ครูพันธุ์ใหม่ สร้างโรงเรียนในฝัน

Share on facebook
Share on twitter

       การปฏิรูปการศึกษา คือหนึ่งในภารกิจสำคัญของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยให้ความสำคัญกับ 3 ส่วนประกอบสำคัญทางการศึกษา คือ การบริหารการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครูและนักเรียน 

“การบริหารการศึกษานั้น  ผู้บริหารต้องทำหน้าที่ทั้งผู้บริหารและผู้นำทางการศึกษา ทั้งบริหารการเงิน บุคคลและผลที่ได้รับตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยต้องมีความเป็นผู้นำ ที่เป็น leadership ในการนำครู ให้เป็นครูที่ดี เป็นครูที่รักนักเรียน และ inspire  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เรื่องหลักสูตรการสอน ต้องยืดหยุ่น ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และบูรณาการหลักสูตรให้ทันสมัย” 

ส่วนเรื่องของครูกับนักเรียนนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้เขาหนักใจที่สุด เพราะต้องเปลี่ยนทัศนคติหรือกระบวนทัศน์ของครู ให้ครูและนักเรียนคิดร่วมกัน โดยครูต้องทำหน้าที่เป็น Facilitator (ผู้อำนวยความสะดวก)  ต้องเตรียมการสอน สร้างหัวข้อการเรียนที่ท้าทายให้เด็กคิดร่วมกัน แล้วครูคอยดูพร้อมแนะนำว่าเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือจะต้องรักนักเรียนเหมือนลูก ที่ต้องให้ความอบอุ่นและมีความหวังดีให้กัน

แนวคิดดังกล่าว นำมาซึ่งโครงการสำคัญที่ได้รับการผลักดันขึ้นในภารกิจปฏิรูปการศึกษาของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกฝ่าย คือ “โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” ที่มีเป้าหมายให้ทุกอำเภอ มีโรงเรียนชั้นดียุคใหม่ ตามระบบการศึกษาแผนใหม่ ที่นักการศึกษา นักเรียน ผู้ปกครองและครู เป็นผู้ช่วยกันสร้างโรงเรียนที่ดี  แนวคิดจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เด็กต่างจังหวัดมีโอกาสที่จะเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ผ่านการสอนจากครูคุณภาพ มีสื่อการเรียนการสอนที่ทรงคุณภาพ 

“ไม่ใช่ว่าทุกคนจากทั่วประเทศจะวิ่งเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ เซนต์คาเบรียลหรือเตรียมอุดมศึกษา ต้องให้ทุกอำเภอมีโรงเรียนดีๆ ไม่เช่นนั้นประเทศไทย ซึ่งมี 2 สังคม และวัฎจักรของ 2 สังคมนี้จะเป็นวัฎจักรที่แยกกันและนับวันจะเป็นสังคมที่ห่างกันออกไปเรื่อยๆ จึงต้องพยายามลดช่องว่างให้เหลือสังคมเดียวให้เร็วที่สุด” 

โครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” เปิดโครงการอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 กันยายน ปี 2546 ที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร โดย ดร.ทักษิณ ได้สาธิตวิธีการสอนวิชาคณิตศาสตร์ให้กับนักเรียนชั้น ม.5/5  เพื่อเป็นแบบอย่างของครูในฝัน  

วิธีการสอนของเขาคือสอนให้เด็กคิดอย่างมีทักษะ  คิดแบบใหม่ และแทรกมุขตลกเพื่อให้ทุกคนสนุกกับการเรียน แม้จะผ่านมา 20 ปีแล้ว  แต่วิดีโอการสอนในวันนั้น กลับยังถูกพูดถึงเป็นวงกว้างมาจนถึงทุกวันนี้ เขาเริ่มต้นด้วยการถอดสูท สวมบทครูพันธุ์ใหม่ สอนวิชาคณิตศาสตร์ที่ตัวเองถนัดมากที่สุด ซึ่งเด็กๆ ทั้ง 42 คนต่างรอคอยการสอนจากครูทักษิณอย่างใจจดใจจ่อ  

ดร.ทักษิณ เริ่มต้นการสอนด้วยการทำความคุ้นเคยกับนักเรียนด้วยประโยคคำถามง่ายๆ ว่า “มีใครไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์บ้าง”  จากนั้นจึงอธิบายเหตุผลเพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีกับวิชานี้ โดยบอกว่า วิชานี้จะทำให้เป็นคนมีเหตุผล มีขั้นตอนวิธีคิด พร้อมออกตัวว่าแม้ตัวเองเป็นนายกฯ ความรู้ระดับด็อกเตอร์ แต่ความรู้คณิตศาสตร์แค่ ม.6 และเป็น ม.6 ในสมัยกว่า 30 ปีที่แล้ว แต่จะมาสอน ม.5 ในปัจจุบัน จึงคาดหวังให้ทุกคนมาเรียนรู้ร่วมกัน 

เขายอมรับว่า ครั้งหนึ่งเคยไม่ชอบคณิตศาสตร์ ทั้งที่ตัวเองถนัดเลขพีชคณิตมาก แต่เมื่อเริ่มเรียนเลขาคณิตเริ่มไม่ชอบครู เพราะครูผู้สอนไม่มีความสุข ไม่มีความสนุกในการสอน จึงทำให้เด็กเครียดตามไปด้วย 

“เกลียดได้เพียงเดือนเดียวก็กลับมาตั้งหลักถามตัวเองจะโง่ต่อไปทำไม เพราะครูคนนั้นไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต เลยตั้งหลักทบทวนบทเรียน ซึ่งก็ไม่ยาก และเรียนตามได้ทัน” ไฮไลต์การสอนในวันนั้น ครูทักษิณยกตัวอย่างโจทย์ง่ายๆ เพื่อพิสูจน์ว่าการเรียนคณิตศาสตร์มีหลายวิธีที่จะไปถึงคำตอบ สำคัญที่ว่าครูจะกระตุ้นให้เด็กคิดได้หรือไม่ 

โดยโจทย์ข้อหนึ่งในชั่วโมงเรียนวิชาคณิตศาสตร์วันนั้น ครูทักษิณ ยกตัวอย่าง “สมมติว่าซื้อผ้าฝ้ายกับผ้าไหมที่โอท็อปมาขายที่จตุจักร ผ้าไหมต้นทุน 400 บาท ขาย 500 บาท ผ้าฝ้าย 200 บาท ขาย 300 บาท แต่ตอนออกจากบ้านมีเงิน 1,000 บาท จ่ายค่ารถขนของ 500 บาท ค่าเช่าแผง 500 บาท แล้วขายจนเย็นได้เงินทั้งสิ้น 40,400 บาท แต่กินข้าวไป 400 บาท และขายผ้าไหมและผ้าฝ้ายได้ทั้งสิ้น 120 ผืน ครูถามว่า ขายผ้าฝ้ายและผ้าไหม อย่างละกี่ผืน และมีกำไรเท่าไร”  

เด็กๆ พยายามแก้สมการจนได้คำตอบ มีทั้งคำตอบที่ถูกและผิด เขาเฉลยว่า ได้กำไร 10,600 บาท โดยแก้สมการด้วยวิธีพีชคณิต  “ถ้าเรียนคณิตเข้มแข็ง ก็จะสามารถต่อยอดวิชาอื่นๆ เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าทิ้งไปก็ต้องท่องสูตรใหม่ ซึ่งลืมได้ง่ายแค่เดินเตะขอบประตู” สิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารในวันนั้น คือความต้องการที่จะทำให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้ เช่นเดียวกับครูผู้สอนที่ต้องสนุกกับการสอนด้วย  เพื่อนำไปสู่การสร้าง “โรงเรียนในฝัน” ร่วมกันของเด็กนักเรียนและครู 

บรรยากาศการสอนในวันนั้น  เต็มไปด้วยความสนุกสนานและเป็นกันเอง มีเสียงหัวเราะครื้นเครง ขานรับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เขาสรรหามาเล่า  ทำให้วิชาคณิตศาสตร์ที่ยากและแสนน่าเบื่อสำหรับเด็กบางคน กลับสนุกขึ้นมาทันที และทั้งหมดคือสิ่งที่เขาทำเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าครูในฝันและโรงเรียนในฝันเป็นอย่างไร

“การสอนคณิตศาสตร์เหมือนกับเราเรียงก้อนอิฐก่อกำแพง เราต้องเอาหินไปเรียงและเทปูนทีละชั้น เราต้องรอให้ปูนมันแห้ง แห้งแล้วค่อยเพิ่มทีอีกชั้น ถ้าปูนแห้งเร็วก็เพิ่มได้เร็ว แต่ถ้าปูนยังไม่แห้งอย่าไปเพิ่ม เพราะน้ำหนักรับไม่ได้ก็จะล้ม ถ้าล้มก็ต้องทำใหม่เสียเวลา คณิตศาสตร์ก็เช่นกันค่อยๆ เรียงแล้ว หากคนเร็วเรียนเร็วก็สอนเพิ่ม ถ้าเรียนช้าก็ต้องพอ เพราะธรรมชาติแต่ละคนไม่เหมือนกัน” 

การปรับโครงสร้างการศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ค่อยมีรัฐบาลชุดไหนกล้าลงมือทำ ด้วยเพราะมีความซับซ้อน มีความทับซ้อนกันของหลายหน่วยงาน  แต่ ดร.ทักษิณ มองข้ามอุปสรรคทุกอย่างไป แล้วเดินหน้าใช้วิธีการ “ทำให้ดู” เพื่อให้หน่วยเล็กๆ ที่สัมผัสกับนักเรียนโดยตรงอย่างครู ได้ลงมือทำก่อน ก่อนที่จะขยายไปสู่วิธีการ หลักการ และโครงสร้างของการศึกษาทั้งระบบได้ง่ายขึ้น

“เมื่อก่อนเราเติบโตมาจากแนวคิดที่ว่า division operator คือการแบ่งงานเป็นอย่างๆ ท่อนๆ ใครทำหน้าที่อะไร ก็ทำหน้าที่นั้น ไม่สนใจว่าคนอื่นเขาทำอะไร ในยุคใหม่คำว่าบูรณาการเป็นเรื่องสำคัญ มาจากแนวคิดที่ว่าอะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในองค์กรเดียวกันจะเชื่อมโยงกันโดยตรงและโดยอ้อม เหมือนร่างกายมนุษย์ ซึ่งเรียกว่า inter independent”

 “โรงเรียนในฝัน” จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของครูที่ชื่อ ดร.ทักษิณ ที่ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มขยับ ปรับตัวการสอนให้ได้อย่างที่เขาทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เรื่องเล็กน้อยมหาศาลนี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษาไทยและเด็กไทยได้สนุกกับการเรียนรู้แบบไร้ข้อจำกัด 

Share on facebook
Share on twitter