1 อำเภอ 1 ทุน โอกาสสร้างฝันให้เป็นจริง

Share on facebook
Share on twitter

       ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีความเชื่อว่าโอกาสทางการศึกษานั้นเป็นรากฐานที่มั่นคงแก่ชีวิต และเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ ข้อมูลของโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ชี้ให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มโครงการในปี พ.ศ.2547 มีจำนวนนักเรียนที่ได้รับทุนไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และสำเร็จการศึกษารวมทั้งสิ้นมากกว่า  3,000 คน

ผลผลิตของโครงการนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้มีการจัดสรรทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี แก่เด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ใน อำเภอ/เขตทั่วประเทศ แห่งละ 1 ทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนที่เรียนดีมีความประพฤติดี ได้มีโอกาสรับทุนการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีใบแรกของหลักสูตร ทั้งในประเทศและต่างประเทศตามสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นการเพิ่มศักยภาพของเด็กไทยให้มีความรู้ในระดับอุดมศึกษา สามารถพัฒนาตนเองและยกระดับความสามารถในการประกอบอาชีพซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ 

ดร.ทักษิณ ชินวัตร ชินวัตร กล่าวเอาไว้ในการให้นโยบายการศึกษาเมื่อปี 2544 ว่า “การพัฒนาด้านการศึกษาถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของประเทศ เนื่องจากการศึกษาเป็นที่มาของทุนทางปัญญา” 

ดังนั้นจึงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในช่วงการบริหารงานโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษาครั้งใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องของทุนการศึกษาและโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุนการศึกษา คือหนึ่งในโครงการที่ประสบความสำเร็จและยังดำเนินการสร้างประโยชน์ให้กับเด็ก เยาวชน และประเทศชาติมาจนถึงทุกวันนี้ 

ในช่วงเริ่มโครงการ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและด้อยโอกาส โดยใช้เงินรายได้ส่วนเกินจากการออกสลากเลขท้ายจัดสรรเป็นทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายในการเรียนต่อระดับปริญญาตรีของนักเรียนกระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่าที่มีผลการเรียนดีแต่มีฐานะยากจน อำเภอละ 1 คน โดยนักเรียนรุ่นแรก มีจำนวน 921 คน ซึ่งเลือกไปศึกษาต่อต่างประเทศ 730 คนและศึกษาต่อในประเทศไทย 191 คน

อัญชลีพร พลแสน (น้องแม็ก)  จากจังหวัดบุรีรัมย์ ได้โอกาสไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เล่าว่า “ไม่เคยคิดว่าจะได้มาเรียนถึงฝรั่งเศสเลย ที่ได้มาเพราะเพื่อนโทรมาชวนแต่ไม่มีค่ารถ ต้องยืมน้ามาหนึ่งพันบาทเพื่อมาสอบ โดยต้องทำข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษ 100 ข้อ ฟัง พูด อ่าน เขียน พอสอบได้ก็ดีใจมาก ทั้งๆ ที่เป็นแค่เด็กบ้านนอกแต่มีโอกาสดีๆ ในชีวิต”

เกตุศิริ อินทโชติ (น้องเกตุ) จากจังหวัดชัยนาท ได้ทุนไปเรียนต่อที่เยอรมนี ได้บอกว่า “ตอนจบ ม.6 ก็กังวลว่าพ่อแม่จะส่งเรียนต่อไหวหรือเปล่าไม่รู้เพราะเราจน แต่ดูจากข่าวทีวีว่ามีทุนนี้ก็ลองสอบดู รู้สึกยาก แต่ก็พอทำได้ก็ดีใจมากที่ทำได้ ไม่คิดไม่ฝันว่าจะได้เป็นนักเรียนทุน”

ในทางวิชาการ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการวิจัยติดตามประเมินผลโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เปิดเผยผลการติดตามสำรวจนักเรียนที่ได้รับทุนศึกษาจากโครงการว่า เด็กทุนส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาสจริงๆ โดยมีรายได้เฉลี่ย 500-2,000 บาทต่อเดือน และอาชีพของครอบครัวของเด็ก 53% พ่อแม่เป็นเกษตรกร , 21% อาชีพรับจ้างทั่วไป และ 13% อาชีพค้าขายหรืองานอิสระ 

ผลการวิจัยยังพบว่าโครงการประสบความสำเร็จ เพราะเปิดโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อต่างประเทศ มีการเรียนรู้ที่หลากหลายช่วยให้มีการนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาท้องถิ่นได้ในระดับที่ดี และเมื่อสอบถามครูพบว่าโครงการนี้ทำให้เด็ก ม.ปลาย มีความกระตือรือร้นและตั้งใจเรียนสูงขึ้น เพราะต้องการชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองก็มีความสามารถในการใช้อินเตอร์เน็ตได้มากขึ้นเพราะต้องการสื่อสารกับลูกที่เรียนต่างประเทศ

ในส่วนของจุดอ่อนของโครงการในรุ่นแรก รศ.ดร.สมพงษ์ ระบุว่า 

1.เด็กขาดความพร้อม 

2.เด็กที่เรียนต่างประเทศส่วนใหญ่เลือกเรียนตามเพื่อน 

3.การคัดเลือกไม่ค่อยได้มาตรฐาน 

4.เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ทุนแต่โครงการไม่มีข้อผูกมัดเมื่อเด็กจบจะไปทำอะไรก็ได้ 

และ 5.เด็กทุนในประเทศไม่ได้รับการดูแล 

จึงมีการเสนอให้แก้ไขสำหรับรุ่นที่ 2 โดย 

1.ควรยึดความต้องการของประเทศเป็นหลักในการกำหนดสาขาที่จะให้ทุน 

2.เพิ่มทุนระดับอาชีวศึกษา 

3.มีระบบการคัดเลือกที่มีมาตรฐาน 

4.ป้องกันการฝากเด็ก 

5.ต้องมีการทำสัญญาผูกมัดเด็กที่เรียนต่อต่างประเทศ ให้กลับมาใช้ทุนให้ชัดเจน 

6.มหาวิทยาลัยต้องให้ความสำคัญ และเปิดช่องทางให้เด็กทุนในประเทศได้เข้าเรียนมากขึ้น

ซึ่งทั้งจุดดีและจุดด้อย ต่างๆ ของโครงการที่เริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2547 กับเด็กนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 921 คนนั้น ได้นำมาปรับปรุงและแก้ไขการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กที่ได้รับทุนไปจนถึงเรื่องจำนวนทุน เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์เป็นประโยชน์กับเด็กและเยาวชนมากที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงไว้และไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือหัวใจหลักของโครงการ ที่เป็นการมอบโอกาสให้กับ เด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง 

Share on facebook
Share on twitter