ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ยุทธศาสตร์ใหม่ในการแก้จนเพื่อคนทั้งชาติ

Share on facebook
Share on twitter

ความยากจนคือปัญหาหลักที่พันธนาการคนส่วนใหญ่ในประเทศไว้กับความทุกข์หลายชั่วคน  และถึงแม้อดีตนายกแทบทุกคนล้วนแสดงออกว่าเห็นใจคนจน หลายรัฐบาลก็ทำแค่การให้ “ความช่วยเหลือ” ในรูปของการแจกของหรือนโยบายสังคมสงเคราะห์ต่างๆ โดยไม่ได้คิดถึงการขจัดต้นเหตุแห่งความยากจนอย่างแท้จริง

ความยากจนหมายถึงการมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพขั้นพื้นฐานในสังคม และไม่ว่ารัฐบาลทุกชุดจะอ้างว่าห่วงใยคนจนอย่างไร การสำรวจข้อมูลความยากจนอย่างเป็นระบบโดยหน่วยงานรัฐเพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2531 จนพบว่าประเทศมีคนยากจนถึง 18 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

ถ้าการสำรวจในทศวรรษ 2530 ซึ่งเศรฐกิจไทยเติบโตมากจนเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ในทศวรรษ 2540 ยังปรากฎตัวเลขคนจนมากขนาดนี้  เศรษฐกิจไทยช่วงก่อนทศวรรษ ๒๕๓๐ คงมีจำนวนคนจนสูงกว่านี้อีกหลายล้านคน

หลังปี 2540เป็นต้นมา สภาพัฒน์ฯ ระบุว่าคนไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,386 บาท/เดือน อยู่ 6 ล้านคน ส่วนกลุ่มที่รายได้ไม่เกินเดือนละ 1,600 บาท มี 8 ล้านเศษๆ  คนจนสองกลุ่มนี้มีจำนวนรวมกันเกือบ ๑๕ ล้านคน

รายได้ของคนเหล่านี้เป็นแค่ร้อยละ 19 ของรายได้รวมของคนทั้งหมดในประเทศ และร้อยละ ๘๐ ของคนจนอยู่ภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

ประเทศไทยช่วงที่ ดร.ทักษิณ เริ่มทำงานการเมืองคือประเทศที่ประชากรเกือบ 1 ใน 4 เป็นคนยากจน ยิ่งกว่านั้นคือความจนกระจุกตัวอยู่ที่บางภูมิภาคของประเทศจนเห็นได้ชัด นัยยะของเรื่องท้ั้งหมดนี้คือรัฐบาลในอดีตแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ มิหนำซ้ำยังส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำปรากฎอย่างชัดเจน

เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งจนได้จัดตั้งรัฐบาลที่ีมี ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำ  ความมุ่งมั่นที่จะนำประเทศออกจากภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย”  ทำให้รัฐบาลมีนโยบายลดความยากจนในหมู่ประชาชนโดยด่วนที่สุด โดยแนวคิดที่ ดร.ทักษิณ ใช้เป็นเข็มทิศในการดำเนินมาตรการต่างๆ คือให้ประชาชนมีส่วนจัดการตนเอง

ในคำปราศรัยเนื่องในโอกาสที่พรรคไทยรักไทยก่อตั้งครบรอบ 6 ปี ในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2547 ดร.ทักษิณ อธิบายแนวคิดนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า

“นโยบายนี้คือสิ่งที่ประชาชนรอคอยมานาน นี่คือการลดอำนาจของภาครัฐที่จะจัดการเอง ผมตระหนักดีว่า ผมไม่รู้ปัญหาที่แท้จริงลงลึกไปถึงหมู่บ้านเท่ากับชาวบ้านด้วยกัน ผมจึงลดอำนาจของรัฐ แล้วไปเพิ่มอำนาจของเขา ให้เขาได้จัดการปัญหากันเอง นี่คือส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบ”

พรรคไทยรักไทยตระหนักว่าการช่วยเหลือประชาชนที่ยากจนเฉพาะหน้าเป็นเรื่องจำเป็น แต่วิธีแก้ปัญหาความยากจนที่เป็นระบบที่สุดคือการสร้างความเสมอภาคด้านโอกาสในชีวิต  เพราะถ้าทุกคนมีโอกาสที่ใกล้เคียงกัน หนทางที่จะทำมาหากินและพัฒนาคุณภาพชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้มากกว่าวิธีแจกเงิน

ดร.ทักษิณ อธิบายเรื่องนี้ไว้ในเวลานั้นว่า

“ผมขอเสนอนโยบายใหม่หนึ่งเรื่องคือ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน จัดสรรงบ แก้ปัญหาของประชาชนโดยประชาชน เรากำลังพยายามกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ส่วนท้องถิ่น เป็นการคืนอำนาจไปส่วนหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในการจัดการแก้ปัญหาของตัวเอง

ผมเชื่อมั่นว่าเราต้องให้โอกาส ทำให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเข้าถึงทุน เข้าถึงความรู้ เข้าถึงโอกาสทั้งหลายมากขึ้น เพื่อที่จะให้ประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ในการสร้างอนาคตให้กับตัวเอง”

วิธีคิดเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนแบบนี้ทำให้พรรคไทยรักไทยถูกยกย่องว่าเป็นพรรคที่ “คิดใหม่ ทำใหม่” แต่ที่จริงพรรคพัฒนาแนวคิดนี้จากเดินสายรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน การลงพื้นที่อีสานทำให้พรรคค้นพบว่าวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการจัดสรรงบประมาณไปที่หมู่บ้านและชุมชนโดยตรง

ภายใต้การริเริ่มของ ดร.ทักษิณและพรรคไทยรักไทย ประเทศไทยได้เกิดการจัดงบประมาณแบบใหม่ที่จัดสรรเม็ดเงินบางส่วนให้ชุมชน  ยอมรับให้ประชาชนแต่ละพื้นที่ตกลงกันเองว่าอะไรคือเรื่องทุกข์ร้อนของท้องถิ่นที่พวกเขาต้องการแก้ไข และเมื่อได้ผลสรุปแล้วก็สามารถใช้งบประมาณส่วนนี้แก้ปัญหานั้นได้ทันที

รัฐบาลพรรคไทยรักไทยบริหารงบโดยจัดสรรเม็ดเงินตามขนาดหมู่บ้านซึ่งแบ่งเป็น ขนาดเล็ก(S) ขนาดกลาง(M) และขนาดใหญ่(L) หมู่บ้านเล็กได้งบประมาณปีละ 200,000 บาท หมู่บ้านขนาดกลางได้ปีละ 250,000 บาท และหมู่บ้านขนาดใหญ่ปีละ 300,000 บาท โดยทุกหมู่บ้านได้งบรวม 20,000 ล้านบาทต่อปี

ด้วยวิธีเดียวกันนี้ พรรคไทยรักไทยตั้งกองทุนหมู่บ้านให้ชาวบ้านได้บริหารเงินปีละ 1 ล้านบาท เพื่อสร้างอาชีพและธุรกิจด้วย พรรคต่อยอดแนวคิดนี้จากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำเรื่องกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ซึ่งนำคุณค่าที่คนไทยยึดถือเรื่องความซื่อสัตย์มาใช้บริหารงานชุมชน และผลก็ประสบความสำเร็จอย่างดี

เมื่อพรรคไทยรักไทยแปลงแนวคิดกลุ่มสัจจะออมทรัพย์เป็นกองทุนหมู่บ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนในชุมชนใช้เงินจากกองทุนไปลงทุนธุรกิจตนเอง มีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นจากเดิมจนเห็นได้ชัดเจน

ความมุ่งมั่นของ ดร.ทักษิณคือการแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบอย่างเป็นระบบ จุดหมายของเรื่องนี้คือการนำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับมาให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนซึ่งเป็นคนจำนวนมากของประเทศ และไม่มีอะไรจะคืนศักดิ์ศรีความเป็นคนได้เท่ากับการให้โอกาสจนทุกคนมีโอกาสมีชีวิตที่ดี

Share on facebook
Share on twitter