วิธีคิด วิธีลงทุนแบบทักษิณ

Share on facebook
Share on twitter

ดร.ทักษิณ มีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการมาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยเพราะได้รับการปลูกฝังมาจากครอบครัว โดยเฉพาะพ่อเลิศ  ที่มักจะพาเขาติดสอยห้อยตามไปด้วยทุกครั้งที่ออกไปทำงานนอกบ้าน  ทุกงานที่พ่อเลิศทำ  ดร.ทักษิณ เก็บเล็กผสมน้อยแนวคิดการทำธุรกิจอยู่ทุกขณะก้าวที่ทั้งสองคนเดินไปพร้อมกัน  ตั้งแต่เปิดร้านกาแฟที่หน้าบ้าน ไปจนถึงการร่วมเป็นลูกจ้างในโรงหนังของพ่อเลิศเอง  เขาก็มักจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งล้มและลุกของธุรกิจทำร่วมกันเสมอ

ในหนังสือ “ตาดูดาว เท้าติดดิน” เขากล่าวไว้ว่า มรดกจากพ่อเป็นแรงท้าทายให้เขาสร้างมรดกให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งเป็นมรดกทางความคิด มรดกทางจิตใจ เพราะพ่อของเขาได้ก่อร่างสร้างความกล้าคิด กล้าลอง ให้กับเขา  เขาจึงอยากจะบ่มเพาะแนวคิดต่างๆ ที่จะทุ่มเททำเพื่อคนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะด้วยทางใดก็ทางหนึ่ง

ดร.ทักษิณ มีลักษณะการลงทุนที่มีความพิเศษอย่างหนึ่งในตัวคน ๆ เดียวคือ เป็นคนที่กล้าลงทุนเมื่อมีโอกาสเหมาะ และขณะเดียวกันก็มีความระมัดระวังในการลงทุนบางอย่าง

ในปัจจุบัน  คนรุ่นใหม่มักที่จะมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างรายได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจ ไปจนถึงการลงทุน  ตลอดชีวิตการทำธุรกิจของเขามากกว่า 30 ปี  เขาได้ให้แง่คิดในการทำธุรกิจรวมถึงการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ไว้ ผ่านคลิปสั้นเมื่อปี 2559 และยังปรับใช้ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ 

“ ใครที่คิดจะทำมาหากินอะไร  ต้องพยายามมองว่า Factor รอบตัวเรามีเยอะ บางตัวเกี่ยวกับเราใกล้ ๆ    บางตัวมันไกล  แต่ไกลแล้วมันก็มีผลกับเราในชีวิต    เพราะฉะนั้นทำอะไรก็มองกว้าง ๆ มองหลายๆ มิติ”

ดร.ทักษิณ มองว่า ในช่วงนี้มีธุรกิจใหม่  ที่เกิดจากการใช้ Business Model รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่เข้ามาผสมผสานกัน  จนเข้ามาทำลายธุรกิจเก่าที่ไม่ยอมปรับตัวและเปลี่ยนแปลงได้  โดยเขาได้ยกตัวอย่างโนเกีย โมโตโรลา  โพราลอยด์ และโกดัก  ที่ปิดกิจการเพราะปรับตัวไม่ทันกับกระแสของการเปลี่ยนแปลง 

เขาได้ฝากไปถึงคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ อย่าหลงระเริงกับการใช้เงิน เช่น  เมื่อเล่นหุ้นได้ อย่าเพิ่งใช้เงิน  หากจะซื้อทรัพย์สินไว้ยังสามารถนำทรัพย์สินนั้นมาแปลงเป็นเงินทุนไว้รองรับเมื่อหุ้นตกได้  แต่หากใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  เมื่อหุ้นตกอาจจะเดือดร้อน  ดังนั้นเมื่อมีเงินทุน ขอให้ใช้พอสมควรและควรกันเงินเผื่อไว้  ไม่ควรลงทุนทั้งหมด    

“Don’t put all the eggs in one basket อย่าเอาไข่ทั้งหมดที่เรามี   ไปไว้ในตระกร้าใบเดียว    อะไรหล่นใส่ก็แตกหมด  ไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น  กระจายการลงทุน  กระจายการเก็บเงินไว้ เป็นวิธีการลงทุนที่ผมอยากฝากไว้ครับ”

การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องพบกับการแข่งขันรอบด้าน  การแข่งขันที่เกิดขึ้นมาจากการแข่งขันกับตัวเองที่จะต้องทำให้ดีขึ้นทุกวัน  รวมทั้งการแข่งขันจากคู่แข่งที่อยู่ในเวทีเดียวกัน หรือแข่งขันเวทีอื่น  ซึ่งการแข่งขันที่จะได้เปรียบมากขึ้น  คือการแข่งขันที่คู่แข่งนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วย  จึงจะได้ชื่อเป็นการแข่งขันในโลกยุคใหม่ 

“ธุรกิจคือสิ่งที่มีชีวิต  และสิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม เหมือนกับสัตว์ป่าเดินดี ๆ ไม่สนใจอะไร  พอเจอสัตว์ป่าที่ตัวใหญ่กว่ากินไป  เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังทุกอย่าง  ทุกฝีก้าวในการเดิน”

ในด้านของการลงทุนที่กล้าเสี่ยงของเขา  ใช้กับเฉพาะในบางสถานการณ์ที่ “ต้องเสี่ยง” เสมอ  แต่ทั้งหมดทั้งมวล  การลงทุนทุกรูปแบบจะต้องทำให้สัดส่วนหนี้ต่อทุนต่ำ ไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน หรืออยู่ที่ 1 : 1

“เราจะทุ่มเงินลงทุนไปมากจนอัตราส่วนหนี้ของเราสูงกว่าทุนมากไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเหนื่อย”

เขามีปรัชญาว่า ขอให้ความเสี่ยงในการทำธุรกิจนั้น  จำกัดไว้เฉพาะตัวธรรมชาติของธุรกิจเองเท่านั้น อย่านำความเสี่ยงอื่นเข้ามาเพิ่มอีก

โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็ก หรือ Family Business ไม่ควรรวมเงินบริษัทกับเงินส่วนตัวเป็นกระเป๋าเดียวกัน เช่น การไปเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ ที่ใช้เงินบริษัท  เมื่อปิดงบแล้วทำให้เงินทุนมีปัญหา เมื่อบริษัทขยายจนเติบโต  นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้  แต่ยังใช้ระบบการเงินแบบเดิม  จนทำให้ฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอ  ซึ่งการใช้เงินผิดประเภทนี้อาจจะส่งผลระยะยาวไปถึงการที่นักลงทุนต่างชาติไม่อยากเข้ามาลงทุนในไทยได้

“บริษัทก็เหมือนเครื่องพิมพ์เงิน ต้องหมั่นรักษาให้อยู่ในสภาพดีเสมอ พิมพ์ได้น้อยก็ใช้น้อย พิมพ์ได้มากก็ใช้มาก ไม่ใช่พิมพ์น้อยใช้มากเกินตัว หรือไปเร่งมากๆ ก็เกินกำลังการผลิต พอเครื่องพิมพ์เสีย ไม่มีทางเลือก ก็เอาเครื่องไปขาย สุดท้ายจะเอาเงินที่ไหนมาใช้”

เขามองว่าความเข้มแข็งของแท่นพิมพ์เปรียบเสมือนความเข้มแข็งของบริษัท  หากบริษัทหรือแท่นพิมพ์เข้มแข็ง ผู้ถือหุ้นย่อมได้เงินปันผลเพิ่มพูนขึ้น เขาถือหลักของความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นย่อมเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องดูแลแท่นพิมพ์ให้คงทนและมีประสิทธิภาพ

ความคิดของ ดร.ทักษิณ เป็นความคิดที่มีก้าวย่างมุ่งไปสู่ข้างหน้าตลอดเวลา  ไม่ติดกับดัก ไม่เข้าใกล้กับความผิดพลาด  แต่เมื่อพลั้งไปแล้ว เขามักจะนำประสบการณ์ที่มีค่าเหล่านั้นแบ่งปันไปยังทุกคนที่รักเสมอ 

การลงทุนคือความเสี่ยง  ความผิดพลาดคือประสบการณ์  ความสำเร็จคือกำไรชีวิต  ทุกอย่างคือเบ้าหลอมชีวิตของคนเราให้แข็งแกร่ง  ดังที่ ดร.ทักษิณ  เป็นทุกวันนี้

Share on facebook
Share on twitter