ดร.ทักษิณ แนะนำหนังสือ 3 เล่มส่งท้ายปีเก่า : ทำความเข้าใจภูมิทัศน์แห่งการเปลี่ยนแปลง

Share on facebook
Share on twitter

ในยุคร่วมสมัยที่ภูมิทัศน์ของความมั่นคง เคลื่อนจากปริมณฑลทางการทหารมาสู่การเสริมสร้างสวัสดิภาพแก่มนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม วิกฤติและความยากลำบากในชีวิตรูปแบบใหม่จึงทยอยเกิดขึ้นเป็นพลวัต ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นได้จากกรณีความขัดแย้งที่เกิดจากความต่างระหว่างวัย (Generation Gap) ความขัดแย้งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว รวมไปถึงการจัดที่ทางระหว่างบทบาทของรัฐบาลและภาคเอกชน ที่ประชาชนในหลายประเทศ โดยเฉพาะไทยกำลังเผชิญและแบกรับ

สิ่งเหล่านี้ได้พัฒนามาเป็นคำถาม และประเด็นสำคัญที่นักวิชาการต่างประเทศจำนวนมากพยายามร่วมมือกันรื้อถอนมาตลอด โดยในโอกาสส่งท้ายปีเก่าแห่งมหาวิกฤติและก้าวสู่ปีใหม่นี้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้แนะนำหนังสือที่น่าสนใจเกี่ยวกับรูปแบบวิธีการฝ่าวิกฤติข้างต้นไว้ถึง 3 เล่มด้วยกัน ดังนี้

เล่มที่ 1 คือ – Generations, does when u are born shape who you are? By Bobby Duffy

“หนังสือเล่มนี้ให้ข้อคิดที่ทำให้เราเข้าใจความคิดของคนในแต่ละรุ่น ทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชีวิตของคนแต่ละรุ่น เช่น สถานการณ์ใหม่ที่ประสบ เช่น สงครามโรคระบาด อายุที่เปลี่ยนไป มีลูก หรือเกษียณ ทัศนคติที่เปลี่ยนไปจากการรวมกลุ่มหรือเข้าสังคม เมื่อเราเข้าใจสภาพแวดล้อมของคนแต่ละวัยและความเปลี่ยนแปลงระหว่างช่วงชีวิต จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจมากกว่าจะขยายความขัดแย้ง ผมเองก็ต้องปรับตัว เพราะผมเป็น Baby Boomer ลูกเป็น Young Gen X และ Early Gen Y มีหลานเป็น Gen Alpha แต่เราเป็นครอบครัวที่อบอุ่น มีแต่ความรัก ความเข้าใจกัน จึงต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ผมยังแข็งแรงพร้อมจะแชร์ประสบการณ์กับลูกและหลานด้วยความเข้าใจรุ่นและวัยตามวิธีคิดของเขา”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร

บอบบี อดีตผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกลยุทธ์ของสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาโดยวางโจทย์สำคัญไว้ที่การพยายามตั้งคำถามถึงลักษณะการแปะป้ายเหมารวมให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่ (Gen Millennial) เป็นกลุ่มคนที่เอาแต่ใจ ไม่ฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และขี้เกียจทำงาน หรือแม้แต่การเหมารวมว่ากลุ่มผู้สูงวัย (Baby boomers) เป็นกลุ่มที่มีความตื่นรู้ทางเพศมากที่สุดนี้ ว่าเป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลเพียงพอแล้วหรือยัง โดยบอบบีนำทฤษฎีว่าด้วยเรื่องเจเนอเรชัน (Generation) ของคาร์ล แมนไฮม์ (Karl Mannheim) เข้ามาช่วยอธิบายว่า ลักษณะเฉพาะของคนแต่ละกลุ่มนั้นมีผลมาจากประสบการณ์ร่วมที่คนกลุ่มนั้น ๆ มีในช่วงเป็นเยาวชน และเมื่อเทคโนโลยีเชื่อมต่อถึงกันทำให้คนจำนวนมากที่เติบโตมาในยุคร่วมสมัยกันมีประสบการณ์และความทรงจำร่วมถึงกันได้ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีเซอร์เคิล ออฟ เอกเซเลอเรชัน (Circle of acceleration) ของฮาร์ตมุต โรซา (Hartmut Rosa) ที่พยายามอธิบายโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ผ่านปัจจัยเร่งด้านการเติบโตทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม และจังหวะชีวิตมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะช่วยให้มนุษย์เรามองเห็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังลักษณะเฉพาะของคนแต่ละกลุ่มช่วงวัยได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยไม่ซับซ้อนหรือมีภาษาที่ยากจนเกินไป

เล่มที่ 2 คือ – The Work Life Balance Myth: Rethinking your optimal balance for success by David Mcneff

“หนังสือเล่มนี้เป็นการเตือนใจทุกคนในวัยทำงานและมีครอบครัว ซึ่งแต่ละคนย่อมมีปัญหาและสภาพแวดล้อมในชีวิตที่ต่างกันไป ถึงแม้เราจะได้รับการเตือนว่ารู้จักแบ่งเวลาระหว่างงานกับส่วนตัวออกจากกัน ถึงแม้จะเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่มีใครทำตามแบบอย่างใครได้ เพราะสภาพแวดล้อมคนต่างกัน แต่ทุกคนต้องตระหนักและจัดแบ่งเวลาให้ลงตัว เพื่อความสุขและความเข้มแข็งในครอบครัว และความสำเร็จในงาน”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร

ผู้เขียนเป็นโค้ชให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลที่มีประสบการณ์ก่อตั้งบริษัทพีคคอนซัลทิงกรุป (Peak Consulting Group) มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ซึ่งได้ทดลองตั้งคำถามถึงแนวคิดกระแสหลักที่พยายามท้าทายกติกาของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมด้วยการแยกชีวิตส่วนตัวและการทำงานออกจากกัน จากการทำทดลองกับกลุ่มลูกค้าในบริษัทของตนเอง โดยเดวิดให้ข้อสรุปเอาไว้ว่า มนุษย์มีความซับซ้อนและมีรายละเอียดภายในมากเกินกว่าจะสามารถแบ่งชีวิตออกเป็นเพียงขั้วของความเป็นส่วนตัวและความเป็นงาน เพราะมนุษย์แต่ละคนต่างมีคุณค่าที่ยึดถือต่างกัน ไม่ว่าจะครอบครัว สุขภาพ การศึกษา อารมณ์ หรือแม้แต่จิตวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถระบุและตั้งข้อสรุปให้แก่กันอย่างแน่ชัดได้

เล่มที่ 3 – Mission Economy: A moonshot guide to changing capitalism by Mariana Mazzucato

“ผมเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า Small Government หลังยุค Thatcher & Raegan Revolution น่าจะหมดวงจรแล้ว คงต้องเพิ่มบทบาทของรัฐบาลในการมีบทบาทในนวัตกรรมใหม่และลงทุนรับความเสี่ยงแทนประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีการกระจายความรู้ใหม่สู่ทุกภาคส่วนของประชาชน เพื่อจะได้เกิดความ Fair และมีอนาคตที่มั่งคั่งของคนส่วนใหญ่ได้ ควรอ่านอีกเล่มคือ The Power of Creative Destruction: Economic Upheaval and the Wealth of Nations โดย Philippe Aghion จะเข้าใจเหตุผลได้ดีขึ้น”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร

เล่มนี้มาเรียนา ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์นวัตกรรมและคุณค่าสาธารณะ (Economics of Innovation and Public Value) เขียนขึ้นโดยมีจุดประสงค์ในการท้าทายขนบความคิดแบบทุนนิยมสมัยใหม่ที่สนับสนุนให้รัฐผลักตัวเองออกห่างจากระบบตลาดและวงจรไหลเวียนทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด (Small government) ตามรัฐบาลของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ที่พยายามขยายบทบาทของภาคเอกชนและลดทอนบทบาทของรัฐ เป็นต้น โดยมาเรียนาเสนอว่า แนวทางที่สามารถสร้างมูลค่าและผลักดันให้ตัวแสดงทุกตัวในระบบตลาดสมัยใหม่ได้ประโยชน์เทียบเท่ากัน ตามโจทย์ “เป้าหมายระดับสาธารณะ” (Public purpose) มากที่สุดนั้น รัฐจำเป็นต้องปรับตัวและเข้ามามีบทบาทมากขึ้น (Big government) มีความกล้าในการเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรม และเป็นตัวแทนในการแบกรับความเสี่ยงของสาธารณะมากขึ้น (Bold public investment) เพื่อกระตุ้นให้ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นสามารถช่วยกระจายการเรียนรู้ไปยังพื้นที่ทางเศรษฐกิจแต่ละแห่งอย่างทั่วถึง กล่าวอย่างพื้นฐานที่สุด มาเรียนากำลังเสนอแนวทางในการรื้อฟื้นบทบาทของรัฐ และปรับปรุงระบบทุนนิยมในปัจจุบันให้ตอบโจทย์ความมั่นคงมนุษย์ และกล้ารับความเสี่ยงเพื่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้น

บทความโดย บรรณาธิการ Thaksin Official