Dual Track Policy สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

Share on facebook
Share on twitter

       คนไทยส่วนใหญ่ยากจน และไม่ว่าจะพัฒนาประเทศนานเพียงไหน ความยากจนเปรียบได้กับมะเร็งร้ายที่กัดกินคนร่วมชาติหลายชั่วคนไม่รู้จักจบสิ้น  บางภูมิภาคอาจมีปัญหานี้หนักกว่าภูมิภาคอื่น บางภาคเศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะนี้รุนแรงเป็นพิเศษ แต่โดยภาพรวมคือเรามีปัญหานี้แทบทุกกรณี 

ดร.ทักษิณ นำพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งเป็นในช่วงที่ประเทศแทบล้มละลาย ธนาคารและไฟแนนซ์กว่าห้าสิบแห่งมีหนี้เสียจนต้องปิดตัว เศรษฐีเป็นยาจกเพราะค่าเงินบาทตกต่ำหนึ่งเท่าในไม่กี่เดือน ธุรกิจที่กู้เงินต่างประเทศต้องเลิกกิจการ และการตกงานของคนงานหรือลูกจ้างจำนวนมากคือสิ่งที่ตามมา

ประเทศไทยในยุคที่ ดร.ทักษิณ เป็นนายกฯ อยู่บนทางแยกที่เลือกยากทั้งคู่ ทางแรกคือเดินหน้าสู่โลกาภิวัฒน์โดยเปิดเสรีทางการเงินและฟื้นฟูการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม ปัญหาคือคนจำนวนมากเชื่อว่าเส้นทางนี้เป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดแก่ประเทศ จึงเสนอทางที่สองที่เปลี่ยนประเทศเป็นเศรษฐกิจชาตินิยม

แม้วิกฤตทางเศรษฐกิจจะทำให้นักการเมืองและผู้นำทางความคิดเรียกร้องนโยบายชาตินิยมทางเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ ดร.ทักษิณ ตระหนักว่าประเทศไทยมีขนาดทางเศรษฐกิจเล็กเกินกว่าจะตัดขาดความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลกได้สิ้นเชิง ข้อเรียกร้องนี้จึงเป็นปฏิกริยาต่อปัญหาของประเทศมากกว่าจะเป็นทางออกได้จริงๆ

สำหรับ ดร.ทักษิณ เส้นทางที่ประเทศนี้ควรเป็นคือการผลักดันให้ไทยแสวงหาประโยชน์จากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป แต่ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างกลไกภายในประเทศให้แข็งแกร่งพอจะลดผลกระทบในเวลาที่การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเกิดปัญหา พูดง่ายๆ คือทำให้ไทยอยู่ในโลกอย่างมีภูมิคุ้มกัน

ในฐานะผู้นำรัฐบาล วิสัยทัศน์ของดร.ทักษิณทำให้นโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า“เศรษฐกิจสองแนวทาง” หรือ Dual Track Policy ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูประเทศพร้อมกับสร้างความเติบโตในระยะยาว  โดยที่ความเติบโตนั้นต้องมีเป้าหมายเพื่อคนทุกกลุ่ม รวมทั้งทำให้ทุกคนมีโอกาสจะมีความมั่งคั่งมากกว่าที่ผ่านมา

ประเทศไทยในปี 2544 คือประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่ทุกคนในประเทศรู้ดีกว่าเกษตรกรคือคนกลุ่มที่ยากจนที่สุดในสังคม นโยบายรัฐบาลของ ดร.ทักษิณ จึงให้ความสำคัญกับการปรับสมดุลนี้โดยสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรด้วย  ไม่ใช่คำนึงถึงแต่การสร้างความมั่งคั่งให้พ่อค้าและคนชั้นกลาง

หัวใจของ Dual Track Policy คือการสร้างความต้องการจับจ่ายให้เกิดขึ้นภายในประเทศ รัฐบาลพรรคไทยรักไทยจึงผลักดันนโยบายอย่างเป็นระบบตั้งแต่กองทุนหมู่บ้าน , การพักชำระหนี้เกษตรกร,  โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อธนาคารประชาชนสำหรับคนจน  

สำหรับผู้ประกอบการและนักธุรกิจทั่วไป แนวคิดเรื่อง Dual Track Policy หรือ “เศรษฐกิจสองแนวทาง” ทำให้เกิดการจัดตั้งธนาคารวิสาหกิจขนาดกลาง  รวมทั้งการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อตัดหนี้เสียออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยลดภาระของเกษตรกรและ SMEs เพื่อชำระหนี้ออกไป 

ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศควบคู่กับการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่  นโยบายเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทยทำให้ผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่พ่อค้าและผู้ประกอบการก็ได้รับความสนับสนุนจนการค้าและการลงทุนขยายตัวขึ้นไปพร้อมๆ กัน 

ดร.ทักษิณ เคยอธิบายว่านโยบายเศรษฐกิจแบบ Dual Track มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจแบบสังคมทุนนิยม ผสมผสานจุดดีของระบบทุนนิยมกับจุดหมายแบบสังคมนิยมเพื่อคนส่วนใหญ่  ผลก็คือการผลักดันนโยบายรัฐที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของ๔ระชาชนซึ่งสามารถปฏิบัติได้จริงไปพร้อมๆ กัน

ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่ ดร.ทักษิณ คิด และพรรคไทยรักไทยทำ  ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2544 พุ่งขึ้นเป็น 5.2% สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.5% หรือเท่ากับสูงเกินกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 3 เท่า ต่อให้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเวลาของการฟื้นฟูประเทศก็ตาม

สองปีหลังจากพรรคไทยรักไทยบริหารราชการแผ่นดิน  รายได้ของเกษตรกรในปี 2546 ก็เพิ่มขึ้น 25.6% ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่าเป็นการขยายตัวที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปริมาณผลผลิตพืชผลมากขึ้น และราคาพืชผลก็สูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะยางพาราและข้าวหอมมะลิซึ่งตลาดโลกต้องการอย่างรุนแรง

ทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2544 และต่อเนื่องจนถึงปี 2548  ต่อให้ประเทศไทยในช่วงนั้นจะเจอสารพัดวิกฤตอย่างไข้หวัดนก , สึนามิ หรือน้ำมันราคาพุ่ง เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ดีโดยเฉลี่ยที่ 4.7% ตลอดมา  

ด้วยวิสัยทัศน์ของดร.ทักษิณ เรื่อง Dual Track Policy  ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศที่แข็งแกร่งจนฝ่าฟันสถานการณ์ต่างๆ ได้ต่อเนื่อง และเพราะนโยบายนี้มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่นสูง รัฐบาลแทบทุกชุดไหนหลังจากนั้นก็ล้วนเดินตามรอยนโยบายนี้ ต่อให้จะไม่ใช้ชื่อนี้ตรงๆ ก็ตาม

Share on facebook
Share on twitter