แรงบันดาลใจประเทศไทยยุคดิจิทัล

Share on facebook
Share on twitter

       สิ่งที่ชาวสันกำแพงเห็นจนชินตา คือภาพของเด็กชายทักษิณ เดินตามพ่อเลิศไปทำงานในที่ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละงานของพ่อเลิศนั้นมีความหลากหลาย ทั้งค้าขาย ทำสวน  ซ่อมเครื่องยนต์ รถยนต์ เครื่องจักร ไปจนถึงฉายหนัง เขาตามพ่อไปด้วยทุกที่ ทำงานทุกอย่าง ไม่เหนื่อยและยังสนุกเพราะได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ  ในบรรดางานที่เขาช่วยพ่อทำ และชื่นชอบมากเป็นพิเศษจนทำเป็นธุรกิจและนำมาพัฒนาประเทศ คือ อุปกรณ์เครื่องมือที่เกี่ยวกับเทคนิคและการสื่อสาร 

แม้ในวัยเด็ก เทคโนโลยีจะยังมาไม่ถึง แต่ตัวเขาชื่นชอบด้านเครื่องมือ กลไก และอุปกรณ์ด้านเทคนิคต่างๆ เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็น ดร.ทักษิณ จึงต่อยอดเข้ากับวิวัฒนาการที่เข้ามาในจังหวะที่พอดี  จึงทำให้เขากลายเป็นผู้นำของธุรกิจด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีของไทย

“หัวใจความสำเร็จในยุคดิจิทัลนี้คือ ต้องทำธุรกิจด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยใช้ข้อมูลข่าวสารที่มี เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด” 

เมื่อมีโอกาสได้รับใช้ประเทศชาติในฐานะของนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก  เขาได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารประเทศด้วยในช่วงที่ประเทศไทยยังไม่มีดาวเทียมที่มีเจ้าของเป็นคนไทย ดร.ทักษิณ กลับเป็นคนไทยตัวเล็กๆ ที่ก่อร่างสร้างบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ ด้วยตัวเอง  เข้าประมูลโครงการดาวเทียมมูลค่า 8,000 ล้านบาท โดยที่บริษัทของเขาไม่มีหุ้นของนายทุนอื่น หรือ ผู้สนับสนุนจากต่างชาติ ในวันที่ประเทศไทย  เริ่มใช้วิทยุติดตามตัว  โดยบริษัทต่างชาติและผู้ถือหุ้นคนไทยเป็นผู้ให้บริการหลัก แต่ ดร.ทักษิณ ได้เปิดให้บริการวิทยุติดตามตัวแข่งขันกับบริษัทต่างชาติ เพื่อให้คนไทยได้ใช้บริการในกิจการของคนไทยด้วยกันเอง

ในช่วงที่ ดร.ทักษิณ เป็นนักธุรกิจสร้างตัว  เขามักจะเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อศึกษาเทคโนโลยีของต่างชาติ โดยเฉพาะในฝั่งยุโรป ซึ่งในยุคนั้นในต่างประเทศได้เริ่มใช้โทรศัพท์มือถือแบบที่สามารถเห็นหน้าของคู่สนทนาได้แบบเรียลไทม์ และเขาอยากจะเอาเทคโนโลยีนี้มาให้คนไทยใช้ด้วย เหตุผลที่เขาชื่นชอบเทคโนโลยีมากเป็นพิเศษ  เพราะเขามองเห็นว่าในอนาคต หากใครก้าวตามไม่ทัน ไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยีแล้ว  การดำเนินชีวิตของผู้คน การทำธุรกิจ การพัฒนาประเทศ จะก้าวไม่ทันต่างชาติแน่นอน

“อนาคตของธุรกิจล้วนเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร  และความรวดเร็วในการที่ธุรกิจจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารนั้น เพื่อพัฒนาผลิตภาพ  เพิ่มประสิทธิภาพและล้ำหน้ากว่าคู่แข่งขันได้ หัวใจสู่ความสำเร็จในยุคดิจิทัลนี้ คือต้องทำธุรกิจด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด”

เราอาจจะเคยชินกับการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ แต่ ดร.ทักษิณ กลับมองว่า เทคโนโลยีนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารบ้านเมืองด้วย เพราะเทคโนโลยีทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เท่าเทียมกัน เป็นแรงผลักดันกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศด้วย ดร.ทักษิณ ยังได้ผลักดันให้ทุกห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ และมีอินเทอร์เน็ตใช้ในทุกตำบล เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาปรับตัวใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่ ครูอาจารย์ได้ทบทวนเทคนิคการสอน เพื่อให้สอดคล้องกันไปด้วย นี่คือสิ่งที่เขาเคยพูดไว้เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2548 และทำได้จริงในอีก 4 ปีถัดมา

“เรากำลังทำอะไรมากมาย แต่ก็ยังมีสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่อีกมากมาย เราตระหนักดีว่า ตรงปลายอีกด้านหนึ่งนั้น เรายังมีประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของช่องว่างของความแตกต่างในการเข้าถึงเทคโนโลยี” ส่วนหนึ่งในนโยบายที่เขาเดินหน้าในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในช่วงที่เป็นรัฐบาล คือโครงการห้องสมุด (e – Libraries) คอมพิวเตอร์ราคาประหยัด และอินเทอร์เน็ตสาธารณะ  

ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความชื่นชอบในวัยเด็ก  เกิดเป็นแรงบันดาลใจมาสู่การนำเอาเทคโนโลยีนั้นมาสร้างความเท่าเทียมให้กับประชาชน

Share on facebook
Share on twitter