สร้างระบบเศรษฐกิจใหม่เพื่อดูแลคนรากหญ้าให้มีชีวิตที่ดี

Share on facebook
Share on twitter

      รัฐบาลแทบทุกรัฐบาลพูดถึงการแก้ปัญหาความยากจน บางรัฐบาลเน้นแจกเงิน บางรัฐบาลเน้นสังคมสงเคราะห์ และบางรัฐบาลเน้นการก่อสร้างโครงการต่างๆ โดยอ้างว่าจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ผลลัพธ์คือคนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงยากจน โดยเฉพาะเกษตรกร, คนชนบท และผู้ใช้แรงงาน

ดร.ทักษิณเห็นว่าต้นตอของปัญหาความยากจนมาจาก “ยุทธศาสตร์”  และในคำกล่าวเปิดการประชุมรัฐมนตรีคลังในเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2546  นายกฯ ทักษิณในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมได้แสดงวิสัยทัศน์ที่เปลี่ยนประเทศไปสิ้นเชิง  “การบริหารเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน ทำให้ไทยมีการเติบโตที่สมดุล  และลดผลกระทบจากภายนอก นโยบายนี้มีความสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุมครั้งนี้ที่ว่า “การเชื่อมโยงเศรษฐกิจแนวใหม่ : จากเศรษฐกิจฐานรากสู่ระดับภูมิภาคและระดับสากล ผมมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตเกิน 6%” 

โดยปกติเอเปคเป็นเวทีเจรจาการค้ามากกว่ายุทธศาสตร์การพัฒนา คำประกาศของ ดร.ทักษิณ จึงเป็นสารที่ส่งให้ผู้ร่วมประชุม 20 ประเทศเห็นว่าการค้าต้องให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจระดับรากหญ้า รวมทั้งเสนอต่อไปว่าโลกควรเห็นพลังของคนกลุ่มนี้ซึ่งจะผลักดันให้กลไกเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศขับเคลื่อนในระยะยาว  ดร.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ระดับชาติซึ่งมุ่งมั่นจะแสดงวิสัยทัศน์นี้สู่โลกมาตลอด ประเทศไทยในฐานะประธานการประชุมนานาชาติไม่ควรเป็นแค่คนจัดประชุมเท่านั้น แต่ต้องแสดงความเป็นผู้นำให้โลกเห็นด้วย และดร.ทักษิณ คือหนึ่งในอดีตนายกฯ ที่ทำเรื่องนี้ได้อย่างดี

ด้วยวิสัยทัศน์ที่เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจรากหญ้า รัฐบาลของดร.ทักษิณสร้างนโยบายพัฒนาวิสาหกิจระดับฐานรากและวิสาหกิจขนาดกลาง (SMEs), นโยบายพักหนี้เกษตรกร, โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  รวมทั้ง “กองทุนหมู่บ้าน” เพื่อผลักดันการสร้างรายได้ให้กับประชาชนรากหญ้าโดยตรง รัฐบาล ดร.ทักษิณ สร้างกองทุนหมู่บ้านในปี 2544 เพื่อทำให้ประชาชนกลุ่มรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงขั้นที่หลุดพ้นวัฏจักรของความยากจน ส่วนวิธีการคือรัฐบาลจะโอนเงินผ่านธนาคารออมสินและ ธกส. ให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท เพื่อที่ประชาชนจะกู้ยืมปใช้ประกอบอาชีพ ค้าขาย และใช้จ่ายฉุกเฉินในครอบครัว  

เพื่อไม่ให้งบประมาณจากภาษีประชาชนรั่วไหลหรือถูกใช้ผิดเป้าหมายของโครงการ รัฐบาลกำหนดว่าผู้กู้ต้องทำคำขอกู้โดยระบุวัตถุประสงค์ของการกู้ จากนั้นต้องยื่นคำขอให้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ พิจารณา  ผู้กู้แต่ละคนมีเพดานการกู้ไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อจะกระจายการเข้าถึงเงินให้กว้างขวางออกไป อย่างไรก็ดี ยกเว้นคณะกรรมการฯ เห็นว่าจำเป็น ก็จะเรียกประชุมสมาชิกเพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาด  แต่ต้องไม่เกิน 50,000 บาท โดยผู้กู้จะต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนภายใน 2 ปีนับแต่วันทำสัญญา หัวใจของโครงการคณะกรรมการซึ่งมาจากคนในหมู่บ้านโดยตรง ตามโครงสร้างที่รัฐบาลกำกับ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านประกอบด้วยประธาน ,รองประธาน,เลขานุการ,เหรัญญิก, ฝ่ายตรวจสอบ 5 คน  และฝ่ายส่งเสริม 4 คน หัวใจของกองทุนจึงมุ่งลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อให้ประชาชนฟื้นตัวโดยเร็ว ส่วนวิธีการคือใช้การมีส่วนร่วมและการตรวจสอบกันเองเป็นเครื่องมือ

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านซึ่งเป็นทีมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ระบุว่า “ที่มาของกองทุนหมู่บ้าน คือ คุณทักษิณได้โมเดลมาจาก Garmin Bank ของบังคลาเทศ ตัดตอนขั้นตอนการเอาเงินลงสู่ระบบ เมื่อก่อนเงินจากส่วนกลางจะถึงมือชาวบ้านเหมือนไอติม 1 แท่ง กว่าจะถึงคนสุดท้ายก็ละลายหมด แต่เราต้องตัดตอน อย่างน้อยแต่ละหมู่บ้านต้องได้เงินหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท คุณคิดดูเมื่อ 20 ปีก่อน เราจะหางบ 70,000 ล้านบาท  เพื่อใช้ในโครงนี้ จะเอาเงินมาจากไหน คุณทักษิณบอกว่า  อย่าไปติดกับดัก ชาวบ้านได้เงินตรงถึงมือ ประชาชนได้เงินแล้วก็พัฒนา หมุนมาจากฐานราก  ชาวบ้านรู้จักกันหมด รู้ว่าใครลำบาก ไม่มีใครกล้าโกงใคร ตอนนั้นเวิลด์แบงก์ประเมินว่าโครงการนี้จะสร้างหนี้เสีย 0.01-0.02 %  ซึ่งน้อยกว่าหนี้เสียในธนาคารพาณิชย์เสียอีก”  

ในคำสัมภาษณ์ซี่งปรากฎในสื่อระดับโลก International Herald Tribune เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2544 ดร.ทักษิณซึ่งเพิ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ขยายความแนวคิดนี้ต่อไปว่า

“ชาวบ้านในชนบทของไทยตอนนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูงให้กับนายทุนเงินกู้หน้าเลือด หากช่วยคนเหล่านี้ให้พ้นบ่วงมาได้  ก็จะทำให้พวกเขาใช้จ่ายเงินมากขึ้น กองทุนหมู่บ้านนั้นทำหน้าที่เหมือนระบบการให้สินเชื่อรายย่อย หรือ ไมโคร เครดิต ซิสเต็ม บนพื้นฐานของการหมุนเวียนซึ่งกันและกัน”  

“เราพยายามจะทำให้คนชนบทเหล่านั้นมีกองทุนไว้ใช้ได้และสามารถยืนได้บนขาของตัวเอง”

นโยบายกองทุนหมู่บ้านถูกกลุ่มการเมืองและพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าเป็นไปไม่ได้ ถึงขั้นจะ “ทำให้ประเทศล้มละลาย” แต่ถึงตอนนี้ก็ประจักษ์ชัดว่านายกฯ ยุคหลัง ดร.ทักษิณ ล้วนสานต่อนโยบายนี้ เม็ดเงินที่ทุกรัฐบาลทำเรื่องนี้ใน 14 ปี อยู่ที่ 166,895.80 ล้านบาท โอนเงินไปแล้ว 151,565.82 ล้านบาท

หลังจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยดำเนินนโยบายกองทุนนี้ไปสิบสองปี การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2556 ระบุว่า กองทุนหมู่บ้านกลายเป็นแหล่งเงินกู้หลักของครัวเรือนรองแหล่งเงินกู้ในระบบ คือ ธนาคาร และทำให้ประชาชนกู้เงินนอกระบบลดลง จาก 7.9% ในปี 2552 เหลือ 4.6% ในปี 2556

นักเศรษฐศาสตร์บางคนในยุคนั้นโจมตีว่ากองทุนหมู่บ้านนำเงินไปสู่ประชาชนโดยตรงโดยไม่มีเม็ดเงินกลับเข้าระบบการคลัง ซ้ำยังอาจทำให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น แต่หลังจากรัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ไปสองปี สื่อต่างประเทศกลับประเมินว่านโยบายนี้มีผลดีกับประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ

ในการสัมภาษณ์ดร.ทักษิณ เพื่อตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวสเตรทไทมส์ของสิงคโปร์ วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2546 ผู้สัมภาษณ์คือเอ๊ดดี้ ลี สรุปว่า “ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัญหาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับวันที่เงินบาทอ่อนค่าลง 50% ในช่วงเวลา 7 เดือน  ไทยมีหนี้ต่างชาติ 100,000 ล้านดอลลาร์ อนาคตมืดมน แต่ชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีไทย ได้ทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่ถูกต้องลงไปแล้ว”

ระบบเศรษฐกิจแนวใหม่และกองทุนหมู่บ้านเป็นหลักฐานว่า ดร.ทักษิณ คิดถึงที่สร้างนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพของประชาชนรากหญ้า หาทางบูรณาการเรื่องนี้กับการค้าระหว่างประเทศ หรือกล่าวอีกนัยคือใช้การพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทยทุกคน 

Share on facebook
Share on twitter