จาก ‘ชินทัศนีย์’ สู่ ‘บ้านทรายทอง’ ธุรกิจที่มาจากความรัก

Share on facebook
Share on twitter
thangchin

ภาพถ่าย ดร. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2508

     ดร.ทักษิณ ถูกปลูกฝังเรื่องของการทำธุรกิจมาจากพ่อเลิศ ชินวัตร  ทำมาหลากหลายกิจการ ทุกอย่างที่เป็นโอกาส  ตั้งแต่ร้านกาแฟ  ทำไร่นาสวนผสม ปลูกส้มเขียวหวาน ขายกล้วยไม้จากสวน ขายอะไหล่มอเตอร์ไซค์ จักรเย็บผ้า กิจการรถเมล์ รถรับจ้าง รถสามล้อ ตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซด์ฮอนด้า ปั๊มน้ำมัน และโรงหนัง ล้วนผ่านมือของครอบครัวชินวัตรมาหมดแล้ว ผู้เป็นพ่อคือคนที่ปลูกฝังเขาเรื่องแนวคิดการทำธุรกิจ 

     “ผมเป็นคนติดพ่อมาก มีคนบอกว่าผมเหมือนเป็นเงาของพ่อ”

     หนึ่งในธุรกิจที่พ่อเลิศทำ คือการร่วมหุ้นสร้างโรงหนังศรีวิศาลกับเครือญาติ ธุรกิจเติบโตอย่างมาก จนขยายมาสู่โรงหนังชินทัศนีย์ ซึ่งตั้งชื่อตามนามสกุลและชื่อแม่ของ ดร.ทักษิณ และตัวเขาเองก็ได้เข้ามาช่วยงานพ่อเลิศ  ชีวิตประจำวันในวัยเด็กของเขา นอกจากการเรียนแล้ว ยังต้องช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัวด้วย

     “ตอนเช้าไปโรงเรียน ตอนกลางวันกลับมาช่วยพ่อดูแลโรงหนัง เชื่อไหมว่าผมเป็นผู้จัดการโรงหนังตอนอายุ 16 ปี”

     ในอดีต ภาพยนตร์ที่เขาชอบมากที่สุดคือเรื่องบ้านทรายทอง  ไม่ใช่เพราะเนื้อเรื่องหรือชื่นชอบดาราคนไหนเป็นพิเศษ  แต่เพราะเป็นภาพยนตร์ที่ทำกำไรให้กับโรงหนังที่เขาเป็นผู้จัดการอยู่มากที่สุด

     ธุรกิจโรงหนังในเชียงใหม่รุ่งเรืองมาก เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีโรงหนังแบบ Stand alone มากที่สุดเกือบ 20 โรง  แต่ละโรงมีจุดขายที่แตกต่างกัน เช่น โรงหนังเวียงพิงค์  เน้นฉายหนังไทยและอินเดีย, โรงหนังชินทัศนีย์ เน้นฉายหนังจีน และโรงหนังศรีวิศาล ฉายหนังหลายประเภท  แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของโรงหนังเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า โรงหนังแบบเดิม ๆ ก็ต้องทยอยปิดตัวลงไป

     เมื่อเขาเติบโตขึ้น ทันทีที่เรียนจบจากต่างประเทศ เริ่มเข้าสู่การทำธุรกิจด้วยตัวเอง ดร.ทักษิณ ตัดสินใจกลับเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวกับภาพยนตร์อีกครั้ง แต่มาในรูปแบบใหม่ คือการซื้อลิขสิทธิ์หนัง เป็นตัวแทนฉายหนังในภาคเหนือ 

     เพราะเคยทำโรงหนังมาก่อน มีสายสัมพันธ์กับคนในแวดวงหนัง ดร.ทักษิณ จึงไปหาคุณเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ที่บริษัทไฟว์สตาร์ คุณเกียรติเสนอให้ ดร.ทักษิณ เป็นตัวแทนนำหนังใหม่ไปฉาย ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำหนังไปต่อยอดอีกรอบ หนังเรื่องนั้นคือเรื่อง “บ้านทรายทอง” ดร.ทักษิณตัดสินใจซื้อทันที

     นางเอกของเรื่องชื่อ “พจมาน”

     บ้านทรายทอง สร้างโดย “รุจน์ รณภพ” มีพระเอกนางเอกหน้าใหม่ “พอเจตน์-จารุณี” ดร.ทักษิณ ซื้อหนังเรื่องนี้มาในราคา 1.5 ล้านบาท  ฉายในโรงหนังสายเหนือทั้งหมด รวมถึงสระบุรีด้วย หนังเรื่องนี้ทำให้ “แอ๊ด จอกว้าง” เจ้าของหนังกลางแปลงจอโค้งเจ้าใหญ่ในตอนนั้น ถึงกับบอกว่า “โรงแตก” บัตรขายดีจนต้องเปิดให้คนเข้ามาดูฟรี

     ความสำเร็จของ “บ้านทรายทอง” ทำให้เขาได้เงินมา 2.5 ล้านบาท  นำไปใช้หนี้เพื่อน   และได้กำไรมาต่อยอดธุรกิจอีก 1 ล้านบาท  

     การทำธุรกิจไม่ได้ง่ายอย่างที่ฝัน “บ้านทรายทอง” เป็นความสำเร็จจากธุรกิจบันเทิงเพียงครั้งเดียวของเขาหลังจากนั้น ธุรกิจซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ไม่ใช่ทางอีกต่อไป เพราะประชาชนเลือกดูภาพยนตร์เฉพาะเรื่องที่มีดาราที่เป็นที่รู้จักเท่านั้น แต่เขาซึ่งเป็นนักเรียนนอก ยังไม่รู้จักดาราไทยมากนัก การซื้อภาพยนตร์ในช่วงหลัง จึงไม่ประสบความสำเร็จ

     แต่อย่างน้อยก็เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่ชื่อ “พจมาน” ที่เข้ามาในชีวิตเขาโดยบังเอิญถึงสองครั้ง  ผู้หญิงคนนี้เป็นทั้งความรักและจุดเริ่มต้นในธุรกิจบันเทิงจนนำมาสู่ธุรกิจอื่นๆ ในเวลาต่อมา และอีกคนที่สำคัญมากที่สุดสำหรับเขาคือ พ่อเลิศ ผู้ที่ปลูกฝังแนวคิดการทำธุรกิจให้กับเขาจนถึงทุกวันนี้

Share on facebook
Share on twitter