“วิชั่น” ต้องไม่ใช่ “วิสั้น” สร้างคนรุ่นใหม่ มี “วิสัยทัศน์”

Share on facebook
Share on twitter

“วิสัยทัศน์” คือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในเส้นทางธุรกิจของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร แม้การทำธุรกิจในช่วงแรก จะประสบอุปสรรคบ้าง แต่ก็สามารถแปลงวิกฤตเป็นโอกาสสู่ช่องทางการทำธุรกิจได้เสมอ

เช่นเดียวกันกับเส้นทางการเมือง การนำพาพรรคไทยรักไทย อย่างมีวิสัยทัศน์ นำมาซึ่งความสำเร็จในการเลือกตั้ง และความนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น จนกระทั่งสามารถสร้างประวัติศาสตร์ทางการเมืองมากมาย

สำหรับเรื่อง “วิสัยทัศน์” เป็นสิ่งหนึ่งที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ให้ความสำคัญเสมอ และพยายามแนะนำ ให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้กับทุกอย่างอยู่เสมอเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงและพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่ง ดร.ทักษิณ ชินวัตร เชื่อว่าเป็นกลุ่มคนที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความรู้ ความคิดหรือแม้แต่กระบวนการคิดด้านต่างๆ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ เพื่ออนาคตของประเทศที่เข้มแข็ง

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เคยอธิบายเอาไว้ เมื่อครั้งได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “แนวนโยบายของรัฐบาลการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนไทยให้เข็มแข็ง” ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2546 และได้ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไปสู่สังคมฐานความรู้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ในสังคมไทย

“โลกปัจจุบัน กำลังก้าวไปสู่สังคมฐานความรู้ ที่สมองมนุษย์จะกลายเป็นสิ่งมีค่า จึงมีความจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องสร้างคนรุ่นใหม่ ทั้ง 63 ล้านคน ให้เป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ มี “วิชั่น” ไม่ใช่ “วิสั้น” มีวิสัยทัศน์ห่วงคนในยุคต่อๆ ไป แต่การจะทำให้คนไทยเข้มแข็งได้ ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปี เราจะเปลี่ยนเพียงช่วงข้ามคืนไม่ได้ และอย่าคิดว่าดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง เราต้องก้าวไปสู่สิ่งที่ดี ไม่ใช่รอจนถึงที่สุดแล้วต้องจำยอมเปลี่ยนแบบไร้ท่า”

ความรู้ จำเป็นสำหรับสังคมยุคนี้ จะเน้นด้านเศรษฐศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีการผลิต โดยพัฒนาความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์สู่ภูมิภาคและเมื่อหันกลับมาดูประเทศไทย กลับพบว่า เรามีความเข้มแข็งทางการเกษตร ดังนั้น จึงต้องพัฒนาเสริมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ เพื่อจะสามารถก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำในที่สุด

เวลานี้ไทยมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีทุกด้าน ซึ่งเป็นความรู้ที่หลากหลาย ดังนั้น จำเป็นต้องนำมาเชื่อมโยงกับภูมิปัญหาท้องถิ่น และขยายผลจนเป็นความรู้ตามสัญชาติญาณ นอกจากนี้จากการที่ไทยจะเปิดเสรีทางการค้า จะส่งผลให้มีนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ดังนั้นพื้นฐานสำคัญของเด็กรุ่นใหม่ คือจะต้องมีความรู้ด้านภาษา ซึ่งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรเปิดสอนเป็นสองภาษามากขึ้น รวมทั้งต้องสร้างเด็กให้มีทักษะการใช้อินเตอร์เน็ต และเรียนรู้วัฒนธรรมไทย พร้อมไปกับการเข้าใจวัฒนธรรมของต่างชาติ นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอน ควรเพิ่มจากความชอบของเด็ก จากนั้นความรู้และผลการเรียนที่ดีจะเป็นสิ่งที่ติดตามมา

ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวด้วยว่า “ถ้าท่านตั้งบริษัทขึ้นมาสักบริษัท ถ้าเอาคนแย่ๆ ไปเป็นผู้บริหาร รับรองว่าบริษัทท่านมีโอกาสล้มละลายสูง แต่บังเอิญประเทศมันล้มละลายไม่ได้ ฉะนั้นผู้บริหารสำคัญที่สุด ถ้าได้ผู้บริหารที่ไม่มีความสามารถ และยังนิสัยเลวอีกต่างหาก ยิ่งไปเลย การบริหารต้องมีวิชั่น ต้องห่วงว่า เน็กซ์เจเนอเรชั่น จะเป็นอย่างไร ฉะนั้นวันนี้ต้องมองไปข้างหน้าว่าโลกจะไปไหน โลกกำลังจะผลักดันทุกฝ่ายเข้าสู่สังคมฐานความรู้ คือสิ่งผลิตจากสมองราคาดีกว่าสิ่งที่ผลิตด้วยมือ เพราะฉะนั้นมนุษย์จะมีค่ามากที่สุด”

รัฐบาลมีหน้าที่ผลักดันใช้สิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด ถ้าผู้บริหารจะเข้าใจทฤษฎีเอสเคริฟ เวลาเราลากตัวเอส จะลากจากล่างขึ้นบน ก่อนเอสจะหัวตกต้องลากตัวไปให้ยาวก่อนหัวตก เพราะเราต้องรอเอสตัวใหม่มาคล้อง ก่อนจะได้เอสตัวใหม่ เอสเก่าต้องลากให้ยาวที่สุด หมายความว่าหากินกับสิ่งที่มีอยู่ให้มากที่สุด ให้ได้ประโยชน์ที่สุดและรีบหาเอสตัวใหม่เข้ามาคล้องแทน

“เหมือนกับประเทศไทยในวันนี้ มองว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างนี้ แล้วคุณจะทำอะไรอยู่ คุณก็ต้องทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดีที่สุด แต่ดีแล้วต้องถามว่าเซอร์ไวซ์ อย่างนี้ตลอดไปไหวไหม มันไม่ไหว จะเปลี่ยนคนไม่เรียนหนังสือให้มาจบปริญญาเอกในวันรุ่งขึ้นไม่ได้ มันต้องสร้างเจเนอเรชั่น และต้องทำสิ่งที่มีอยู่ให้เข้มแข็งและเอาสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ พัฒนาเป็นเจเนอเรชั่น นั่นคือการเตรียมตัวให้ประเทศไทยเข้าสู่ Knowledge-based Society คือสังคมที่มีสมองดี”

“เราจะทำอะไรตามลำพัง ไม่สนโลกไม่ได้ เราต้องเปลี่ยน เราจะต้องเตรียมตัว และมาดูตัวเราว่ามีอะไรแข็งบ้าง รู้เขาและต้องรู้เรา” ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวไว้

Share on facebook
Share on twitter