Good Monday EP.4 | สุขภาพของคน คือสุขภาพของชาติ - Thaksin Official


Highlight

     ระยะหลังมานี้ ผมให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพอย่างมากครับ หนึ่งในแนวทางการดูแลสุขภาพของผม คือศึกษาไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างพันธุกรรมของคนเรากับเรื่องโภชนาการ เพื่อให้สามารถดีไซน์มื้ออาหารหรือตัวยาที่เหมาะสมจากรหัสพันธุกรรมพื้นฐานในแต่ละบุคคลได้

     เพราะผมเชื่อว่า You are what you eat ถ้าเราเริ่มดูแลตัวเองจากการป้องกัน ย่อมดีกว่าการเสียเงินเพื่อการรักษา ซึ่ง Good Monday รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกกับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร “EP.4 สุขภาพของคน คือสุขภาพของชาติ” ผมได้มาแชร์แนวทางของประเทศต่างๆ ในการรณรงค์ให้ประชาชนของเค้ามีสุขภาพที่ดีกันครับ นอกจากนั้นผมจะมาเล่าเรื่อง Juxtaposition Marketing คำนี้จริงๆ แล้วไม่ใหม่เพราะแนวคิดนี้วงการนักการตลาด และนักโฆษณาทั่วโลกใช้กันมานานแล้ว พร้อมแนะนำหนังสือดีๆที่น่าอ่านครับ

Transcript

   สวัสดีครับ พี่น้องที่เคารพรักครับ วันจันทร์นี้พบกันอีกครั้งเป็นครั้งที่ 4 หรือ Episode 4

     วันนี้ อยากเริ่มเรื่องเบาๆ เพื่อไม่ให้เกิดเพิ่มน้ำหนัก ก็คือ เรื่องอาหาร ผมได้อ่านนิตยสาร Monocle เป็นนิตยสารเกี่ยวกับไลฟสไตล์ของคนทั่วโลก ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังหน่อย ก็เรื่องการกินนี่แหละครับ

     เค้าบอกว่าที่อังกฤษ ตามสถิติมีประมาณ 1 ใน 3 คน น้ำหนักจะเกินกว่าค่าเฉลี่ย น้ำหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น และในนั้นก็จะมีพวกโรคอ้วน หรือ Obesity ผสมอยู่ด้วย แต่ว่าใน 3 คน เนี่ย จะมี 1 คนที่น้ำหนักเกินกว่าพิกัดที่ควรจะเป็นสำหรับเขา และบางคนในนั้นก็จะเป็นโรคอ้วน แต่ในนอรเวย์เนี่ยเป็นพวกแองโกล-แซกซัน เหมือนกันเนี่ย ทุกๆ 6 คน มี 1 คน ดีกว่ากันเท่าตัวเลย ทำไมล่ะครับมันถึงต่างกันขนาดนี้  ก็พบว่าที่นอรเวย์เค้าเริ่มเก็บภาษีสินค้าเกี่ยวกับน้ำตาล ภาษีน้ำตาลโดยตรง ภาษีช็อกโกแลต เพราะว่าน้ำตาลเป็นสาเหตุแห่งโรคอ้วน แห่งความอ่อนแอของสุขภาพทั้งหลาย ตั้งแต่ปี คศ.1922 เนี่ย เค้าเริ่มเก็บภาษีน้ำตาล จนถึงปัจจุบันขึ้นไปถึง 83% สมมติของนำเข้าราคา 100 เก็บภาษี 83% ก็เป็น 183 นี่คือต้นทุนของการนำเข้าของคนที่เอาของมาขาย แล้วบางครั้งเนี่ยเค้าเล่ากันว่า      คนนอรเวย์เวลาไปสวีเดนมักจะซื้อช็อกโกแลตกลับบ้าน เพราะช็อกโกแลตที่สวีเดนถูกกว่า เพราะไม่มีภาษี แต่คนสวีเดนก็อ้วนกว่าคนนอรเวย์

     ที่น่าสนใจอีกอันนึงก็คือ ประเทศกาตาร์ กาตาร์เป็นประเทศเล็กๆ อยู่ในตะวันออกกลาง เป็นประเทศที่มี Per capita income คือมีรายได้ ต่อหัว ต่อคน สูงที่สุดในโลก คือ 112,000 ยูโร ต่อปี ก็ตกต่อคนประมาณ 4 ล้านกว่า คนนึงมีรายได้เฉลี่ย 4 ล้านกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคน 4 ล้านกว่า เพราะว่าเป็นเศรษฐีเสียเยอะ รวยมาก ประเทศไหนรวย เค้าก็ส่งอาหารดีๆ แพงๆ ส่งไปขาย พอส่งไปขายก็กินกันเพลิน ความรวย ความอ้วนมันตามกันมาเลยครับ พบว่าคนที่กาตาร์เนี่ย กินอาหาร junk food หรืออาหารที่ไม่มีคุณภาพเนี่ย ประมาณอาทิตย์ละ 3 ครั้ง/คน แล้วคนกาตาร์เนี่ย 70% มากกว่าที่อังกฤษเยอะเลย  70% ของคนกาตาร์เนี่ยจะมีน้ำหนักที่มากกว่าควรจะเป็น แล้วใน 70% เป็นโรคอ้วน หรือโรค Obesity จำนวนมาก แล้ว 17% ของคนกาตาร์เป็นโรคเบาหวาน 17% นี่เยอะมากนะครับ เพราะฉะนั้นเนี่ยเค้าถึงเริ่มแคมเปญ เริ่มโฆษณาเพื่อสร้างขวัญกำลังใจว่า กินน้อยลง และออกกำลังกายมากขึ้นหน่อย คือ eat less move more อันนี้เป็น slogan ที่เค้าใช้โฆษณาของประเทศกาตาร์ตอนนี้ คนกาตาร์อ้วนจริงๆ เยอะมากนะครับ

     ทีนี่มาดูตัวอย่างประเทศที่เค้าถือว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญ เค้าถือว่า we are what we eat  คือเราจะเป็นยังไงมันอยู่ที่เรากินเข้าไป เพราะร่างกายเราเกิดมาเนี่ย เรากินอะไรเราก็จะได้ยังงั้น เรากินของอ้วนเราก็ต้องอ้วน กินของไม่อ้วนเราก็ไม่อ้วน เรากินของเพื่อสุขภาพดีที่เราก็จะดี ญี่ปุ่นถือเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใส่เข้าไปในหลักสูตรตั้งแต่โรงเรียนเด็กๆ เลยนะครับว่า อาหารการกิน เรื่องโภชนาการ กินอย่างไรถึงจะดี ถึงจะถูกต้อง แม้กระทั่งว่าเวลาลูกไปโรงเรียน อาหารกลางวันที่โรงเรียนจะเลี้ยงอะไร เค้าจะมีในเมนูส่งเมนูไปให้ผู้ปกครองดูเลย ผู้ปกครองจะได้ดูว่า เมนูนี้ โรงเรียนนี้ให้อาหารเด็กที่ถูกตามสุขลักษณะหรือเปล่าอะไรทำนองนี้

     ส่วนสิงคโปร์นี่ เริ่มใช้ระบบว่า อยากให้คนออกกำลังเยอะๆ เอาข้อมือแบบ fitbit เนี่ย ใครจะเข้าโปรแกรมนี่ ก็ไปเอา fitbit ของรัฐบาล รัฐบาลให้เลยนะครับ ถ้าวันไหนเดินครบหมื่นก้าว เอาไป 50 ดอลล่าร์สิงคโปร์ หมื่นก้าวนี่เดินประมาณ 8 กิโล ก็บางทีผมไปเดินอยู่ชั่วโมงสิบนาที เดินได้ 7 กิโลกว่า ไม่ถึงหมื่นก้าวดี อ๋อเลยคำนวณได้ว่าหมื่นก้าวนี่ประมาณสัก 8 กิโล เดินจริงๆ ก็ประมาณสัก 1 ชม. 40 นาทีได้นะครับ ถ้าเราเดินขนาดวันละ 2  ชม. มันก็จะทำให้เราได้หมื่นก้าว หมื่นก้าวนี่เค้าคิดว่าเป็นการเดินที่ทำให้การย่อยสลายของอาหารที่เรากินเข้าไปดี และร่างกายก็แข็งแรง

     ประเทศเราเป็นประเทศที่มีโครงการ 30 บาท โครงการ 30 บาททุกวันนี้ก็เพิ่มค่าหัวไปเรื่อยๆ ถ้าขืนปล่อยแบบนี้ เราก็ไม่ไหว เพราะจริงๆ แล้ว ตอนที่สร้างโครงการ 30 บาทขึ้นมา เราต้องคิดครบวงจร ครบวงจรก็คือ เราต้องถือว่า ที่ภาษาอังกฤษว่า Prevention is better than cure ก็คือการป้องกันดีกว่าการรักษา นั่นก็คือการต้องรณรงค์เพื่อให้คนมีสุขภาพดี ไม่ว่าเรื่องของอาหาร เรื่องของอารมณ์ เรื่องของการออกกำลังกาย เพราะฉะนั้น มันจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษามันลดลง ถ้าปล่อยให้เป็นการรักษาข้างเดียวแล้วประชากรเพิ่มขึ้น อัตราต่อหัวเพิ่มขึ้น งบประมาณเราจะรับไม่ไหว เพราะฉะนั้นต้องเน้นเริ่มต้นที่เรื่องของอาหารเลย We are what we eat นี่แหละ เราจะเป็นยังไงก็อยู่ที่เรากินอะไรเข้าไปนี่แหละ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องดูสุขภาพ เพราะผมมองว่า ประเทศเรานี่ ถ้าเปรียบเหมือนร่างกายมนุษย์ 1 คน มนุษย์ทุกคนในประเทศก็เปรียบเสมือนเซลล์ทุกเซลล์ที่อยู่ในตัวเรา ถ้าเราทำให้เซลล์ทุกเซลล์แข็งแรง เซลล์ทุกเซลล์ทำงานได้ดี ประเทศเราก็จะมีผลผลิตที่ดี เพราะฉะนั้นไอ้ 3 อ ที่เค้าพูดถึงกัน ก็คือ อาหาร อารมณ์ และการออกกำลัง จึงเป็นสิ่งที่จะต้องซีเรียสจริงจังกัน ต้องรณรงค์ ต้องมีโปรแกรมกัน แล้วเราจะไปลดที่ 30 บาท  ลด 30 บาท นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่เรื่องใหญ่ที่สุดคือ ทำให้คนในประเทศมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี แล้วเราจะได้มีกำลังความสามารถที่จะสร้างผลผลิตที่ดีให้กับครอบครัว ให้กับประเทศ นั่นคือสิ่งที่เราคงจะต้องจริงจังกับมัน

     เรื่องที่ 2 พอเวลาพูดเรื่องแคมเปญ ผมเลยอยากจะมาพูดเรื่องภาษาใหม่คำหนึ่งที่ผมไม่เคยได้ยิน แต่มันมีมาแล้ว แต่ว่าผมไม่เคยได้ยิน เค้าใช้     คำว่า juxtaposition ที่สะกดว่า juxtaposition มันแปลว่าอะไร แปลว่า เอาภาพมาวางสลับกัน เอามาเคียงกัน ตรงนี้เนี่ยทางโฆษณาเค้ามาพูดถึงเรื่องว่า เมื่อก่อนนี้โฆษณาเอะอะเราจ้างดารามาเป็นนางแบบโฆษณา แต่ตอนหลังมาเค้าบอกว่า เอาของจริงดีกว่า เอาของจริงมา เพราะฉะนั้นอย่างเช่นโฆษณาเรื่อง อย่างที่ผมไปประชุมกับบริษัทที่ผมทำมาหากินด้วยนี่แหละ ที่เอาดีเอ็นเอมาเป็นตัวเลือกอาหาร ให้ดีเอ็นเอเป็นตัวเลือกอาหารให้เหมาะสมกับดีเอ็นเอร่างกายเรา เพราะอย่างร่างกายบางคนมีความสามารถในการย่อยสลายไขมันดี ก็ไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่ อย่างผมนี่ ย่อยสลายไขมันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็เลยต้องมีพุง แล้วก็ย่อยสลายคาเฟอีนไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นบ่ายไปแล้วนี่ กินกาแฟก็จะไม่ค่อยดี นอนไม่หลับ ที่นี้เขามาอธิบายผมฟังว่า เขาไปเอาคนอ้วนมา แล้วก็เอาคนผอมมา มาถ่ายรูปแล้วก็เอารูปมาวางเคียงกัน แล้วให้เขียนว่ามั่นใจ หรือ confident  เพราะว่า My DNA is my choice ก็คือว่า DNA สามารถเลือกอาหารให้ฉันได้ เพราะว่าต่อไปนี้ ฉันมั่นใจและ ถึงแม้ฉันอ้วน ฉันก็จะไม่อ้วน และถึงแม้ฉันผอมลีบแห้งๆ แบบนี้ฉันก็จะไม่ผอมแล้ว เพราะฉันกินอาหารตาม DNA นั่นคือการใช้ว่า Just a Position ก็คือ เอาความที่เอาของจริงมาเทียบเคียงกัน มันก็จะเห็นว่าอ๋อ อันนี้มันเป็นสิ่งที่เห็นชัดเลย ไม่ต้องใช้ดารา เพราะใช้ดาราเนี่ย มันยังเป็นเรื่องที่อาจจะดูไม่จริงจัง อะไรอย่างนี้นะครับ แต่อันนี้ไม่ได้หมายความว่า บางอาชีพบางโฆษณาดาราอาจจะต้องใช้ดารา แต่ว่าโฆษณาในสิ่งที่ต้องการจะให้เห็นจริงเห็นจังเนี่ย ต้องใช้ความจริง ก็เหมือนผมมานั่งคิดถึงตอนเมื่อก่อนเนี่ย ตอนผมเป็นนายก อาจารย์พันธ์ศักดิ์ ที่ปรึกษาผมเนี่ย มาบอกผมว่า เราต้องใช้นางแบบชาวอีสานมาเดินแฟชั่นของไทย แล้วต้องเป็นนางแบบที่ธรรมชาติจริงๆ นะไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องไปใส่จมงจมูกอะไรทั้งสิ้น ผมก็ฟัง ไม่ค่อยเข้าใจ แต่วันนี้ผมเข้าใจแล้วนะครับ ผมเข้าใจแล้ว ผมไปเห็นนางแบบเมืองนอก มาเดินแบบ บางคนก็เป็นนางแบบที่มีคนจ้างมาก ทั้งๆ ที่เป็นคนไม่สวยเลย เพราะฉะนั้นเนี่ยความสวยไม่สวยมันอยู่ที่เราจะจัดให้มันเหมาะสมอย่างไร เพราะฉะนั้น คนไม่สวยเนี่ยไม่มีแฟนหรอกนะครับ และคนสวยก็ต้องมีแฟนทุกคน วันนี้คนไม่สวยก็มีแฟนได้ คนสวยบางทีก็ไม่มีแฟน  เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ ความพอเหมาะพอเจาะพอดี ผมเลยเล่าให้ฟังว่า โฆษณาตอนนี้ โลกโฆษณามันเปลี่ยนไปเยอะเลย มันเปลี่ยนแม้กระทั่งว่า ผมทำ Survey ล่าสุดเนี่ยประเทศไทยนี่นะฮะ และหลายประเทศก็จะคล้ายกันว่า คนอายุต่ำกว่า 55 เนี่ย มักจะรับรู้เรื่องราวข่าวสารหรือการโฆษณาจาก Social Media คนอายุ 55 ขึ้นไป มักจะรู้จากทีวี พวกคนที่ชอบดูทีวียังเป็นคนที่อายุเกิน 55 อายุต่ำกว่า 55 เนี่ยน้อยคนที่จะดูทีวี มักจะดูทางด้านออนไลน์ ดูจากมือถือบ้าง ดูจากอินเตอร์เน็ตบ้าง ก็เพราะฉะนั้นวันนี้บริษัทโฆษณาใหญ่ๆ เจ๊งแล้วนะครับ บริษัทโฆษณาใหญ่ๆ ไปไม่ได้ปรับตัวไม่ทัน บริษัทอย่าง Facebook ปรากฎว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าโฆษณานะครับ เป็นคนที่กินค่าโฆษณาสูงที่สุด เพราะฉะนั้น โลกมันมีการเปลี่ยนวงการโฆษณา วงการการรับรู้ข่าวสารเปลี่ยนหมด เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายที่จะโฆษณาก็ดี หรือเป็นผู้ที่หากินในวงการนี้ก็ดี ต้องปรับตัวอย่างแรงนะครับ

     มันมีอีกเรื่องที่อยากจะพูดแต่ไม่รู้ว่าวันนี้จะทันหรือเปล่า เพราะว่า 15 นาทีกลัวจะยาวไป เอาไว้เป็นคราวหน้าผมจะมาพูดเรื่อง การทำมาหากินที่ต้องใช้เทคโนโลยีและมันเปลี่ยนไปแล้วตอนนี้ โลกมันเปลี่ยนไป เราจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็ก่อนจบก็จะแนะนำหนังสือ และคราวหน้าจะเอาไปพูดกัน

     มันมีหนังสืออยู่เล่มนึงครับที่ผมไปอ่านหนังสือ แล้วเขาแนะนำอยู่ในหนังสือที่อ่าน หนังสือนี้ชื่อว่า Race Against the Machine แปลว่าการแข่งขันกับเครื่องจักรกล เขียนโดยอาจารย์จาก MIT หรือ Massachusetts Institute of Technology มหาวิทยาลัยที่มีชื่อมากในโลกแห่งหนึ่งนะครับ ก็ สอง professor ชื่อ Erik Brynjolfsson กับ Andrew McAfee นะครับ

     สองคนนี้เขียนหนังสือ หนังสือไม่ใหญ่ครับ เค้าเขียนเรื่องนี้คือเขาสรุปว่า จำไว้นะ ให้จำว่า คำว่า Great restructuring ก็คือว่าต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ ปรับโครงสร้างหรือปฏิรูปครั้งใหญ่ นั่นก็คือว่า โลกเทคโนโลยีมันนำหน้าความชำนาญของมนุษย์ และนำหน้าองค์กรทั้งหลาย เพราะฉะนั้นในเมื่อความชำนาญและองค์กรมันล้าหลังเนี่ย ถ้าเราไม่ปรับปรุงทำตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีเนี่ยเราพัง หนังสือเล่มนี้เขียนหลังจากที่มี financial crisis หรือมีปัญหาทางเศรษฐกิจของอเมริกาเมื่อปี 2008 หนังสือเล่มนี้เขียนปี 2011 เขาบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องของการถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือไม่ใช่เรื่องของการเงิน เรื่องอะไรอย่างเดียว แต่ปัญหามันจริงๆ แล้ว มันเกิดจากการที่เทคโนโลยีมันแซงหน้า ความสามารถ ความชำนาญของมนุษย์ และก็ความสามารถขององค์กรในการปรับตัวต่างหาก ก็เป็นหนังสือที่ดูแล้วน่าจะไปอ่านเพื่อเราจะได้ปรับตัวว่าเราจะอยู่กับเทคโนโลยีอย่างไรนะครับ

     วันนี้เอาแค่นี้ แล้วคราวหน้าเดี๋ยวผมจะเอาเทคโนโลยีที่ไปประชุมไปพบกับเด็กหนุ่มๆ คนจีนที่มาพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีที่เขาทำยังไงเนี่ย น่าสนใจมากครับ เดี๋ยวคราวหน้าเราพบกันอีกครั้งนะครับ วันนี้เอาแค่นี้ครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ