AQ พลิกชีวิตคนรุ่นใหม่

Share on facebook
Share on twitter

ในช่วงเดือนเมษายน 2545  คณะทำงานโครงการสภาเยาวชนไทย พรรคไทยรักไทย จัดทำโครงการ ‘เยาวชนรุ่นใหม่  ใส่ใจบ้านเมือง’  ที่ทำเนียบรัฐบาล  มีเยาวชนกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในกิจกรรมครั้งนี้  เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นนายกรัฐมนตรี  หรือนักการเมืองที่ต้องการพัฒนาประเทศ ได้แสดงศักยภาพของตัวเองผ่านกิจกรรมและการให้ความรู้

กิจกรรมที่ทำร่วมกันมีทั้งการฝึกอบรม การให้ความรู้ด้านต่าง ๆ  การจัดกิจกรรมเขียนเรียงความ  รวมทั้งการพาชมสถานที่การทำงานของรัฐบาล  ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนนักศึกษา  ได้เรียนรู้ศาสตร์นอกห้องเรียนเพิ่มเติมจากหลักสูตร  

ในตอนนั้นการศึกษาของไทย มีหลายกับดักปัญหาที่ ดร.ทักษิณ อยากจะแก้ไข  เขามองว่า   การเรียนรู้ที่เหมาะกับโลกยุคใหม่  ควรจะเป็น  Learning by doing หรือ Activity Based Learning  ควรนำเอาสิ่งที่เรียนทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการทำกิจกรรม 

“คนที่ดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือเก่งที่สุด   ต้องมีทั้งเพื่อนและมีวิชา  จะสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด  คนเรียนเก่งแล้วไม่มีเพื่อน  สุดท้ายชีวิตอาจจะลำบากได้”

ดร.ทักษิณให้ความสำคัญกับ  IQ (Intelligence Quotient) หรือความฉลาดทางสติปัญญา เป็นความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การคำนวณ การใช้เหตุผล  และ EQ (Emotionnel Quotient) ซึ่งเป็นความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถในการรับรู้ เข้าใจอารมณ์ตนเองและผู้อื่น สามารถควบคุมอารมณ์ ยับยั้งชั่งใจตนเองและแสดงออกอย่างเหมาะสม รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักรอคอย รู้จักกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส และมองโลกในแง่ดี

ในอดีต เมื่อครั้งที่ ดร.ทักษิณ ยังนั่งตำแหน่งผู้บริหาร บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น  เขามักจะพาผู้บริหารไปชมนิทรรศการเกี่ยวกับเทเลคอมทั้งในและต่างประเทศ เช่นที่เจนีวา  สิงคโปร์ ฮ่องกง เยอรมัน หรือบาเซโลนา  เพื่อศึกษาแนวโน้มเทคโนโลยีในต่างประเทศ  ทั้งแนวความคิดด้านเทคโนโลยีในอนาคตที่กำลังจะมาถึง  และประเทศไทยในฐานะที่เขาเป็นบริษัทด้านการสื่อสารขนาดใหญ่ควรที่จะนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในไทยหรือไม่ 

“การไปดูงานต่างประเทศ ไปเพื่อให้เรารู้ว่าคอนเซ็ปต์ของเขา  และเราควรจะไปตามเขาไหม ไปเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในสิ่งที่เขาทำ  เป็นหนึ่งในความรู้กลุ่ม IQ ที่ผมมักจะเติมให้กับผู้ที่ร่วมงานเสมอ” 

นอกเหนือจาก IQ และ EQ แล้ว ดร.ทักษิณ ยังให้ความสำคัญกับ AQ  (Adversity Quotient) ซึ่งเป็นความฉลาดในการแก้ไขปัญหา มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวในการเผชิญปัญหาได้ดี มีความพยายาม เอาชนะอุปสรรคความยากลำบากด้วยตัวเอง ไม่ย่อท้อง่ายๆ มองปัญหาเป็นเรื่องท้าทาย ไม่ใช่เรื่องที่ต้องจำนน 

AQ  เป็นทฤษฎีของ Dr. Paul G. Stoltz คิดค้นขึ้น หลักการของทฤษฎีนี้คือการเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยการทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไม่ท้อแท้ หรือหยุดลงกลางทาง แม้จะเหนื่อยยากแค่ไหน  ก็จะไม่ล้มเลิกง่าย ๆ จนกว่าจะพบกับความสำเร็จ

ในชีวิตจริง  เราได้เห็นการปลูกฝังแนวความคิด AQ ให้กับเด็ก ผ่านการฝึกฝนให้แก้ปัญหาผ่านเกมต่างๆ เช่น เกมหยอดกระดุมลงกระปุก เกมต่อภาพจิ๊กซอว์  เมื่อเด็กเริ่มเติบโตขึ้น  เขาก็ได้เข้าสู่การทดสอบ AQ ด้วยการสอบเพื่อให้ได้ตามที่หวังไว้

“วิธีคิดหรือการพัฒนาวิธีคิดของคนไทยเราสำคัญ วันนี้ถ้าอยากจะให้ลูกหลานเก่งในอนาคตข้างหน้า ไม่สายเกินไปเพียงเริ่มอ่านหนังสือ มีเหตุมีผลกับวิทยาศาสตร์  แล้วเราจะได้เชื่อในสิ่งที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เชื่อเพราะเขาบอกมา”

ดร.ทักษิณ ยังได้ยกตัวอย่างคำสอนของพระพุทธเจ้า เกี่ยวกับกาลามสูตร 10  ที่สอนไว้ว่า อย่าเชื่อเพราะคนพูดเป็นครูบาอาจารย์ จนกว่าจะได้คำตอบที่เป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผลจึงค่อยเชื่อ วิธีนี้จะช่วยฝึกวิธีคิดได้

“การคิดเป็นวิทยาศาสตร์  เราจะได้คำตอบที่ถูกต้อง เป็นทางเดินของชีวิตเราที่ถูกต้อง เราคิดถูกเราสำเร็จ  คนรอบตัวเราก็จะมีความสุขและสำเร็จไปด้วย ถ้าเราคิดผิด  คนรอบตัวเราก็จะทุกข์และลำบากไปด้วย”

การใช้ AQ ในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน  กลายเป็นสิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า IQ และ EQ  เพราะหากบุคคลใดฉลาด เก่งกาจในการงาน เข้าใจในอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น  แต่ขาดความอดทน  ถ้าต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถคบคุมได้  อาจจะทำให้การทำงานไม่สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ 

และยิ่งเมื่อต้องพบเจอกับสถานการณ์ของการแข่งขัน  โอกาสที่อยู่รอดและเป็นผู้ถูกเลือก  ก็ควรต้องมีทั้ง IQ EQ และ AQ คือคิดให้เป็น ตัดสินด้วยข้อมูลและมีทัศนคติที่ดี

ความฉลาดไม่ใช่เครื่องหมายแสดงถึงความเก่งของมนุษย์  แต่คนที่ฉลาด  เรียนรู้   และนำไปปรับใช้  คือผู้อยู่รอดในสังคม และเพราะมนุษย์ไม่สามารถยืนอยู่อย่างโดดเด่นคนเดียว  ความสุขของชีวิตคือการมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมายกับคนที่รัก นั้นคือที่สุดแล้วของมนุษย์ 

Share on facebook
Share on twitter