จากห้องสมุดที่มีชีวิต สู่ TK Park แหล่งเรียนรู้ที่ทักษิณมอบให้คนไทย

Share on facebook
Share on twitter

ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2544

ดร.ทักษิณ มีอุปนิสัยชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ  บ้านของ ดร.ทักษิณ เต็มไปด้วยหนังสือทุกประเภทที่จะหยิบขึ้นมาอ่านตอนไหนก็ได้ ต่อให้จะมีเวลาว่างแค่ไม่กี่นาทีเท่านั้น ตัวตนของ ดร.ทักษิณ จึงเป็นคนที่ใฝ่ใจแสวงหาความรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือทำอะไรก็ตามที

ตัวตนของคนเราก่อตัวจากประสบการณ์ชีวิต และเส้นทางของเด็กชายทักษิณจากโรงเรียนบ้านสันกำแพงสู่โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสู่การได้ทุนรัฐบาลไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐ และจากนักธุรกิจระดับชาติสู่ผู้นำประเทศ ทำให้ดร.ทักษิณ ตระหนักว่าการศึกษาตลอดชีวิตคือมิติการศึกษาที่หายไปจากสังคมไทย

ในหนังสือ “จากคนตัวใหญ่สู่ใจดวงน้อย” ของคณะทำงานโครงการสภาเยาวชนไทย พรรคไทยรักไทย  ดร.ทักษิณ แสดงความเห็นว่าการศึกษาสำคัญต่อการพัฒนาตัวตนของเด็ก แต่ระบบการศึกษาไทยไม่สนับสนุนให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต  แม้แต่การปฏิรูปการศึกษาก็ไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย

ด้วยความตระหนักว่าสังคมไทยไม่มีหน่วยงานไหนสนับสนุนให้เยาวชนพัฒนาตัวเองด้วยตัวเอง ดร.ทักษิณ มองเห็นต่อไปว่า “สิ่งที่เรียนมาในวันนี้ พรุ่งนี้ก็จบ  หรือไม่ก็ล้ำสมัยไป  ทำให้เกิดช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาระหว่างคนที่มีฐานะน้อยกับคนที่มีฐานะดี”

ในมุมมองของ ดร.ทักษิณ เด็กจากครอบครัวร่ำรวยไม่ใช่คนกลุ่มที่น่ากังวล แต่เด็กจากครอบครัวคนส่วนใหญ่นั้นด้อยโอกาสจนรัฐต้องสนับสนุนการศึกษาให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเรียนฟรี และเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้การเรียนรู้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

วิธีคิดของ ดร.ทักษิณ ทำให้เกิด ‘ห้องสมุดมีชีวิต’  ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  โดยในคำกล่าวเปิดงานสัมมนาเรื่องนี้ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2544  ดร.ทักษิณอธิบายแนวคิดเรื่อง “ห้องสมุดมีชีวิต” เอาไว้ว่า

“ผมอยากสร้างห้องสมุดที่มีชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง มีหนังสือที่ดี  ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  ผมไม่อยากให้ห้องสมุดที่ตายตั้งแต่วันสร้าง   อยากทำสิ่งนี้เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้ม  ผมอยากลงทุนเรื่องของการเติมอาหารสมองให้มนุษย์มากที่สุด”

ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำประเทศไม่กี่คนที่คิดถึงการศึกษาตลอดชีวิตถึงจุดที่คิดเรื่อง “ห้องสมุดมีชีวิต” นั่นก็คือห้องสมุดไม่ใช่เป็นแค่ที่เก็บหนังสือ แต่ห้องสมุดต้องมีชีวิตชีวา มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ใช้พอใจและมีความสุข หรืออีกนัยคือห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ในสังคม

ด้วยวิสัยทัศน์เรื่องการพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อประชาชน เมื่อ ดร.ทักษิณ ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งปี 2544 จนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่พรรคไทยรักไทยเพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ประกาศนโยบายข้อ 8 ซึ่งมีใจความว่า

“ต้องปฏิรูปการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง  เน้นหลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต เน้นพลังความคิดสร้างสรรค์ นิสัยรักการอ่าน  การจัดให้มีห้องสมุด  ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน และสื่อการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ อย่างทั่วถึง”

ตอนแรกรัฐบาลมุ่งผลักดันโครงการ “ห้องสมุดมีชีวิต” ผ่านมหาวิทยาลัย แต่เมื่อทบวงมหาวิทยาลัยผลักดันให้สถาบันการศึกษาจัดทำโครงการ ผลที่เกิดขึ้นคือระบบราชการและงบประมาณภาครัฐไม่เอื้อให้สถาบันการศึกษาทำบทบาทนี้   รัฐบาลจึงต้องผลักดันเรื่องนี้โดยวิธีคิดที่นอกกรอบเดิม

ในปี 2544 ดร.ทักษิณ จัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เต็มที่  ไร้ขีดจำกัด ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสร้างนวัตกรรรม  และความรู้ใหม่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เยาวชนและคนไทยมีโอกาสพัฒนาความรู้เท่าเทียมกัน 

ดร.ทักษิณ แสดงความเห็นในวันเปิด TK Park เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2544 เอาไว้ว่า

‘เด็กไทยมีปัญหาหลัก3 ข้อ ข้อแรก ยังขาดการอ่าน รู้จักแต่พูด ข้อสอง ขาดวิธีการคิดอย่างสร้างสรรค์ ข้อสามคือการเข้าถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ ดิจิตอล ทีเคปาร์ค จะเป็นหนทางแห่งปัญญา  เป็นสถานที่มั่วสุมอย่างสร้างสรรค์ของเยาวชนในลักษณะ Edutainment  ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งปัญญา  เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้’ 

ขณะที่นายกรัฐมนตรีในอดีตมักใช้คำขวัญวันเด็กเพื่อโฆษณาชวนเชื่อหรือปลูกฝังให้เด็กมีวินัย  ดร.ทักษิณ เป็นผู้นำประเทศเพียงคนเดียวที่พยายามปลูกฝังแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในโอากสนี้ทุกปี กล่าวคือ

พ.ศ. 2545 – เรียนให้สนุก เล่นให้มีความรู้ สู่อนาคตที่สดใส

พ.ศ. 2546 – เรียนรู้ตลอดชีวิต คิดอย่างสร้างสรรค์ ก้าวทันเทคโนโลยี

พ.ศ. 2547 – รักชาติ รักพ่อแม่ รักเรียน รักสิ่งดี ๆ อนาคตดีแน่นอน

พ.ศ. 2548 – เด็กรุ่นใหม่ ต้องขยันอ่าน ขยันเรียน กล้าคิด กล้าพูด

พ.ศ. 2549 – อยากฉลาด ต้องขยันอ่าน ขยันคิด

เมื่อใดที่พูดถึง ดร.ทักษิณ เมื่อนั้นเราต้องพูดถึงแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการสร้างองค์กรใหม่ๆ เพื่อบริหารความรู้สู่การสร้างสังคมแห่งปัญญาในความหมายที่แท้จริง

Share on facebook
Share on twitter