู่นักธุรกิจ ได้นำพาเขาพลิกชีวิตก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย  

การได้รับการยอมรับจากประชาชนในการเลือกตั้งครั้งแรก  เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเป็นความหวังครั้งใหม่ของประเทศ แม้ในช่วงจังหวะชีวิตจะมาเป็นอย่างที่หวัง แต่ไม่เคยได้ยินคำว่ายอมแพ้จากเขาเลยสักครั้ง  เพราะมีข้อคิดดีๆ เหล่านี้

 “ทุกสิ่งจะเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จ สมบูรณ์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับพื้นฐาน หรือ fundamental  และพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของชีวิตย่อมไม่พ้นครอบครัวที่ดี เช่นเดียวกับการสร้างบ้าน ถ้าไม่ตอกเสาเข็มให้หนักแน่น ย่อมสร้างบ้านแข็งแรงมั่นคงได้ยาก หากบ้านมีเสาเข็มดี ต่อให้สร้างไว้ชั้นเดียว โอกาสที่จะเติมชั้นสองหรือชั้นสามก็เป็นไปได้เสมอ”

หลายครั้งที่ ดร.ทักษิณ พูดถึงครอบครัว อดีตภรรยาที่คอยสนับสนุนโดยเฉพาะการดูแลลูก ๆ ให้มีชีวิตที่ดี ส่วนลูก ๆ ทั้งสามคนของเขา  ถือเป็นวิตามินที่ช่วยให้เขามีแรงกำลังที่จะออกไปสู้กับงานนอกบ้านได้ นอกเหนือจากข้อคิดด้านครอบครัวที่เป็นเหมือนเกราะปกป้องให้เขาฟันฝ่าอุปสรรคทุกอย่างไปได้แล้ว  ในช่วงของการทำธุรกิจ ซึ่งมีทั้งที่ประสบความสำเร็จและพ่ายแพ้ในเกมธุรกิจ เขายังมีข้อคิดที่ทำให้เขาผ่านไปได้

“ผมมีนิสัยอย่างหนึ่งคือ ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองถึงทางตันแล้วค่อยหาทางออก ด้วยเหตุนี้เอง ก่อนกิจการฉายภาพยนตร์จะดิ่งลงต่ำสุด ผมก็ขยับไปสู่ธุรกิจอื่นแล้ว”

ในช่วงที่เพิ่งจบจากต่างประเทศพร้อมกับเงินก้อนเล็กๆ เขาลงทุนทำธุรกิจหลายอย่าง แรกๆมักไม่ประสบความสำเร็จ  เขาไม่เคยมองว่าเป็นเรื่องล้มเหลว แต่ในความเป็นจริง มันคือบททดสอบให้ก้าวต่อไป เป็นประสบการณ์ที่ยิ่งลงมือทำ ยิ่งได้  อย่างที่หลายคนเคยบอกว่า คนไม่เคยลงมือทำ มักจะไม่เคยผิด และพวกเขาเหล่านั้นจะไม่เจ็บไม่เป็นเลย ซึ่งไม่ใช่กับคนที่ชื่อ ดร.ทักษิณ

“ผู้แพ้เห็นปัญหาทุกครั้งที่มีโอกาส ส่วนผู้ชนะจะเห็นโอกาสทุกครั้งที่มีปัญหา แม้ว่าโอกาสที่เห็นนั้นอาจสำเร็จหรือพลั้งพลาดบ้างในภายหลัง” เขามองว่า ความผิดพลาดคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ แม้จะพลาดไปแล้วและสูญเสียเกือบทุกอย่างในชีวิตก็ยังมีความหวัง 

“ถึงเหลือแต่กางเกงในตัวเดียวก็ยังทำกำไร เพราะคนเราเกิดมาไม่มีอะไรติดตัวมา ฉะนั้นอย่าไปยอมแพ้ ความลำบากทำให้คนแข็งแกร่ง ประเทศไทยยังให้โอกาสคนอีกเยอะ” 

ทุกครั้งที่เขาเห็นสัญญาณการทำธุรกิจจะไปได้ไม่ดี เขาจะไม่ยอมให้ธุรกิจนั้นล้มไปต่อหน้าต่อตา  วิธีของเขาที่ทำมาตลอดตั้งแต่ธุรกิจแรกจนถึงปัจจุบัน คือการยืนขึ้นให้ได้ก่อนที่จะล้ม เช่น เพียงหนึ่งเดือน เขาเริ่มเห็นว่าร้านผ้าไหม พ.ชินวัตร ไปไม่ไหว เขาเตรียมที่จะเลิกกิจการ  แต่ก่อนที่จะเลิกกิจการนั้นเขาเริ่มมองหาธุรกิจใหม่แล้ว เพื่อให้ธุรกิจใหม่สร้างเงินมาใช้หนี้สินเก่าจากธุรกิจเดิมได้

“ผมมีสไตล์การทำธุรกิจแบบไม่ fighting a losing war คือไม่ทนต่อสู้ในสงครามที่รู้ว่าจะมีจุดจบอยู่ที่ความพ่ายแพ้ หรือเห็นอยู่ว่าอย่างไรก็ต้องสูญเสีย ผมยังนิยมเอาของใหม่ที่ใหญ่กว่า ไปล้างของเสียซึ่งเล็กกว่าด้วย”

เมื่อธุรกิจเครือข่ายโทรศัพท์ของเขาเติบโตขึ้น ในช่วงแรกมีคู่แข่งไม่กี่ราย  แต่เมื่อการค้าเสรีเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาทำการค้าได้ ยิ่งทำให้เขาต้องทำงานหนักมากขึ้น  หาข้อมูลเพื่อที่จะตั้งรับในเวทีแห่งการแข่งขันทางธุรกิจให้ได้ ท้ายที่สุดแล้วเพราะการเตรียมตัวของเขามาอย่างดี ทำให้ธุรกิจนี้เติบโตจนธุรกิจขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศ

“บทเรียนธุรกิจของผมคือ หนึ่ง อย่าค้าขายเกินตัว สอง การค้าในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ ต้องสัมพันธ์กันในระดับโลก ถ้าเราไม่เรียนรู้เรื่องต่างประเทศ ก็เท่ากับเราต้องรับฝ่ายเดียว รอวันถูกชก ไม่มีโอกาสได้รุก สาม ต้องดูข้อมูล งานวิจัยต่างๆ ให้มากเข้าไว้ คอยเช็กความเคลื่อนไหวของโลกโดยตลอด สี่ การบริหารต้องเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ต้องลงทุนแสวงหามือดีๆ มาช่วยกันสอดส่อง และห้า สำคัญที่สุดคือ เวลาเป็นหนี้มากๆ ต้องคอยดูว่าจะเอารายได้ที่ไหนจ่าย เพราะทุกอย่างมันจะกลับไปสู่จุดพื้นฐานที่สุดคือรายรับ รายจ่าย”

ดร.ทักษิณมองว่า ธุรกิจเหมือนร่างกาย ภายในร่างกายในด้านต่างๆ เช่น น้ำตาล ความดัน ฯลฯ เป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพได้ดี  หากเทียบร่างกายกับบริษัท หนี้คือดัชนี หมายความว่าเจ้าของธุรกิจควรหมั่นเช็คสุขภาพ (หนี้) บ่อยๆ และเมื่อเปรียบร่างกายเป็นประเทศ  ดัชนีที่สำคัญ คือ การส่งออก นำเข้า เงินเฟ้อ ฯลฯ หากไม่ดูแลอาจเป็นมะเร็ง  และหากปล่อยไว้อาจไม่มีทางรักษาได้ ประเทศอาจจะตกอยู่ในสภาวะย่ำแย่ได้

ในด้านของการบริหารคน ซึ่งมีผลต่อองค์กรในภาพรวม เขามองว่าองค์กรเป็นเหมือนองคาพยพ ที่เมื่อผู้นำตัดสินใจดำเนินการอย่างไร  ทีมจะต้องร่วมมือร่วมใจกันทำให้สำเร็จให้ได้ ยิ่งหากตัดสินใจเพื่อนำเอาสิ่งใหม่ที่ดีกว่า มาทดแทนสิ่งเดิม ทุกคนในทีมต้องเชื่อ  เชื่อในการตัดสินใจ

“การแก้ปัญหาสไตล์ของผมคือมองหาสิ่งใหม่ที่ใหญ่กว่ามาทำความสะอาดขยะกองเก่า…ผมนึกย้อนดูคงเหมือนที่ แอนดรูว์ กรูฟ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเทลบริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของโลกเคยเขียนไว้ว่า ตอนเขาทิ้งพวกแผงวงจรไอซีมาทำโปรเซสเซอร์อินเทลอย่างเดียว เขาถูกต่อต้านจากผู้บริหารเป็นอันมาก แล้วเขาก็พบว่าการโน้มน้าวใจไม่สัมฤทธิ์ วิธีที่ถูกก็คือปลดคณะกรรมการออกทั้งชุด เนื่องจากบุคลากรแม้เป็นคนดีมีความสามารถ แต่ถ้าทัศนคติไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีวันทำงานสำเร็จ”

จากแนวคิดด้านธุรกิจ มาสู่แนวคิดทางด้านการเมือง  ดร.ทักษิณตัดสินใจเข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง  เมื่อเห็นแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยเริ่มแย่ เขาจึงอาสาเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อแก้ปัญหา  หวังจะนำเอาความรู้ความสามารถด้านการบริหารมาช่วยได้ แต่สิ่งที่คิดนั้นอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด

“ผมอยากชี้ให้เห็นว่า ความเชี่ยวชาญทางการเมืองกับความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการนั้นต่างกัน เราต้องไม่ลืมว่า แก่นแท้ของหน้าที่ผู้แทนราษฎรคือ บริหารองค์กรใหญ่ที่สุด คือประเทศไทย การเมืองเป็นเพียงเปลือกหรือรูปแบบ การบริหารต่างหากคือสาระสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรประเทศไทย”

แนวคิดข้างต้นทำให้เขารู้ว่า ศาสตร์ของการเมืองกับบริหารนั้นตัดขาดออกจากกันไม่ได้  จะใช้ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งคงไม่ประสบผลสำเร็จ การผสมผสานกันคือทางออกที่ดีที่สุด ส่วนบุคลากรซึ่งมีคีย์แมนสำคัญในการบริหารประเทศคือนักการเมือง  จะต้องมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก

“ถ้าเราเลือกนักการเมืองที่เก่งแต่สร้างสีสันทางการเมืองมาเป็นผู้แทน ก็เท่ากับเราปล่อยให้ประเทศบริหารโดยผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองมากกว่าผู้เชี่ยวชาญทางการบริหาร หรือหลงไปกับรูปแบบโดยพลาดสาระสำคัญไป และนี่เองคือสาเหตุว่า ทำไมทุกวันนี้ชาติเราถึงมีปัญหาที่แก้ไม่ได้มากมาย”

ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของความคิดอันแหลมคมของอดีตนายกรัฐมนตรีในหัวใจของคนไทย  เขาคือนักคิด นักทำ ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แนวคิดของเขาทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นจนก้าวไปสู่เวทีโลกได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

Share on facebook
Share on twitter