Climate Change นับถอยหลังสู่ภาวะโลกรวน ความเปลี่ยงแปลงที่รอไม่ได้

Share on facebook
Share on twitter

“ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ อย่างตอนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอถมทะเลที่บางขุนเทียน สร้างเกาะขึ้นมาคอนเซ็ปต์เดียวกับเนเธอร์แลนด์ ซึ่งก็ถึงเวลาที่เราต้องทำแล้ว ซึ่งไม่ได้ทำวันเดียวเสร็จมันต้องใช้เวลาเป็นสิบปีนะ แต่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้ สมัยก่อนพันปีที่แล้วทะเลมันเข้าไปถึงไกลมาก เลยไปถึงอยุธยา ชัยนาท เพราะฉะนั้นมันก็พร้อมจะกลับไปเป็นทะเลได้ถ้าหากเราไม่ดูแลมัน”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร | Care Talk : วันที่ 23 พ.ย. 2564

หากกล่าวถึงภาวะโลกรวน (Climate change) สิ่งที่คนจำนวนมากนึกถึงอาจเป็นภาวะน้ำแข็งขั้วโลกละลาย และการเกิดสภาวะเรือนกระจก ที่ทำให้อุณหภูมิโลกปรับตัวขึ้นสูงที่สุดในรอบ 142 ปี แต่ในความเป็นจริง ภาวะโลกรวน เป็นประเด็นที่มีความหมายกว้างขวางและสามารถสร้างผลกระทบมหาศาล มากกว่าแค่การแปรปรวนของสภาพอากาศตามฤดูกาลอย่างที่เข้าใจกัน ทั้งไฟป่า น้ำท่วม ฝุ่นควันประเภท PM2.5 โรคระบาด หรือแม้แต่ความเสียหายในพืชผลทางเกษตรต่างเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าวทั้งสิ้น และในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

ทั้งนี้ แม้ว่าสหประชาชาติจะมีการจัดประชุม COP (Conference of the Parties) เพื่อค้นหามาตรการลดมลภาวะทางอากาศของโลกและยื่นแนวทางการพัฒนาต่อประเทศสมาชิกเป็นประจำทุกปี แต่ด้วยสหประชาชาตินั้นไม่มีอำนาจในการบังคับใช้ ทำให้ประเทศสมาชิกไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตาม และสามารถคัดค้านข้อเสนอของที่ประชุมได้ทุกโอกาส ซึ่งครั้งล่าสุดคือ กรณีที่อินเดียและจีนประกาศคัดค้านข้อเสนอยุติการใช้พลังงานถ่านหิน (Fossil fuel) ในการประชุมคอป26 (COP26) ที่ผ่านมา

ปัญหาเรื้อรังข้างต้นทำให้หลายประเทศพยายามปรับตัวโดยเริ่มจากนโยบายที่เน้นบังคับใช้กับคนในประเทศเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น ในประเทศไอซ์แลนด์ที่มีบริษัทไคลมเวิร์กส์ เอจี (Climeworks AG) ช่วยพัฒนาโครงการสร้างโรงงานดักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศมาผสมกับน้ำแล้วฝังลงไปใต้ดินจากนั้นก๊าซจะกลายสภาพเป็นหินโดยอัตโนมัติ เป้าหมายของโรงงานนี้ คือ การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 9,000 เมตริกตันต่อปี

ส่วนในสหราชอาณาจักรที่เคยเป็นพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทางนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด (University of Oxford) และเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) ก็พยายามพัฒนาวิธีการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินและโรงงานผลิตเหล็กซึ่งสะสมอยู่ในอากาศ มาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์แล้วนำกลับไปใช้ประโยชน์อีกครั้ง (Carbon capture and utilization) ร่วมกับบริษัททาทา สตีล (Tata Steel)

อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจ และไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีชั้นสูง คือ แผนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอาร์เนม (Arnhem) ประเทศเนเธอร์แลนด์ภายใน 10 ปี ด้วยการลดปริมาณถนนที่สร้างด้วยยางมะตอยลงร้อยละ 10  ในถนนที่มีผู้สัญจรน้อย แล้วเพิ่มพื้นที่สีเขียวบริเวณรอบเส้นทางสัญจรให้มากขึ้น เพราะสีดำจากยางมะตอยจะเป็นตัวดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์ในปริมาณมาก ทำให้บริเวณที่ลาดยางมะตอยมีอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในระดับต่ำกว่าน้ำทะเล หากมีการนำหญ้าสีเขียวมาปลูกแทนที่ส่วนที่นำยางมะตอยออก จะทำให้น้ำฝนถูกซับลงไปในผืนดินแทนท่อระบายน้ำ ซึ่งช่วยลดอัตราการเกิดน้ำท่วมในอนาคต

สิ่งเหล่านี้เรียกว่าไคลเมต เทค (Climate Tech) ที่เกิดขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และลดการพึ่งพาพลังงานที่ไม่สะอาด โดยจำกัดให้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันน้อยที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ภาครัฐต้องร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตเทคโนโลยีตอบสนองให้เท่าทันกับพลวัตของโลกในศตวรรษที่ 21

หากย้อนกลับมาที่ไทย จะเห็นได้ชัดว่าไทยยังไม่มีการริเริ่มจากภาครัฐในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาแก้ปัญหาเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนเลย ทั้งที่ข้อมูลในดัชนีความเสี่ยงโลกรวน (Global Climate Risk Index) ปี 2018 ชี้ว่า ไทยอยู่อันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงจากภาวะโลกรวนสูงที่สุด

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กรณีของน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 ซึ่งกินระยะเวลามากกว่า 4 เดือน ประเมินความเสียหายได้มากกว่า 150,000 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายกว่า 200,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้สาเหตุหลักมาจากที่ไทยไม่มีระบบการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นำระบบ 2 ท่อมาใช้แทนระบบท่อรวม เพื่อแยกท่อระบายน้ำฝนกับท่อระบายน้ำเสียจากครัวเรือนออกจากกัน ทั้งที่ปัจจุบันเมืองระดับมหานครทั่วโลกได้นำระบบนี้มาใช้แล้ว เพราะน้ำเสียครัวเรือนมีทั้งเศษอาหาร และขยะ จึงควรอยู่ในระบบปิดเพื่อนำเข้ากระบวนการบำบัดไม่ให้สัตว์พาหะเข้าไปแพร่เชื้อ

รายงานของสหประชาชาติเคยสรุปว่า เมืองที่มีผังเมืองเหมาะสมจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นให้ความสำคัญกับการรับมือปัญหาภาวะเรือนกระจกเป็นหลัก ซึ่งยังขาดมิติการวางแผนชุมชนเมือง หรือผังเมือง เพื่อออกแบบสภาพแวดล้อมของเมือง และเครือข่ายการคมนาคมขนส่งให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ทำให้การพัฒนายังคงเป็นรูปแบบบนลงล่าง (top-down) ไม่สามารถวางรากฐานการแก้ไขให้ยั่งยืนได้ เนื่องจากภาครัฐไม่มีความเข้าใจในเงื่อนไขและบริบทของประชาชนในพื้นที่เพียงพอ

“ตอนนี้พวกแผ่นน้ำแข็งในขั้วโลกใต้กับขั้วโลกเหนือมันเริ่มละลายแล้ว ถ้ามันละลายมากมันก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูง ขณะนี้บ้านเราน้ำทะเลต่ำกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เพียง 10 ซม. ถ้าน้ำแข็งมันละลายมันจะเพิ่มขึ้นมา มัลดีฟส์จะแย่ลง จะหายไปหลายเกาะ กรุงเทพฯ น้ำก็จะท่วม ท่วมแบบระบายไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้”

ดร.ทักษิณ ชินวัตร | Care Talk : วันที่ 23 พ.ย. 2564

หากภาครัฐยังไม่เร่งดำเนินการแก้ไขผังเมืองแล้วปล่อยให้ระบบโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพรองรับปริมาณน้ำฝนได้แค่เพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เหมือนเช่นที่ผ่านมา กรุงเทพฯจะมีอายุได้อีกไม่เกิน 80 ปี ก่อนจมหายลงสู่ใต้บาดาลไป หลังจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นเกิน 2 เมตร ตามการประเมินของสหประชาชาติ 

บทความโดย กองบรรณาธิการ Thaksin Official