ชุบชีวิต “บ้านเอื้ออาทร” ไอเดียต่อยอดถึง “บ้านประชารัฐ”

Share on facebook
Share on twitter
baan-ua-athon

     โครงการ “บ้านเอื้ออาทร” เริ่มต้นขึ้นจากแนวคิดของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2546 สมัยที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเอง เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมไทย โดยตั้งเป้าสร้างบ้านเอื้ออาทรให้ได้ 1 ล้านหลัง 

     เพราะการมีบ้านคือต้นทางสำคัญที่ทำให้สังคมเข้มแข็ง เห็นได้จากชาวบ้านชุมชนโพธิ์เสด็จ จ.นครศรีธรรมราช ที่ได้รับโอกาสจากโครงการบ้านเอื้ออาทรที่การเคหะแห่งชาติจัดสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยใน จ.นครศรีธรรมราช ได้เข้าอยู่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2553 ถือเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง  ความสุขจากการมีบ้านในสภาพแวดล้อมที่ดี ครอบครัว ได้อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น  ส่งผลให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่เข้มแข็งน่าอยู่ สมาชิกในชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จนได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงการชุมชนสดใส จิตใจงดงาม ประจำปี 2560 ของ การเคหะแห่งชาติ

     แม้โครงการบ้านเอื้ออาทรจะเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ที่ดี  แต่ก็กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ยืดเยื้อหลายอย่าง จนทำให้บ้านเอื้ออาทรต้องหยุดชะงัก และถูกโจมตีว่าเป็นโครงการประชานิยม

     แท้จริงแล้ว “บ้านเอื้ออาทร” เลวร้ายจริงหรือ? เหตุใดจึงถูกชุบชีวิตใหม่..ต่อยอดเป็น “บ้านประชารัฐ”

     “บ้านประชารัฐ” คือชื่อใหม่ของบ้านเอื้ออาทรที่รัฐบาลปัจจุบันปล่อยสินเชื่อเพื่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยเอื้อต่อผู้มีรายได้น้อยให้สามารถซื้อบ้านได้โดยการกู้เงินกับธนาคารในอัตราดอกเบี้ยถูกลง ซึ่งเป็นแนวความคิดเดียวกันกับโครงการ “บ้านเอื้ออาทร” เดิม

     สาเหตุสำคัญที่ทำให้ “บ้านเอื้ออาทร” ถูกชุบชีวิตใหม่ในชื่อ “บ้านประชารัฐ” อีกครั้ง ก็เพราะโครงการนี้นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมได้หลากหลายมิติ ทั้งลดการบุกรุกที่สาธารณะ ลดชุมชนแออัด ลดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ แล้ว ยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาคอีกด้วย เพราะเมื่อมีการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงจะเกิดการเติมเงินเข้าไปในระบบ ตั้งแต่ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจการขนส่งสินค้า ธุรกิจการก่อสร้าง ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงเกิดการจ้างแรงงานจำนวนมาก ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ  การชุบชีวิต “บ้านเอื้ออาทร” อีกครั้ง จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์อย่างครอบคลุมคุ้มค่า

     บทสรุปของ “บ้านเอื้ออาทร” จะเป็นเช่นไร จะเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อใดก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพิสูจน์ได้ ก็คือ การมีบ้านคือต้นทางที่สำคัญ เพราะเมื่อเรามีบ้านมีครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง สังคม เข้มแข็ง ประเทศชาติก็จะเข้มแข็งด้วย ..นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ “บ้านเอื้ออาทร” หนึ่งในนโยบายลดความเหลื่อมล้ำที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการสร้างให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

Share on facebook
Share on twitter