ประชุม ครม.ร่วมกับเพื่อนบ้าน : นวัตกรรมที่นำไทยเป็นผู้นำภูมิภาค

Share on facebook
Share on twitter

ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2547

รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลมีนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่ดี แต่นโยบายไม่ได้เท่ากับผลที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ในอดีตเราจึงเห็นการบุกเผาสถานทูต คนสนิทของผู้นำประเทศถูกจับเพราะลักลอบเข้าไปในอีกประเทศ ฯลฯ สุดแท้แต่สถานการณ์ด้านวิเทศสัมพันธ์ที่เป็นจริง

ความสำเร็จของนโยบายประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้วัดที่ข้อความซึ่งเขียนบนแผ่นกระดาษ แต่ต้องประเมินจากความร่วมมือ, การประสานงาน, การให้ความช่วยเหลือ ฯลฯ ซึ่งแต่ละประเทศปฏิบัติต่อกันและกันในเวลาปกติ รวมทั้งในเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินหรือสถานการณ์ไม่ปกติขึ้นมา

ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านมีหลายมิติ และนโยบายระหว่างประเทศที่ดีต้องทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนดีขึ้นในทุกมิติด้วย ไม่ว่าจะเป็นมิติระหว่างประชาชนกับประชาชน, เจ้าหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ , รัฐบาลกับรัฐบาล และประมุขแห่งรัฐกับประมุขแห่งรัฐด้วยกัน

ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรีไทยไม่กี่รายที่มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำประเทศใกล้เคียง ความเป็นนายกจากการเลือกตั้งซึ่งประชาชนเทคะแนนแบบ “แลนด์สไลด์” ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านยอมรับ ดร.ทักษิณ ง่ายอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงคุณสมบัติส่วนบุคคลของ ดร.ทักษิณเอง

ประเทศไทยในเวลาที่ ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำคือประเทศซึ่งนานาชาติให้การยอมรับอย่างไม่เคยมีมาก่อน รัฐบาลที่มีพรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำสามารถจัดประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาพแบบนี้แทบไม่มีปรากฎให้เห็นแล้วในปัจจุบัน

โดยปกตินั้นการประชุมระหว่างผู้นำเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญสูงสุดแต่บางครั้งการประชุมนี้ก็เป็นแค่พิธีกรรมทางการทูต ส่วนการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีแบบ ดร.ทักษิณ เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน และถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือกับเพื่อนบ้านที่ดี

รัฐบาลภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ จัดประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านครั้งแรกในเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2545โดยเป็นการประชุมร่วมกันกับคณะรัฐมนตรีของมาเลเซีย ที่จังหวัดสงขลา ของไทย และที่เมืองอัลลอสปา รัฐเคดาห์ มาเลเซีย

สำหรับการประชุมครั้งที่ 2 รัฐบาลของดร.ทักษิณ จัดประชุมร่วมกับคณะรัฐมนตรีกัมพูชาครั้งแรกที่เมืองเสียมราฐในวันที่ 31 พฤษภาคม 2546 และครั้งที่สองที่จังหวัดอุบลราชธานีในวันถัดมา

ครั้งที่ 3 เป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมของไทยและเวียดนามในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2547

ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม และจังหวัดนครพนม จากนั้นมีการประชุมครั้งที่ 4 ระหว่างคณะรัฐมนตรีไทยและลาวในวันที่ 20 – 21 มีนาคม พ.ศ.2547 ณ แขวงเมืองจำปาสัก ประเทศลาว

ดร.ทักษิณ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ความเข้าใจถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการค้าและด้านอื่นๆ จึงเป็นเหตุให้ดร.ทักษิณ ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่ถูกยกย่องว่าเป็นมิติใหม่ที่นักการทูตทั่วโลกจับตามอง” (**1)

หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547 (**3) อธิบายแนวคิดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเอาไว้ว่า

“การประชุม ครม.ร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ไม่เคยมีมาก่อน เป็นแนวความคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการประชุมลักษณะนี้เกิดขึ้น และต่างชาติก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้รัฐมนตรีแต่ละคนแต่ละประเทศที่ทำหน้าที่เหมือนกัน มีความรู้จักคุ้นเคยกันขึ้น”

ในยุคที่พรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำรัฐบาล นอกจากการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านจะดำเนินไปอย่างเต็มรูปแบบ การประชุมหลายครั้งยังเกิดขึ้นในรูปแบบการประชุมกลุ่มย่อยระหว่างรัฐมนตรีของไทยกับรัฐมนตรีประเทศเพื่อนบ้านซึ่งรับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน(**1)

ดร.ทักษิณ อธิบายความสำคัญของการประชุมกลุ่มย่อยเอาไว้ในขณะที่เตรียมประชุมร่วมของคณะรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย ปี พ.ศ.2545 โดยระบุว่าการประชุมกลุ่มย่อยของรัฐมนตรีทั้งสองประเทศนั้นคาดหวังให้เกิดความคุ้นเคยในระดับที่สามารถยกหูโทรศัพท์พูดคุยกันได้ทันทีที่เกิดปัญหา (**4)

แนวคิดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมและการประชุมกลุ่มย่อยในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแน่นแฟ้นขึ้น เพราะเป็นการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศต่อประเทศ รวมทั้งระดับรัฐมนตรีต่อรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศในเวลาเดียวกัน

ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงเรื่องนวัตกรรม การประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรีไทยกับประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นนวัตกรรมด้านการเมืองระหว่างประเทศที่นำไปสู่การยกระดับความร่วมมือกันมิติอื่นอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เดินหน้าอย่างรวดเร็ว

ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำประเทศไม่กี่รายที่ทำให้ไทยมีโอกาสเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยในยุคที่มี ดร.ทักษิณ เป็นนายก คือประเทศที่โลกไม่สามารถมองข้ามความสำคัญได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่นึกถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่เศรษฐกิจ การเมือง และวิเทศสัมพันธ์

อ้างอิง

**1 – หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 2547 หน้าที่ 6

**2 – หนังสือ “ทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน” ; พิมพ์ครั้งที่ 1 ; ตุลาคม 2558 หน้าที่ 193  

**3 – หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 หน้าที่ 3

**4 – หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 22 ธันวาคม 2545 หน้าที่ 1 , 8 , 9

Share on facebook
Share on twitter