“การที่ผมได้เกิดและเติบโตในชนบทมากว่า10ปีแม้จะไม่ใช่ลูกชาวนายากไร้อดอยากแต่พ่อแม่เลี้ยงมาอย่างติดดินก็ทำให้ผมสำนึกเข้าถึงชีวิตชาวบ้านมากทีเดียว”
(จากหนังสือ ตาดูดาวเท้าติดดิน)
ห้องแถวเรือนไม้สองชั้นสองคูหาตั้งอยู่หน้าตลาดสันกำแพงซึ่งเป็นชุมชนเล็กๆในเมืองชนบทอันเงียบสงบใครที่เดินผ่านไปมาจะได้กลิ่นกาแฟหอมกรุ่นลอยมาจากชั้นล่างที่ถูกเปิดเป็นร้านขายกาแฟ เลิศ ชินวัตร ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวและยินดี ผู้เป็นภรรยาได้เริ่มต้นก่อร่างสร้างธุรกิจเล็กๆที่เรือนห้องแถวแห่งนี้ภารกิจสำคัญของทั้งสองคนคืออบรมเลี้ยงดูบุตรสาวและบุตรชายให้เติบโตเป็นคนดีมีการศึกษาสูงที่สุดและส่งเสริมให้มีอนาคตหน้าที่การงานดีที่สุดเท่าที่ผู้เป็นพ่อและแม่จะสามารถทำทุกอย่างให้แก่ลูกได้
ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าในบรรดาลูกๆทั้ง10คนจะมีถึง2คนที่สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของประเทศนั่นคือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นนายกรัฐมนตรี…ที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นนายกรัฐมนตรี…ที่มาจากคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของคนไทยทั้งประเทศที่น่าภูมิใจกว่านั้น…ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนมีนายกฯคนอื่นๆทั้งเก่าไปและใหม่มาแต่นายกฯที่คนไทยไม่เคยลืมและนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เสมอก็คือ “นายกฯทักษิณ ชินวัตร”ทำไมชื่อ “ทักษิณ” ถึงยังคงอยู่ในหัวใจคนไทยเสมอ?
ร้านกาแฟ ปฐมบทแห่งการเรียนรู้ชีวิตชาวบ้าน
เด็กชายทักษิณเกิดเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2492 ที่สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านหลังแรกในความทรงจำคือร้านกาแฟแห่งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หน้าที่แรกในชีวิตก็คือช่วยพ่อโม่กาแฟ ช่วยขายโอเลี้ยง ช่วยหยิบของจิปาถะเท่าที่พ่อจะเรียกใช้ให้ทำ นอกจากงานหลักช่วยร้านกาแฟของพ่อแล้ว ก็ยังมีงานรองช่วยเฝ้าแผงและช่วยขายผ้าให้แม่ ขณะรอแม่ติดเตาช่วยพ่อเปิดร้านกาแฟให้เสร็จก่อน การเป็นเด็กที่อยู่ท่ามกลางชุมชนถือเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คน การได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง ทุกเรื่องราวต่างๆ จึงถูกซึมซับไว้โดยไม่รู้ตัว
สวนส้มเขียวหวาน ก้าวสำคัญของการเรียนรู้วิถีเกษตรกร
หลังจากธุรกิจร้านกาแฟเจริญรุ่งเรืองจนอยู่ตัวแล้ว เลิศ ชินวัตร ผู้ไม่เคยหยุดนิ่งและชอบแสวงหาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ก็หันไปบุกเบิกทำสวนส้มเขียวหวาน หรือที่คนเชียงใหม่เรียกว่าส้มเกลี้ยง พร้อมทั้งหาพันธุ์ไม้ดอกเมืองหนาวต่างๆ เช่น เยอร์บีร่า แวนด้า ฯลฯ ทั้งหมดนี้ไม่เคยมีใครปลูกมาก่อนเลยที่สันกำแพง นับเป็นการบุกเบิกการทำเกษตรด้วยแนวคิดแปลกใหม่เป็นครั้งแรก ถือเป็นความท้าทายทางธุรกิจอย่างมาก สิ่งใหม่ๆ ที่น่าสนใจก็คือครอบครัวชินวัตรได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเกษตร มีการคิดวิธีทดน้ำจากป่าผ่านคันนาเพื่อให้เส้นทางน้ำผ่านเข้ามาในสวนส้ม ที่ฮือฮาเป็นพิเศษก็คือมีการสั่งรถแทรกเตอร์มาใช้ในการทำสวนเป็นครั้งแรกในสันกำแพง ขณะที่ชาวบ้านทั่วไปยังต้องอาศัยแรงงานดั้งเดิม เช่น วัว ควาย
เมื่อครอบครัวเข้าสู่อาชีพการเกษตรเด็กชายทักษิณจึงมีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกรเพิ่มขึ้นหน้าที่ใหม่ของเด็กน้อยก็คือช่วยแม่ตัดส้มแล้วแพ็กลงเข่ง ทำซ้ำๆ จนถึงขั้นเป็นผู้ชำนาญการ และหากอยากขายดอกกล้วยไม้ เขาก็ต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อไปตัดดอกไม้ ตัดแล้วนำไปปักในก้านกล้วยเพื่อให้ดอกกล้วยไม้ยังคงสดใหม่ หลังจากนั้นนำไปใส่ตระกร้าคล้องแขนเพื่อนำไปขาย และแขนที่คล้องดอกไม้อยู่เสมอก็คือแขนของเด็กชายทักษิณนั่นเอง
ชีวิตติดดินที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติแม้จะเป็นช่วงวัยเยาว์แต่การได้มีส่วนช่วยงานในไร่ถือเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์เรียนรู้ชีวิตเกษตรกรได้อย่างแท้จริง เป็นการเรียนรู้ความเหนื่อยยาก ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ จากประสบการณ์ตรงของชีวิตตัวเอง
เก็บตั๋วโรงหนัง จ่ายคิวตั๋วรถเมล์ เมื่อชีวิตเข้าถึงก้นบึ้งหัวใจชาวบ้าน
เลิศ ชินวัตร น่าจะได้ชื่อว่านักบุกเบิกธุรกิจแห่งสันกำแพง เพราะหลังจากสร้างตำนานปลูกส้มเขียวหวานและไม้ดอกเมืองหนาวเป็นเจ้าแรกจนประสบความสำเร็จแล้ว เขาได้ผันตัวเองไปทำหน้าที่ “กัมประโด”หรือ หัวหน้าแผนกสินเชื่อธนาคาร ทำให้มีโอกาสพบกับลูกค้าสินเชื่อคนหนึ่งที่ได้ชวนให้ร่วมหุ้นทำโรงหนัง “ศรีวิศาล” แม้จะไม่เคยทำธุรกิจบันเทิงเช่นนี้มาก่อน แต่ด้วยแนวคิดของเขาที่ชอบริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ กล้าคิด กล้าลอง โรงหนังศรีวิศาลจึงเกิดขึ้นโดยเลือกฉายหนังไทยและหนังฝรั่งสวนกระแสขณะที่โรงหนังอื่นๆ ฉายหนังแขกและหนังจีน ผลปรากฏว่าถูกใจชาวบ้านเป็นอย่างมาก ธุรกิจโรงหนังเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาขยายฐานไปสู่ธุรกิจเดินรถ โดยได้ซื้อกิจการ“รถเมล์เหลือง”ตามมาด้วยรับเป็นเอเย่นต์จำหน่ายรถสามล้อเครื่อง มอเตอร์ไซค์ จักรเย็บผ้า ปั๊มน้ำมัน รวมทั้งเปิดโรงหนังแห่งที่สอง
ทักษิณในเวลานั้นเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น แม้อายุเพียง 14-15 ปี แต่เป็นหนุ่มน้อยที่ต้องรับผิดชอบงานหลากหลายในธุรกิจเทียบเท่าผู้ใหญ่คนหนึ่ง และที่สำคัญนี่คือช่วงเวลาที่ทำให้เขาใกล้ชิด ได้เห็นสารทุกข์สุกดิบชีวิตชาวบ้านมากที่สุด หลังเลิกเรียนหน้าที่ของเด็กหนุ่มก็คือเช็กยอดตั๋วที่โรงหนังศรีวิศาล บางวันต้องไปช่วยขายอะไหล่มอเตอร์ไซค์และจักรเย็บผ้า ยังไม่จบแค่นั้น เขายังต้องตามไปเก็บเงินผ่อนตามบ้านต่างๆ ซึ่งแต่ละหลังมักจะอยู่ห่างกันแถมยังอยู่ในซอยลึก บางครั้งมอเตอร์ไซค์ยังเข้าไปไม่ถึงต้องจอดแล้วเดินเลาะคันนาเข้าไป ยิ่งหลังจากพ่อซื้อกิจการรถเมล์ หน้าที่ความรับผิดชอบก็ขยายเป็นเงาตามตัว ทั้งช่วยนับเงินเมื่อกระเป๋ารถมล์ลงเวร ขับรถเมล์ก็เคยทำมาแล้ว จนกระทั่งอายุ 17 ปี ก็ต้องหยุดทำทุกอย่างทั้งหมด เนื่องจากต้องย้ายมาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ
นับเป็นช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ใช้ชีวิตติดดิน ทำให้เขาเข้าใจ ใกล้ชิดและเข้าถึงหัวใจชาวบ้านผู้เป็นรากฐานของประเทศชาติอย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อวันหนึ่งได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร จะสามารถคิดนโยบายและโครงการต่างๆ มากมายที่ตรงกับหัวใจชาวบ้านมากที่สุด
เป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาตรงจุดที่ประชาชนต้องการ
เป็นนโยบายที่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านๆ มา ที่คิดแบบ Top – Down หรือจากบนลงล่าง คือนโยบายไหนรัฐคิดว่าดี ก็สั่งการลงไปให้ทำ แต่นโยบายของ ดร.ทักษิณคือ Bottom – up หรือ จากล่างขึ้นบน คือรับฟังความต้องการของประชาชนแล้วย้อนกลับขึ้นไปคิดเป็นนโยบายเพื่อประชาชน
แม้ใครจะเรียกขานว่านโยบาย “ประชานิยม” ก็คงไม่เป็นไร แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว นี่คือนโยบายที่ “เห็นหัว(ใจ)ประชาชน” มากที่สุดและนั่นคือเหตุผลเพียงพอแล้วว่า..ทำไมคนไทยไม่เคยลืมนายกฯที่ชื่อ “ทักษิณ”