สร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต-TK Park-TCDC เพื่อสังคมไทย

Share on facebook
Share on twitter

ดร.ทักษิณ ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ การอ่านทำให้ ดร.ทักษิณ เป็นเด็กเรียนดี  เก่งวิชาคำนวณและภาษาจนได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลจากระดับปริญญาโทถึงปริญญาเอก อุปนิสัยใฝ่หาความรู้จึงอยู่คู่กับ ดร.ทักษิณเสมอ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจและการเมืองขนาดไหนก็ตาม    

 

บ้านพักของ ดร.ทักษิณ ทุกที่เต็มไปด้วยหนังสือหลายแบบที่จะหยิบขึ้นมาอ่านตอนไหนก็ได้   ต่อให้มีเวลาว่างแค่ไม่กี่นาทีก็ตาม  ดร.ทักษิณ จึงเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  เห็นว่าะการศึกษามีผลต่อการพัฒนาตัวตนของเด็ก แต่ระบบการศึกษาไม่สนับสนุนการเรียนรู้แบบนี้มากพอ

 

ดร.ทักษิณ เคยกล่าวในหนังสือ “จากคนตัวใหญ่สู่ใจดวงน้อย” ของโครงการสภาเยาวชนไทย พรรคไทยรักไทย ว่าหากระบบการศึกษาไม่คำนึงถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งที่เรียนมาในวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะจบ  หรือล้าสมัย เกิดช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาระหว่างคนฐานะดีกับไม่ดีขึ้นมาทันที

 

รัฐบาล ดร.ทักษิณ พยายามปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ ดร.ทักษิณค้นพบคือหน่วยงานด้านการศึกษายุคนั้นไม่มีแนวคิดสนับสนุนให้เยาวชนพัฒนาตัวเองอย่างเป็นระบบ คนรวยอาจไม่มีปัญหานี้ แต่ลูกชาวบ้านขาดโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงเทคโนโลยีจนเสียเปรียบโดยปริยาย

 

 

 

 

 ‘ห้องสมุดมีชีวิต’  จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร  ซึ่งกล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการของมหาวิทยานเรศวร  ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี 2544  สร้างความตื่นตัวให้คนในห้องประชุมนั้น  รวมถึงคนทั่วประเทศ

 

ห้องสมุดมีชีวิต คืออะไร?

 

‘ผมอยากสร้างห้องสมุดที่มีชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง มีหนังสือที่ดี  ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  ผมไม่อยากให้ห้องสมุดที่ตายตั้งแต่วันสร้าง   อยากทำสิ่งนี้เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้ม  ผมอยากลงทุนเรื่องของการเติมอาหารสมองให้มนุษย์มากที่สุด’ ……. ดร.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีมอบรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาล วันที่ 26 สิงหาคม 2544

 

ห้องสมุดมีชีวิต  ในนิยามของ ดร.ทักษิณ หมายถึง ห้องสมุดที่มีชีวิตชีวา  ผู้ใช้มีความพอใจและมีความสุข

 

สิ่งที่ ดร.ทักษิณ อยากจะทำ  สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายการศึกษาฉบับแรกที่นำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาในด้านต่าง ๆ   และให้ความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้  ระบุไว้ในมาตรา 25 ว่า 

 

‘รัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและการจัดตั้งแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน  พิพิธภัณฑ์  หอศิลป์  สวนสัตว์  สวนสาธารณะ  แหล่งข้อมูล  และการเรียนรู้อื่นอย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ’

 

นโยบายของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยในข้อ 8 ยังระบุไว้ว่า  ‘ปฏิรูปการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  หลักการเรียนรู้ด้วยตนเองและหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นพลังความคิดสร้างสรรค์นิสัยรักการอ่าน  การจัดให้มีห้องสมุด  ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และสื่อการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ อย่างทั่วถึง

 

ห้องสมุดมีชีวิต  เริ่มดำเนินการทันทีในห้องสมุดสถาบันการศึกษาทุกระดับ ทันทีที่นายกรัฐมนตรีพูดถึงในปี 2544  ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาห้องสมุดระดับอุดมศึกษา  โดยให้ห้องสมุดของแต่ละมหาวิทยาลัย   คิดรูปแบบและจัดทำโครงการห้องสมุดที่มีชีวิต  นำเสนอของบประมาณจากรัฐบาล แต่เมื่อประชุมกันหลายครั้งพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานและงบประมาณของรัฐ  โครงการห้องสมุดที่มีชีวิตในสถาบันการศึกษาจึงไม่เกิดขึ้น  

 

แต่ได้เกิด TK Park หรืออุทยานการเรียนรู้ ในปี 2554 ขึ้นมาแทน  โดยนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ดร.ทักษิณ ชินวัตร  เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้

 

TK Park เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เต็มที่  ไร้ขีดจำกัด  ไร้ขอบเขต  ไร้กาลเวลา   ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสร้างนวัตกรรรม  หรือองค์ความรู้ใหม่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เยาวชนและคนไทยมีโอกาสพัฒนาความรู้อย่างเท่าเทียมกัน  ดร.ทักษิณ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น  เป็นประธานในพิธีเปิดที่  ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  ด้วย

 

‘เยาวชนในสังคมไทยยังมีปัญหาหลักๆ อยู่ด้วยกัน 3 ข้อ ประการแรก ยังขาดการอ่าน รู้จักแต่พูด  2.ขาดวิธีการคิดอย่างสร้างสรรค์ และท้ายสุดคือปัญหาในเรื่องการเข้าสู่ฐานข้อมูลต่าง ๆ ดังนั้น ดิจิตอล ทีเคปาร์ค จะเป็นหนทางแห่งปัญญาที่ดีสำหรับสังคมไทย และจะเป็นสถานที่มั่วสุมอย่างสร้างสรรค์ของเยาวชน  ในลักษณะที่เป็น Edutainment  ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา  เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้’ ……. ดร.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิด Digital TK Park เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554 

 

แม้ ดร.ทักษิณ จะจบการศึกษาระดับปริญญาเอก  แต่ตัวเขาไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนต้องเรียนปริญญาเอกเหมือนเขา  ขอให้ทุกคนมีจุดมุ่งหมายที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิตและต้องเรียนอย่างสนุกด้วย

 

‘ตื่นเช้าพ่อแม่มาปลุก เอาอีกแล้ว ไปเรียนอีกแล้ว  เจอครูน่าเบื่อ สอนก็ไม่เห็นสนุกเลย นี่คือความรู้สึกที่ไม่ดี เราต้องตื่นเช้ามาสนุก เดี๋ยวไปเรียนแล้ว ได้ความรู้เพิ่มเติมแล้ว ได้เจอเพื่อน ได้คุยกับเพื่อน’ ……. ดร.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวให้โอวาทเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ  วันที่ 10 มกราคม  ปี 2545

 

ความพยายามในการปลูกฝังแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตของ ดร.ทักษิณ สะท้อนมาถึงคำขวัญวันเด็กในทุกปี  ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทุกสมัยของเขา  

 

พ.ศ. 2545 – เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

พ.ศ. 2546 – เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

พ.ศ. 2547 – รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดี ๆ อนาคตดีแน่นอน

พ.ศ. 2548 – เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

พ.ศ. 2549 – อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

 

 

 

 

Key  Focus 0504 ความคิดใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่งของดร.ทักษิณ

Topic: TCDC  มรดกความคิดสร้างสรรค์ จาก ดร.ทักษิณ

Writer: จอย

 

 

 

ประเทศไทยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมานักต่อนัก   ดร.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรีมักจะพูดเสมอว่า  ประเทศไทยจะต้องรอดด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์   เราต้องไปต่อได้ด้วยการผลิตเชิงคุณภาพ  ไม่เน้นปริมาณเหมือนแต่ก่อน 

 

สินค้ากลุ่มคุณภาพ  เป็นสินค้าที่มีความละเอียด พิถีพิถันในการผลิต  ทำให้แต่ละชิ้นออกมามีคุณค่า (Value)  และจะอยู่นานไปกับตัวสินค้านั้นตลอดอายุการใช้งาน   สินค้าที่ผลิตเพื่อขายเอาแต่ปริมาณ ผลิตเยอะ ขายเยอะ  โดยไม่มีความละเอียด  ไร้ขั้นตอนการตรวจสอบ  สินค้านั้นจะด้อยคุณค่าและไม่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต 

 

ความคิดสร้างสรรค์  การออกแบบ  และคุณภาพ  คือสิ่งที่จะช่วยให้สินค้าและบริการอยู่รอดได้ในตลาดการค้าโลก

 

รัฐบาลหลายประเทศได้จัดลำดับให้การออกแบบเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรม  ทั้งอังกฤษ ที่มี Design Council ทำหน้าที่ประสานผู้ประกอบการให้เข้าใจและเห็นความสำคัญของงานออกแบบ  ,เกาหลีใต้ ที่จัดทำแผนส่งเสริมการออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ปี 2536 – 2546 และอินเดีย ที่มีนโยบายการออกแบบแห่งชาติ เพื่อให้อินเดียเป็นแหล่งออกแบบและผู้ผลิตที่สร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ของโลก  

 

ส่วนของประเทศไทยเอง   ในช่วงปี 2544 – 2545  ได้เกิดคำว่า ‘สังคมของการเรียนรู้ หรือ Knowledge Base Society’   โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร  ที่อยากให้คนไทยสร้างองค์ความรู้ให้มาก ผ่านการอ่าน คิด เขียน และต่อยอดนำไปใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  ไม่อยากให้ประเทศล้าหลังคนอื่นเขา

 

ทั้งหมดจึงทำให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี  วันที่ 2 กันยายน 2546  เห็นชอบให้ก่อตั้ง ‘ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ’ หรือ TCDC  ในกำกับของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD (องค์การมหาชน)  และใน 1 ปี ต่อมา TCDC ถูกประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายน 2547 

 

หน้าที่ของ TCDC คือแหล่งจุดประกายความคิดสร้างสรรค์  นำมาสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ  ให้ผู้ประกอบการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า   แข่งขันได้โดยไม่ต้องตัดราคากันเอง  เพื่อปรับระบบเศรษฐกิจใหม่  จากที่เคยพึ่งพากระบวนการการผลิตให้ได้ตามจำนวน   มาอยู่บนพื้นฐานนี้เรียกว่า ‘เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์มูลค่า’ (Value Creation Economy)  TCDC  เปิดเป็นทางการในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2548

 

ทันทีที่ TCDC เปิดก็ประสบความสำเร็จจากนิทรรศการแรก  ‘ISAN Retrospective กันดารคือ สินทรัพย์อีสาน’    มีผู้เข้าชมกว่า 32,000 คนในเวลา 1 เดือนครึ่ง

 

นิทรรศการ ‘ถอดรหัสญี่ปุ่น’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากญี่ปุ่นมาให้ความรู้และโชว์ผลงานมากมาย  เช่น  Mr.Akiomi Hirano  President of Institue of Esthetic Research นี่คือส่วนหนึ่งของงานที่ TCDC จัดขึ้นและทำเรื่องมาทุกปี ….. ปีแรกของการเปิด TCDC   มีผู้เข้าชม 303,000 คน/ครั้ง

 

บุคคลที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อตั้ง TCDC  อย่างนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์   ตอนนั้นเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี  ‘ดร.ทักษิณ’  ก่อนที่จะมาเป็นประธานกรรมการTCDC  คนแรก   และยังเป็นที่ปรึกษาการก่อตั้งหน่วยงานด้านความคิดสร้างสรรค์อีกหลายหน่วยงาน  เป็นผู้ที่ยืนอยู่เคียงข้าง ดร.ทักษิณ ในการออกแบบนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายด้านเอสเอ็มอี  หัวใจหลักคือการใช้ความคิดสร้างสรรค์มาเติมเต็มให้สินค้าที่ดีอยู่แล้ว  ให้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นไปอีก 

 

TCDC  ในช่วงเริ่มต้น  เช่าพื้นที่ 4,490 ตารางเมตรในศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ ชั้น 6 ภายในมีทั้ง  นิทรรศการหมุนเวียน, ห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ,ห้องชมภาพยนตร์,ห้องสมุดวัสดุเพื่อการออกแบบ (แห่งแรกของเอเชีย) , และส่วนของสมาชิก  ในบางวันจะจัดเวทีความคิดเห็นและเครือข่ายด้านการออกแบบเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันด้วย    หากเป็นสมาชิกจะเข้าถึงบริการพิเศษหลายแบบ

 

ที่สำคัญ TCDC ยังมีเวปไซต์ www.lockstockandbarrel.com รวบรวมรายชื่อนักออกแบบไทยในสาขาต่าง ๆ  รายชื่อผู้ผลิต และผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการหยิบข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ง่ายขึ้น 

 

‘การเปิดศูนย์แห่งนี้  เพื่อต้องการเห็นสมองคนไทยมีราคา   สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจุดประกายทางความคิดสร้างสรรค์    ไม่อยากให้สมองมีราคาเท่าแรงงาน   ทั้งที่ประเทศไทยมีคนที่มีความรู้   มีพรสวรรค์    แต่ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะเราไม่มีช่องทางที่จะเชื่อมโยง   และในวันนี้มีเพียงแค่สินค้าโอทอปก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องพัฒนาแหล่งเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา’ ……ดร.ทักษิณ ชินวัตร  กล่าวเปิด TCDC

 

ปีที่ TCDC  ควรจะฉลองการก่อตั้งครบรอบ 10 ปี   แต่กลับเป็นปีที่สร้างข่าวร้ายให้กับคนในสังคม   

 

ปี 2558  กระแสการปิดตัว TCDC  เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงต่อต้านอย่างหนักจากคน  เกิดการลงชื่อต่อต้านการปิด TCDC  จนในที่สุด TCDC ได้ย้ายที่ทำการมาที่อาคารไปรษณีย์กลาง  บางรัก  จนกลายมาเป็นมรดกด้านความคิดสร้างสรรค์ ที่ ดร.ทักษิณ  มอบให้กับคนไทยในวันนี้ 

 

‘Dance with your imagination and change your life’ โลดแล่นไปกับจินตนาการเพื่อเปลี่ยนชีวิตคุณ…..พันศักดิ์  วิญญรัตน์  อดีตประธาน คกก.TCDC

 

คุณค่าของการออกแบบ   ไม่ได้จำกัดเฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง   ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปนิก  หรือนักออกแบบที่เรียนจบจากศาสตร์นี้    ถ้าทุกคนนำเอาการคิด  วิเคราะห์  ต่อยอด  ด้วยความคิดสร้างสรรค์ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลิตผลบางอย่าง   ที่จะช่วยให้ประเทศไทยไม่ล้าหลังได้ 

 

‘อาณาจักรในอนาคต คือ อาณาจักรแห่งความคิด’…… วินสตัน เชอร์ชิล รัฐบุรุษชาวอังกฤษผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรสองสมัย  เป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสงครามของศตวรรษที่ 20 … กล่าวเอาไว้  

 

จนมาถึงตอนนี้  ในศตวรรษที่ 21  เป็นช่วงเวลาที่เชอร์ชิลได้คาดการณ์เอาไว้ว่า  เราจะต้องอยู่ในอาณาจักรของความคิด   หากเราไร้ซึ่งศูนย์กลางแห่งความคิดสร้างสรรค์ซึ่งเป็นห้องสมุดที่เก็บอารยธรรมของเราเอาไว้  เราคงไม่รู้อดีตที่ผ่านมา   และอาจจะก้าวไปสู่อนาคตในแบบใหม่ไม่ได้

 

 

Share on facebook
Share on twitter
RECOMMENDED