สร้างแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตเพื่อยกระดับประเทศ TK Park-TCDC - Thaksin Official


ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2548

ดร.ทักษิณ ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ การอ่านทำให้ ดร.ทักษิณ เป็นเด็กเรียนดี  เก่งวิชาคำนวณและภาษาจนได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลในระดับปริญญาโทถึงปริญญาเอก อุปนิสัยใฝ่หาความรู้จึงอยู่คู่กับ ดร.ทักษิณเสมอ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจและการเมืองขนาดไหนก็ตาม    

บ้านพักของ ดร.ทักษิณ ทุกที่เต็มไปด้วยหนังสือหลายแบบที่จะหยิบขึ้นมาอ่านตอนไหนก็ได้   ต่อให้มีเวลาว่างแค่ไม่กี่นาทีก็ตาม  ดร.ทักษิณ จึงเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต  เห็นว่าการศึกษามีผลต่อการพัฒนาตัวตนของเด็ก แต่ระบบการศึกษาไม่สนับสนุนการเรียนรู้แบบนี้มากพอ

ดร.ทักษิณ เคยกล่าวในหนังสือ “จากคนตัวใหญ่สู่ใจดวงน้อย” ของโครงการสภาเยาวชนไทย พรรคไทยรักไทย ว่าหากระบบการศึกษาไม่คำนึงถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต สิ่งที่เรียนมาในวันนี้ พรุ่งนี้ก็จะจบ  หรือล้าสมัย เกิดช่องว่างของโอกาสทางการศึกษาระหว่างคนฐานะดีกับไม่ดีขึ้นมาทันที

รัฐบาล ดร.ทักษิณ พยายามปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ ดร.ทักษิณค้นพบคือหน่วยงานด้านการศึกษายุคนั้นไม่มีแนวคิดสนับสนุนให้เยาวชนพัฒนาตัวเองอย่างเป็นระบบ คนรวยอาจไม่มีปัญหานี้ แต่ลูกชาวบ้านขาดโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงเทคโนโลยีจนเสียเปรียบโดยปริยาย

 ‘ห้องสมุดมีชีวิต’  เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกตามแนวคิดที่ ดร.ทักษิณ กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการของมหาวิทยาลัยนเรศวร วันที่ 10 สิงหาคม ปี 2544  ถึงความต้องการสร้างห้องสมุดมีชีวิตในความหมายของห้องสมุดที่มีชีวิตชีวา  ผู้ใช้มีความพอใจ รวมทั้งมีความสุขตลอดเวลา

“ผมอยากสร้างห้องสมุดที่มีชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง มีหนังสือที่ดี  ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง  ผมไม่อยากให้ห้องสมุดตายตั้งแต่วันสร้าง   อยากทำสิ่งนี้เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้ม  ผมอยากลงทุนเรื่องของการเติมอาหารสมองให้มนุษย์มากที่สุด”[1]

แนวคิด ดร.ทักษิณ สอดคล้องกับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 25 ซึ่งระบุว่ารัฐต้องส่งเสริมการดำเนินงานและจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุดประชาชน  พิพิธภัณฑ์  หอศิลป์  สวนสัตว์  สวนสาธารณะ และการเรียนรู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอ

“ห้องสมุดมีชีวิต” เป็นนโยบายด้านการศึกษาของพรรคไทยรักไทย และทันทีที่ ดร.ทักษิณชนะเลือกตั้งจนได้เป็นนายก ทบวงมหาวิทยาลัยก็ประชุมคณะกรรมการพัฒนาห้องสมุดเพื่อให้แต่ละมหาวิทยาลัยจัดทำห้องสมุดที่มีชีวิต แต่อุปสรรคในระบบราชการทำให้เรื่องนี้ไม่เกิดขึ้นมา 

ดร.ทักษิณ แก้ปัญหานี้โดยสร้างอุทยานการเรียนรู้หรือ TK Park เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ประชาชนเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เต็มที่และเท่าเทียมกันผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศตามแนวคิดที่ดร.ทักษิณ กล่าวในพิธีเปิด TK Park เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2544 ว่า

‘เยาวชนในสังคมไทยมีปัญหาหลัก 3 ข้อ ข้อแรก ขาดการอ่าน รู้จักแต่พูด ข้อ 2.ขาดวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ และท้ายสุดคือการเข้าสู่ฐานข้อมูลต่าง ๆ TK Parkจะเป็นหนทางแห่งปัญญาสำหรับสังคม เป็นสถานที่มั่วสุมอย่างสร้างสรรค์ของเยาวชน  เป็น Edutainment  สร้างสังคมแห่งปัญญา”

นอกจากดร.ทักษิณ จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ผ่านการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้หรือ “TK Park” รัฐบาลของดร.ทักษิณ ยังอนุมัติจัดตั้ง ‘ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ’ หรือ TCDC ในวันที่ 2 กันยายน 2546  ในกำกับของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ หรือ OKMD  อีกด้วยเช่นกัน

TCDC เกิดขึ้นบนวิสัยทัศน์ของดร.ทักษิณว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” คือทางรอดของเศรษฐกิจไทย เราต้องยกระดับประเทศจากการผลิตสินค้าแบบของโหลสู่การผลิตสินค้าที่มูลค่าสูงที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ มีการออกแบบ และมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกตลอดเวลา

ดร.ทักษิณเห็นว่าการออกแบบคือกลยุทธ์ที่หลายประเทศใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม อังกฤษมี Design Council ประสานงานให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของงานออกแบบ  ,เกาหลีใต้ทำแผนส่งเสริมการออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม ปี 2536 – 2546 และอินเดียมีนโยบายการออกแบบแห่งชาติ เพื่อให้อินเดียเป็นแหล่งออกแบบและผู้ผลิตที่สร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ของโลก  

ปรัชญาของ TCDC คือเปลี่ยนความรู้เป็นความสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แนวทางการทำงานจึงมุ่งจุดประกายให้ผู้ประกอบการสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการด้านต่างๆ จนเกิดระบบเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์มูลค่า’ (Value Creation Economy)  ขึ้นมา  

ดร.ทักษิณ กล่าวในวันเปิด TCDC ว่า

“การเปิดศูนย์แห่งนี้ เพื่อต้องการเห็นสมองคนไทยมีราคา   สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์    ไม่อยากให้สมองมีราคาเท่าแรงงาน   ทั้งที่ประเทศไทยมีคนที่มีความรู้   มีพรสวรรค์    แต่ที่ผ่านมาอาจเป็นเพราะเราไม่มีช่องทางที่จะเชื่อมโยง  จึงต้องพัฒนาแหล่งเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา’

TCDC เปิดตัวด้วยนิทรรศการ  ‘ISAN Retrospective กันดารคือ สินทรัพย์อีสาน’    มีผู้เข้าชมกว่า 32,000 คนในเวลา 1 เดือนครึ่ง จากนั้นก็จัดนิทรรศการ ‘ถอดรหัสญี่ปุ่น’ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากญี่ปุ่นมาให้ความรู้จนปีแรกของการเปิด TCDC   มีผู้เข้าชมนิทรรศการถึง 303,000 คน

จาก TK Park ถึง TCDC ปรัชญาที่ ดร.ทักษิณ ฝากไว้กับประเทศไทยคือความรู้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ความคิดสร้างสรรค์มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และรัฐต้องลงทุนให้เกิดสถาบันเพื่อการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว

[1] ดร.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีมอบรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาล วันที่ 26 สิงหาคม 2544