DNA Nudge ก้าวสำคัญของ Health Tech

Share on facebook
Share on twitter

ไม่ว่าจะในแง่นักการเมืองหรือนักธุรกิจ วิธีทำงานของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร คือมองไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาสร้างนวัตกรรมใหม่ในการบริหารประเทศและองค์กร  ดร.ทักษิณ ทำธุรกิจสื่อสารในเวลาที่สังคมเห็นว่าอากาศคืออากาศ ทั้งที่อากาศคือคลื่น และคลื่นคือสินทรัพย์มูลค่าสูงของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ก่อนที่ประชาชนจะมอบความไว้วางใจให้ ดร.ทักษิณ เปลี่ยนสถานะจากนักธุรกิจเป็นนายกรัฐมนตรี ฉายาของ ดร.ทักษิณ คือ “อัศวินแห่งคลื่นลูกที่สาม” ซึ่งแสดงถึงความสามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงจนสร้างองค์กรที่ชนะความเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด หรืออีกนัยคือเป็น “อัศวิน” ผู้พิชิตโลกที่เปลี่ยนไป

กุญแจสู่ความสำเร็จของ ดร.ทักษิณ คือโลกทัศน์ที่เห็นพลังของเทคโนโลยีจนตระหนักว่าเทคโนโลยีคือพลังเปลี่ยนแปลงสังคม  ดร.ทักษิณ ไม่เคยบอกว่าตัวเองพัฒนามุมมองนี้ขึ้นมาอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ดร.ทักษิณเป็นผู้นำไม่กี่คนที่ตระหนักเรื่องนี้ และมีความสามารถใช้เรื่องนี้สร้างอรรถประโยชน์ได้จริงๆ

หลังจากความผันผวนในประเทศ  ดร.ทักษิณ กลายเป็นพลเมืองของโลกจนเห็นพัฒนาการของโลกที่เคลื่อนไปข้างหน้าในอัตราเร่งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดร.ทักษิณ พบว่าวิทยาการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนโลกเหมือนเทคโนโลยีสื่อสารเคยทำไว้ ความสนใจของ ดร.ทักษิณ จึงมุ่งที่ไปเรื่องนี้อย่างชัดเจน

ในช่วงไม่กี่ปี่ที่ผ่านมา ดร.ทักษิณ ให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพที่จะพลิกวิถีชีวิตมนุษย์อย่างที่สุด Owlstone Medical คือโครงการผลิตเครื่องตรวจสัญญาณมะเร็งด้วยลมหายใจที่สร้างความฮือฮามาแล้ว และตอนนี้ ดร.ทักษิณกำลังมุ่งมั่นกับการลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ไปไกลกว่าเดิม

ในโครงการล่าสุดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพสู่อนาคต   ดร.ทักษิณ ร่วมกับศาสตราจารย์ Chris Toumazou จนเกิดสิ่งประดิษฐ์ชื่อ DNA Nudge ซึ่งมีรูปทรงคล้ายกำไลข้อมือหรือนาฬิกาออกกำลังขนาดเล็ก แต่ข้างในบรรจุด้วยรหัสพันธุกรรมของผู้ใช้ และยิ่งกว่านั้นคือเครื่องนี้เชื่อมโยงกับห้องแล็บโดยตรง

สำหรับผู้ที่อยู่นอกแวดวงวิศวพันธุกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ออกไป  Chris Toumazou  คืออดีตคณบดีคณะวิศวกรรมชีวภาพ (Bioengineering)ของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจแห่งประเทศอังกฤษในปี 2001รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิศวกรรมชีวเวชของมหาวิทยาลัยเดียวกันในอีกสองปีถัดมา

ในแง่การบริหารทางวิชาการ ศาสตราจารย์คริสให้กำเนิดสถาบันที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีนาโนเชิงชีวภาพ (Bionanotechnology) และบริการสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์แต่ละคนอย่างแม่นยำ เช่นเดียวกับศาสตราจารย์คริสซึ่งมุ่งสร้างเครื่องมือวินิจฉัยและตรวจจับสัญญาณโรคในช่วงเริ่มต้นโดยรวดเร็ว

ศาสตราจารย์คริสถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราภิชานแห่งราชบัณฑิตวิทยาลัยอังกฤษที่เรียกว่า Regius Professorship ซึ่งเป็นฐานันดรสูงสุดด้านการสอนและวิจัยทางวิศวกรรม แต่ที่จริงศาสตราจารย์คริสเป็นนักวิชาการที่มีสำนึกของความเป็นผู้ประกอบการคู่ขนานไปด้วยตลอดเวลา

เมื่อศาสตราจารย์คริสกับ ดร.ทักษิณ พบกัน ผลที่เกิดขึ้นคือความร่วมมือระหว่างนักวิชาการกับอดีตผู้นำประเทศวิสัยทัศน์สูงเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีสุขภาพสู่แห่งอนาคต โดยเฉพาะการใช้วิทยาการด้านเซมิคอนดักเตอร์เพื่ออรรถประโยชน์สูงสุดในการสร้างประดิษฐกรรมด้านสุขภาพส่วนบุคคลสู่สังคม

DNA Nudge คือเครื่องมือวิเคราะห์พันธุกรรมที่ผู้ใช้กวาดกระพุ้งแก้มเพื่อนำตัวอย่าง DNA ไปใส่ใน Nudge ของตัวเอง ภายใน Nudge ประกอบด้วยนาโนเทคโนโลยีซึ่งเชื่อมโยงกับห้องแล็บเพื่อแสดงรหัสพันธุกรรม และเมื่อเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ก็จะบอกว่าอาหารไหนควรหรือไม่ควรกิน

ปรัชญาของ DNA Nudge เรียบง่ายแต่สะท้อนความสามารถในการแปลงความรู้และเทคโนโลยีเป็นสินค้าสำหรับผู้บริโภคอย่างแท้จริง ถึงที่สุดแล้ว Nudge คือห้องแล็บเคลื่อนที่ขนาดเล็กที่ผู้บริโภคทุกคนมีติดตัวตลอดเวลา และงานของห้องแล็บคือตรวจสอบอาหารแต่ละชนิดว่ามีผลอย่างไรต่อเราผ่านรหัสพันธุกรรม

DNA  Nudge ผสมวิทยาการด้านเทคโนโลยีสุขภาพและวิศวกรรมชีวเวชกับพฤติกรรมศาสตร์เรื่อง Nudge หรือการเปลี่ยนบุคคลและกลุ่มโดยให้ทางเลือกที่ใครเห็นแล้วย่อมเปลี่ยนพฤติกรรมแน่ๆ ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่จากสองนักวิชาการมหาวิทยาลัยชิคาโก้ในปี 2008 แล้วแพร่หลายในอังกฤษและสหรัฐอย่างรวดเร็ว

สาธารณสุขศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพเป็นสองสาขาวิชาการที่แนวคิด  Nudge ได้รับการขานรับอย่างรุนแรง  แนวคิดนี้ทำให้เกิดการวิจัยเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ง่ายและทุกคนเข้าถึงได้ แต่หลังจากนั้นจะทำให้เกิดการตัดสินใจซึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมบุคคลและกลุ่มไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

DNA Nudge เป็นประดิษฐกรรมซึ่งต่อยอดจากความรู้ทางสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์แห่งทศวรรษ  แต่สิ่งที่ดร.ทักษิณ และศาสตราจารย์คริสร่วมมือกันทำนั้นไปไกลกว่าความรู้ในมหาวิทยาลัย  เพราะคือการทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคทุกคนเข้าถึงได้เพื่อจะเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคไปอย่างสิ้นเชิง

Share on facebook
Share on twitter